24 มีนาคม 2563
นายกฯ แถลง ครม.ได้ไฟเขียวให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่มีรายละเอียดมาตรการต่างๆ
25 มีนาคม 2563
นายกฯ แถลงอีกครั้ง ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว แต่ก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ เป็นรูปธรรม ยังดีที่ รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ชี้แจงเพิ่มมาตรการที่พอมองเห็นภาพ
26 มีนาคม 2563
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เริ่มบังคับใช้ ต้องจับตากันต่อถึงผลกระทบ ยังคงความสับสนให้เกิดขึ้น โดยยังคงร่ำลือว่ามีการแย่งซีนการเมือง มี E-แอบ และ I-แอบ หาผลประโยชน์ จากหน้ากากอนามัยที่ขาดตลาด
ส่วนที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเสียงร่ำลือว่าคือ “พื้นที่แดงเถือก” “จุดเสี่ยงสุดๆ” แพร่ระบาด “โควิด-19”
“ผู้ว่าฯ ยะลา” สั่ง “ปิด จ.ยะลา” ไปแล้ว “ผู้ว่าฯ นราธิวาส” สั่งปิดจังหวัดตามแล้ว จับตา “จ.ปัตตานี” จะตามมาด้วยหรือไม่?
ณ 26 มีนาคม 2563 พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ มีผู้ป่วยโควิด-19 สะสม 77 ราย แบ่งเป็น
จ.ปัตตานี 26 ราย
จ.ยะลา 26 ราย
จ.สงขลา 19 ราย
จ.นราธิวาส 6 ราย
จ.สตูล ยังไม่มีผู้ป่วย
นี่ยังไม่รวม “กลุ่มเสี่ยง” ที่เร่ง “ติดตามตัว” ที่มีอยู่มากมาย “กว่า 2 แสนราย”?! แค่ส่วนน้อยที่ติดมาจาก “สนามมวย” กทม. แต่เกือบทั้งหมดมาจาก “3 กลุ่มคนไทย” เพิ่งกลับจาก “มาเลเซีย-อินโดนีเซีย” ที่ทุกฝ่ายกำลังเร่งติดตามใกล้ชิด
1) กลุ่มผู้นำศาสนาที่ไปร่วมพิธีดาวะห์
2) กลุ่มเครือข่ายต้มยำกุ้ง กว่า 6 พันร้าน
3) กลุ่มแรงงานที่ส่วนมากอยู่นอกระบบ
ว่ากันว่ากลับเข้าไทยมาแล้วนับแสนคน ก่อนจะกระจายไปในทุกหมู่บ้านทั่ว 5 จังหวัดชายแดนใต้ มีรายงานว่ายังติดตามตัวได้ไม่ถึงครึ่ง และกำลังทยอยกลับเพิ่มอีกเรื่อยๆ
จากนี้ต้องจับตาใกล้ชิด ว่า หน่วยงานอย่าง “ศอ.บต.” กับ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” รวมถึง “ผู้ว่าฯ” ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนใต้ จะร่วมมือใต้ปีกโอบ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างไร เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและทันการณ์ เพื่อที่จะหยุดมัจจุราชเงียบ “โควิด-19” แบบที่ประกาศแก้ไฟใต้ไว้ว่า “เอาอยู่”