xs
xsm
sm
md
lg

5 จังหวัดชายแดนใต้ “จุดเสี่ยงสุดๆ” แพร่ระบาดโควิด-19 ลุ้นฝีมือ “ศอ.บต.” ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
โดย... ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
 


 
การแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 มีการยืนยันเพียงว่า ครม.ได้ไฟเขียวให้มีการประกาศใช้ “พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ในวันที่ 26 มี.ค.2563 แต่กลับไม่มีรายละเอียดของมาตรการใดๆ ให้สังคมได้ให้ความร่วมมือตามที่ร้องขอ ซึ่งกลายเป็นอีกเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์ในทันที
 
จากนั้น วันที่ 25 มี.ค.2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้แถลงอีกครั้งว่าได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว โดยในคำประกาศนั้นก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมเช่นเดิม ยังดีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย รวมทั้งฝ่ายต่างๆ ได้ชี้แจงถึงมาตรการต่างๆ เพิ่มที่พอจะเป็นรูปเป็นร่างให้เห็นบ้าง
 
ความสับสนจึงยังคงมีอยู่ มิพักต้องกล่าวถึงการแย่งซีนเพื่อหวังชิงความได้เปรียบทางการเมืองของพรรคแกนนำรัฐบาล รวมถึงการมีอีแอบและไอ้แอบหาผลประโยชน์จากหน้ากากอนามัยที่ขาดตลาด
 
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่สร้างความหวาดหวั่นสั่นสะเทือนไปทั่วประเทศขณะนี้ ถ้าเอกซเรย์สักนิดจะพบว่า “แผ่นดิน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้” เวลานี้ได้กลายเป็น “พื้นที่สีแดงเถือก” ไปแล้ว และน่าจะต้องถือเป็น “จุดเสี่ยงแบบสุดๆ” ของประเทศด้วย เพราะผ่านไปไม่กี่วันจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
 
ล่าสุด ช่วงค่ำของวันที่ 25 มี.ค.2563 นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด โดยออกข้อบังคับใช้มาตรการฉุกเฉินตามที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศไปแล้วนำไปสู่การ “ล็อกดาวน์” หรือ “ปิด” พื้นที่ “จ.ยะลา” ไปแล้วเช่นกัน
 

ผู้ว่าฯ ออกคำสั่งด่วน “ปิดจังหวัดยะลา” ตามมาตรการควบคุมป้องกันไวรัสโควิด-19
 
เอาเฉพาะข้อมูล ณ วันพุธที่ 25 มี.ค.2563 จากการแถลงของผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดพบว่า ในพื้นที่  จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมแล้วถึง 26 ราย หายใจรดต้นคอมาด้วย จ.ยะลา 24 ราย จ.สงขลา 18 ราย ขณะที่ จ.นราธิวาส 6 ราย ด้าน จ.สตูล เพียงถูกล้อมกรอบไว้อย่างมิดชิด โดยยังไม่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19
 
สาเหตุทำให้ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงแบบสุดๆ ต่อการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 และมีแนวโน้มจะลุกลามออกนอกพื้นที่ด้วยนั้น
 
ประการหนึ่งเป็นเพราะมีชายแดนติดกับมาเลเซียที่ประกาศ “ล็อกดาวน์ประเทศ” อย่างเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2563 เนื่องจากพบข้อมูลน่าตกใจที่มีการจัดกิจกรรมทางศาสนาในมัสยิดที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ปรากฏมีผู้เข้าร่วมนับหมื่นคนเป็นตัวแพร่เชื้อแบบกระจัดกระจายมากมาย และในจำนวนนั้นมีผู้นำศาสนาจากชายแดนใต้ของไทยด้วย 132 คน ซึ่ง ณ วันที่ 24 มี.ค.2563 ในมาเลเซียมีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นกว่า 1,500 ราย และเสียชีวิตแล้ว 15 ราย
 
