xs
xsm
sm
md
lg

“ลุงเอี๊อกจุงเสี้ยน” กับ “ยุทธการฝ่านกงต้าลู่” และการประคองลมหายใจคืนมาตุภูมิซบหน้า “ฮวงซุ้ยแม่” ที่เมืองคอน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จากนาบอนถึงริมฝั่งเจ้าพระยา  /  โดย... ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที ผู้ดำเนินรายการสภากาแฟช่อง NEWS 1
 


 
ตั้งใจเขียนเรื่องนี้ให้ท่านผู้อ่านที่อยู่กับบ้าน “หยุดเชื้อช่วยชาติ” ให้ได้อ่านเพื่อก่อเกิดเป็นกำลังใจกัน!
. 
ความเดิมตอนที่แล้ว “เอี๊อกจุงเสี้ยน” กับ “ยุทธการฝ่านกงต้าลู่” จากแม่มาไม่ได้ร่ำลา 50 ปีผ่านได้พบแม่ที่ฮวงซุ้ยนาบอน
.
หรือหาอ่านได้ในหนังสือ “ตำนานคนฮกจิว จากแผ่นดินแม่สู่หนานหยาง” โศกนาฏกรรมแห่งชีวิต..ยุทธการฝ่านกงต้าลู่ สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ (สั่งจองได้ที่ FB >> https://m.me/BaanPhraAthit หรือ Line@ >> https://line.me/R/ti/p/%40baan_athit)
 

“ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” ลูกจีนฮกจิวโพ้นทะเลแห่ง อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช
 
“ยุทธการฝ่านกงต้าลู่” เป็นเป้าหมายทางสงครามยุคสงครามเย็น หลังจากที่จอมพลเจียง ไคเชก แตกทัพ พ่ายแพ้ต่อกองทัพเหมา เจ๋อตุง เมื่อกลางเดือนธันวาคม พ.ศ.2492 ที่เมืองเฉิงตู เป็นการลาจากผืนแผ่นดินใหญ่จีนอย่างไม่มีวันได้กลับไปอีกเลยของจอมพลเจียง ไคเชก
 .
27 มิถุนายน 1950 (พ.ศ.2493) กองเรือที่ 7 ของสหรัฐ เคลื่อนเข้าสู่ช่องแคบไต้หวัน
 .
18 ตุลาคม 1950 (พ.ศ.2493 ) กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน 1,350,000 คน เคลื่อนพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของชนชาติจีน ถาโถมเข้าสู่แม่น้ำย่าลู่เพื่อช่วยเกาหลีเหนือ และสร้างแนวป้องกันมิให้ทหารภายใต้การนำของนายพลแมกอาเธอร์เข้าประชิดชายแดนจีน มีการประเมินกันว่ามีการใช้กำลังพลถึง 3 ล้านคนของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน
.
เมื่อหัวมังกรขยับพันตูอยู่ที่คาบสมุทรเกาหลี 
.
ซึ่งก็แน่นอนว่ากองทัพก๊กมินตั๋งก็จัดตั้งภายใต้การหนุนช่วยของสหรัฐอเมริกาเช่นกัน เปิดแนวรบด้านจีนตอนใต้ มุ่งหวังเป็นเพียงยุทธการแนวรบขนาดเล็กก่อกวนพยุงหางมังกรบริเวณจีนตอนใต้เอาไว้เท่านั้นเอง
.
22 เมษายน 1951 (พ.ศ.2494) กองกำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์ของก๊กมินตั๋ง ฐานที่มั่นเมืองสาดชายแดนพม่า เปิดแนวรบบริเวณด้านมณฑลยูนาน ปรากฏว่าในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน นายพลหลี่เฉิงฟัง ผู้บัญชาการกองพลที่ 14 ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน และกองกำลังอาสาสมัครจากเมืองต่างแผ่นดินใหญ่ ตีตอบโต้กองกำลังของก๊กมินตั๋งแตกถอยร่นมาอยู่ตามชายแดนไทยและพม่า
.

ภาพแม่ของ ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน หน้าฮวงซุ้ยที่สุสานจีนโพ้นทะเลใน อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช
 
พลพรรคของกองทัพเจียง ไคเชก จึงต้องเร่งรวบรวมอาศัย “ลูกจีนโพ้นทะเล” ที่เกิดบน “แหลมมาลายู” เข้าไปหนุนช่วย 
.
ประจวบกับรัฐบาลไทยเองก็อยู่ในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งสิทธิโอกาสของลูกจีนที่เกิดในไทยก็มีอยู่อย่างจำกัดในความเป็นพลเมืองและการศึกษา ทำให้พวกเขามีทางเลือกไม่มากนักในชีวิต “ลูกจีนโพ้นทะเล” จึงต้องเข้าสู่การชักนำยุทธการฝ่านกงต้าลู่ โดยหวังว่าจะได้รับการศึกษาที่ดี ได้มีโอกาสเรียนหนังสือจีนในระดับที่สูงในกรุงไทเป
 
ปี 1953 (พ.ศ.2496) “ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” ออกจากสถานีรถไฟนาบอน อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช เข้าสู่ฐานที่มั่นของก๊กมินตั๋งบริเวณชายแดนพม่า ภาคเหนือของประเทศไทย มิได้บอกกล่าวกับแม่เลยว่าจะไปเรียนหนังสือ!
 .
เดือนมิถุนายน 1956 (พ.ศ.2499) “ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” ถูกมอบหมายจากผู้นำของก๊กมินตั๋งในประเทศไทย ให้เดินทางเข้าไปปฏิงานทางการข่าวในจีนแผ่นใหญ่
 .
แต่แล้วช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีนปี 1957 (พ.ศ.2500) เกิด “เสียลับ” ทางกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์เหมา เจ๋อตุง สามารถจับกุมตัว “ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” ได้บริเวณชายแดนจีนตอนใต้ มีนำตัวลุงเข้าไปค่ายกักกันของนักโทษสงครามในพื้นที่มณฑลฮกเกี้ยน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเกาะ Quemoy
 

นายพลแมกอาเธอร์
 
สิงหาคม 1958 (พ.ศ.2501) เกิดวิกฤติ “สงครามช่องแคบไต้หวัน” เรียกกันว่าสงคราม 823 มีการเปิดฉากการรบในวันที่ 23 สิงหาคม กองเรือที่ 7 ของสหรัฐอเมริกามีการนำเครื่องบินทิ้งระเบิดทิ้งระเบิดอย่างหนาแน่นเป็นห่าฝนบริเวณเกาะ Quemoy
 .
“ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” เล่าให้ผมฟังว่า...
 .
“ตอนที่เป็นนักโทษในค่ายกักกัน ได้ยินเสียงเครื่องบนรบเหมือนฝูงผึ้งทิ้งระเบิดใกล้เข้ามาอยู่ทั้งวันทั้งคืน ซึ่งก็ทราบจากข่าวที่ฟังมาว่าทางกองเรือที่ 7 ของสหรัฐได้ให้การช่วยเหลือไต้หวันขณะนั้น ทิ้งระเบิดลงมาในพื้นที่ใกล้กับค่ายที่เชลยที่มีนักโทษถูกกักกัน ทางรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนของเหมา เจ๋อตุง เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย จึงให้มีการเคลื่อนย้ายเชลยนักโทษโดยด่วน เพื่ออพยพผู้คนเข้าไปด้านในของแผ่นดินให้ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลด้านเกาะคีมอย” 
.
“ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” เล่าให้ฟังอีกว่า มีการเคลื่อนย้ายนักโทษในตอนกลางคืนค่อนข้างเร่งรีบ
.
“จำได้ว่าในค่ำคืนนั้นทหารของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนของเหมา เจ๋อตุง ได้ให้ลุงและนักโทษคนอื่นรีบขึ้นขบวนรถไฟ ซึ่งก็คล้ายๆ ตู้รถไฟขบวนสินค้า มีการแจกถุงพลาสติกให้คนละหนึ่งใบ เป็นที่รู้กันว่าถุงพลาสติกนี้เอาไว้ใส่การถ่ายหนักหรือถ่ายเบาของนักโทษ เพราะขบวนรถไฟที่เดินทางเพื่อเข้าสู่ด้านในของแผ่นดินไม่มีห้องส้วม เรานั่งแออัดกันอยู่ในตู้ขบวนเพื่อเคลื่อนย้ายนักโทษอย่างเร่งรีบ จำเป็นต้องเดินทางในตอนกลางคืน เกรงกันว่าเครื่องบินของกองเรือที่ 7 ของสหรัฐจะมาทิ้งระเบิด และจำได้ถึงสถานีรถไฟเมืองฉางโจว (Zhangzhou) ก็เป็นตอนเช้าตรู่ ก็เดินทางเคลื่อนย้ายเข้าสู่พื้นที่กักกันในชนบท ด้านในแผ่นดินเมืองฉางโจว”
.
จากวันเป็นเดือน จากเดือนก็เป็นปี แล้วจากปีก็เป็นร่วม 5 ทศวรรษผ่านไป
.
จากวัยรุ่นที่ปราดเปรียวก็เข้าสู่วันชรา ปี 2548 “ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” กลับถึงแผ่นดินไทย ไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาไทยได้อีกเลย
.