ที่สำคัญหลังการประกาศล็อกดาวน์ประเทศ มาเลเซียยังตามด้วยการประกาศ “เคอร์ฟิว” ห้ามผู้คนออกจากเคหสถานในยามค่ำคืน แถมยังมีการสั่งให้ “มลายูต่างด้าว” ที่ไปทำมาหากินในมาเลเซียรีบเดินทางกลับประเทศตนเอง ในส่วนนี้มีคนไทยเฉพาะเครือข่าย “ต้มยำกุ้ง” จากจังหวัดชายแดนใต้ก็มีอยู่กว่า 200,000 คนแล้วที่ต้องถูกผลักดันให้เดินทางกลับบ้านเกิด ซึ่งจนถึงเวลานี้ก็เหลืออีกไม่น้อยที่ยังคงตกค้างอยู่ในมาเลเซีย แล้วมีแนวโน้มว่าอาจจะเดินทางกลับผ่านช่องทางธรรมชาติที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งไม่ต้องผ่านกระบวนการคัดกรองใดๆ เลย
 
ดังนั้น คนไทยที่ถูกมาเลเซียผลักดันให้กลับบ้านคือ “กลุ่มเสี่ยงแบบสุดๆ” ที่ควรต้องถูกตรวจสอบ ติดตามและต้องกักตัวคนละ 14 วัน เวลานี้เมื่อรวมกับคนผู้นำศาสนา 132 คนที่ไปร่วมพิธีดาวะห์ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ กลุ่มเสี่ยงนี้จึงมีอยู่เกินกว่า 200,000 คน กระจายอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.2563 และนี่เองที่เป็นหนึ่งในสาหเหตุหลักของตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทะยานขึ้นอย่างเป็นที่น่าจับตา และเชื่อกันว่ายังน่าจะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ๆ กว่าที่จะการเผยแพร่เชื้อจะจำกัดวงได้
 

“ศอ.บต.” ออกประกาศเน้น ปชส.ให้ “ปฏิบัติศาสนกิจเพื่อหยุดแพร่ระบาดโควิด-19”
 
อีกประการหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาใหญ่สุดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คือ สังคม 5 จังหวัดชายแดนใต้ที่ “คนส่วนใหญ่ราว 90% นับถือศาสนาอิสลาม” ที่ให้ความสำคัญในการ “ปฏิบัติศาสนากิจ” เป็นสิ่งสูงสุด จึงอาจนำไปสู้การ “ละเลย” ต่อการทำความเข้าใจในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้น ถือชีวิตถูกลิขิตมาแล้ว การจะเป็นหรือตายจึงเป็นเรื่องธรรมดา
 
นี่เองจึงทำให้เชื่อกันว่าคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ชายแดนใต้อาจจะละเลยต่อวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 จึงยังมีการใช้ชีวิตตามวิถีแบบเดิมๆ โดยไม่ให้ความสำคัญต่อวิธีการป้องกันตามคำแนะนำที่มีอย่างแพร่หลาย 
 
การแก้ปัญหาของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ต้องทำทั้งการรักษาพยาบาลในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อ การป้องกันการแพร่ระบาดจากผู้ป่วยไปยังบุคคลอื่นๆ ที่สำคัญคือ การป้องกันด้วยการให้ความรู้ ขอร้อง ขอความร่วมมือจากทุกคนในทุกพื้นที่ให้ป้องกันตนเอง เพื่อให้พ้นจากการรับเชื้อหรือติดเชื้อจากผู้อื่น เพื่อที่จะควบคุมไม่ให้จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้ง่ายต่อการรักษาพยาบาลในท่ามกลางความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ที่ขณะนี้ขาดแคลนทั้งหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ แถมยังปล่อยให้มีคนนำไปขายในตลาดมืดที่มีราคาแพง เป็นการซ้ำเติมผู้คนที่ทุกข์ร้อนอยู่แล้วให้ทุกข์ทวียิ่งขึ้นไปอีก
 
แต่ท่ามกลางวิกฤตก็ยังมี “โชคดี” อยู่บ้างที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ต่างจากภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย อีกทั้งมีหน่วยงานทั้งฝ่ายความมั่นคงคือ “กอ.รมน.ภาค 4.ส่วนหน้า” และมี “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่บูรณาการให้หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง เช่น กรมควบคุมโรคติดต่อ สาธารณสุขจังหวัด กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัด ให้สามารถขับเคลื่อนงานในความรับผิดชอบได้อย่างมีระบบ
 