ภาพหายาก - โปสเตอร์โฆษณาทางการเมืองของพลพรรคก๊กมินตั๋ง เพื่อแสดงแสนยานุภาพและปลุกขวัญกองกำลังของเจียง ไคเชก ถือเป็นการโฆษณาทางการเมืองให้กับชาวจีนโพ้นทะเล
 
ด้วยนโยบายผ่อนคลายตามหลักสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้ผู้สูงวัยที่เคยต้องโทษช่วงสงครามได้กลับสู่ถิ่นฐานที่มีความประสงค์จะกลับบ้าน!
.
ผมเองเกาะติดเรื่องราวชีวิตของ “ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” ในฐานะเพื่อนของพ่อ ซึ่งพ่อของผมเปรยเอาไว้ว่า เพื่อนพ่อจากบ้านไป หายสาบสูญไปในยุคสมัยของฝ่านกงต้าลู่
.
ปี 2548 เมื่อ “ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” กลับถึงแผ่นดินไทยด้วยวัยชราอายุย่างเข้า 70 ปีแล้ว 
.
ผมเองได้ประสานงานกับสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย เพื่อนำข้อมูลเรื่องราวชีวิตของ “ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” มาบอกเล่าให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลงานทางทหารให้ได้รับทราบ
.
เผื่อว่าอย่างน้อยๆ นโยบายฝ่านกงต้าลู่ของสาธารณรัฐจีนจะมีใคร หรือหน่วยงานของไต้หวันได้มีโอกาสเยียวยาในวัยชราภาพให้กับ “ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” ได้บ้าง
.
หลังจากได้พบกันระหว่าง “ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลงานทางทหาร ณ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ในปี 2548
.
เราใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง มีการสื่อสารบอกกับ “ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” และผมว่า...
.
“การเวลาได้ผันผ่านมาเนิ่นนานแล้ว ภารกิจนโยบายฝ่านกงต้าลู่ก็จบภารกิจกันไปหลายทศวรรษแล้ว หลังสงครามเย็น ผู้รับผิดชอบก็ได้สูญสลายไปตามกาลเวลา ต้องขอโทษด้วยนะครับ”
.
เราจากลาสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย กันด้วยชาจีนร้อนๆ หนึ่งถ้วยเท่านั้นเอง!
.
ไม่มีแววตาของความเสียใจในโศกนาฏกรรมของชีวิต มิได้น้อยเนื้อต่ำใจในชะตากรรม มิได้เสียใจในวันเวลาที่ล่วงผ่านไปเลย!
.
เราที่หมายถึงผมกับ “ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” กุมมือเดินกันออกมา ผมรู้ว่าในหัวใจของลุงมิได้พร่องกำลังใจลงไปเลยแม้แต่น้อย
.
แค่มีลมหายใจเราก็โชคดีมากแล้ว โดยสามารถประคองลมหายใจกลับมาไหว้หลุมศพของ “คุณแม่ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” ที่ อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช
.
“หวังเพียงแค่นี้ ชีวิตเอิบอิ่มแล้วอะหมี”
.
อาจจะแปลกแปร่งไปสำหรับสำเนียงฮกจิวที่ “ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” เรียกชื่อผม ลุงมีความสุขที่ยังมีลมหายใจประคองฝ่ากาลเวลามาได้ มิได้ท้อถอยเลยในเขตงานชนบทของจีนเมื่อครั้งเป็นนักโทษสงคราม หวังอย่างเดียวว่าจะประคองลมหายใจเพื่อมาทิ้งร่างใกล้ๆ “หลุมศพแม่” ในแผ่นดินไทยให้ได้
.
และสุดท้ายความเพียรพยายาม ความรักและผูกพันคิดถึงแม่ สำนึกที่เมื่อครั้งจากไปไปไม่ได้ร่ำลาบอกกล่าวกับแม่เลยในปี 1953 (พ.ศ.2496) เหล่านี้เป็นกำลังศรัทธาให้ชีวิตของ “ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” ทำภารกิจลุล่วงจริงๆ ในชั่วชีวิตของคนๆ หนึ่ง
.
แล้ว “ลุงเอี๊ยกจุงเสี้ยน” ก็ได้จากไปอย่างเงียบสงบในค่ำคืนของวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2562 ณ กงซี้ในสวนยางบ้านลำนาว อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช
  


กำลังโหลดความคิดเห็น