หน้าที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งมีกำลังพลพร้อม ต้องรับผิดชอบกับผู้ลักลอบเดินทางเข้าเมืองตามแนวชายแดนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ จ.นราธิวาส เพื่อป้องกันมิให้คนเหล่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นผู้ป่วยได้มีโอกาสแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสู่ผู้อื่น รวมทั้งต้องช่วยเหลือฝ่ายปกครองในการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในหมู่บ้านต่างๆ ที่ผู้ป่วยมีภูมิลำเนาอยู่ ซึ่งลำพังผู้นำท้องที่ อสม. รวมถึงฝ่ายปกครองมีกำลังไม่เพียงพอ
 
สำหรับ ศอ.บต.ต้องชื่นชม พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ที่ให้ความสำคัญต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างสูงสุด นอกจากจะหารือทุกฝ่ายเพื่อวางมาตรการรับมืออย่างบูรณาการแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อการสื่อสารกับสังคมในเชิงรุกทุกด้าน โดยเฉพาะกับผู้นำศาสนา ผู้นำสถาบันปอเนาะ โรงเรียนสอนศาสนาและอื่นๆ อีกทั้งมีการตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ เพื่อให้สื่อมวลชนได้นำไปสื่อสารให้ประชาชนรับรู้
 

ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ขอความร่วมมือพี่น้องใน จชต. งดการเดินทางออกนอกพื้นที่ ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19
 
อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนที่สุดของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ที่ “กลุ่มพี่น้องมุสลิมเคร่งศาสนา” การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ต้องให้ “ผู้นำศาสนา” สร้างความเข้าใจแทนเจ้าหน้า เช่น การละเว้นการประกอบพิธีทางศาสนา การป้องกันด้วยการทำความสะอาดศาสนสถาน รวมถึงการทำความเข้าใจถึงอันตรายจากเชื้อไวรัส เพื่อช่วยกันปกป้องตนเองอย่าให้กลายเป็นเหยื่อมัจจุราชเงียบโควิด-19 ซึ่งแน่นอนนั่นถือเป็นงานยากและงานหนักของ ศอ.บต. แต่ก็ต้องดำเนินการให้เป็นผลให้ได้
 
ยังโชคดีที่ ศอ.บต.มีผลผลิต “บัณฑิตอาสา” ที่อยู่ในทุกหมู่บ้านทั่วทั่งพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ และยังโชคดีที่ในหน่วยงานของสาธารณสุขมี “อสม.” อยู่ในทุกหมู่บ้านเช่นกัน นี่จะเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนให้ความรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนได้ทุกครัวเรือน ถ้า ศอ.บต.ทำได้เชื่อว่าการสื่อสารกับสังคมจะได้ผล และเป็นหนทางในการควบคุมการแพรระบาดในระดับหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอรอบนอกได้จริง ข้อสำคัญอย่าให้แต่พวกเขาไปทำหน้าที่อย่างเดียว แต่จะต้องมีค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ต้องเสียสละเพื่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ด้วย
 
ต้องไม่ลืมว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศใช้ไปแล้ว “หาใช่ยาวิเศษ” และ “โควิด-19” ก็หาใช่ผู้ก่อการร้ายที่สร้างสถานกาณณ์ไฟใต้ 
 
การหยุดยั้งโรคระบาดในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ถือว่ากำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงแบบสุดๆ ที่ได้ผลคือ ประชาชนทุกคนต้องเข้าใจสถานการณ์ ต้องรู้จักการป้องกันตัว และที่สำคัญต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำขอร้องของผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข หากการทำความเข้าใจกับประชาชน “ล้มเหลว” หรือ “ทำได้ไม่ดีพอ” เชื่อว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เป็นได้แค่ “ไม้ตีพริก” เท่านั้น
 

สมาคมมุสลิมฯ ส่งเอกสารถึงผู้นำศาสนา 5 จชต. ผนึกกำลังสร้างความเข้าใจโควิด-19 แก่ประชาชน
 
ดังนั้น แผ่นดิน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะหยุดตัวเลขการระบาดของโควิด-19 ได้หรือไม่ อยู่ที่การทำความเข้าใจกับผู้นำศาสนารวมถึงประชาชนในทุกหมู่บ้านเพื่อให้เกิดความตระหนักร่วมกัน ข้อสำคัญชีวิตจะอยู่หรือไปอยู่ที่เขาต้องลิขิตเอง และนี่คืองานที่ท้าทายของ ศอ.บต.ที่ต้องใช้ “ต้นทุนเดิม” ที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 


กำลังโหลดความคิดเห็น