xs
xsm
sm
md
lg

เจาะ 4 ปมคาร์บอมบ์หน้า ศอ.บต. จับตาโยงปัญหา “ขัดแย้งภายใน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

.
โดย..ศูนย์ข่าวภาคใต้
.


.
เพียง 2 วันก่อนเกิดเหตุคาร์บอมบ์หน้าสำนักงาน ศอ.บต.หลังเก่า ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองยะลา เพจ BRN Barisan Revolusi National ซึ่งอ้างตัวเป็นเพจของบีอาร์เอ็น ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้โพสต์เตือนว่าจะมีการก่อเหตุในพื้นที่ของหน่วยงานความมั่นคงของไทย
 .
กระทั่งหลังเกิดเหตุคาร์บอมบ์เมื่อวันที่ 17 มี.ค. เพจดังกล่าวก็ออกมาโพสต์รับว่า เป็นฝีมือของ BRN Army ทำตามคำสัญญาที่แถลงไว้
 .
เนื้อความที่เพจดังกล่าวโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 15 มี.ค.นั้น ได้อ้างถึงการสนธิกำลังของหน่วยเฉพาะกิจทหารพราน 22 ร่วมกับหน่วยชุดปฏิบัติการ ปิดล้อมเกาะกลางเขื่อนปัตตานี ซึ่งมีพื้นที่เชื่อมโยงระหว่าง ต.ยุโป อ.เมืองยะลา กับ ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี หลังจากฝ่ายการข่าวหน่วยความมั่นคงแจ้งเบาะแสว่า เป็นที่กบดานของผู้ก่อความไม่สงบ โดยเพจดังกล่าว ระบุว่า “BRN Army จะแสดงความขอบคุณให้เห็นเป็นประจักษ์อีกครั้ง จึงขอให้ทางกองทัพสยามไทยเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ ที่ตั้งของท่าน #เราจะปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่ให้ไว้ต่อ Geneva_call อย่างเคร่งครัดฝ่ายเดียว #สยามไม่อาจยอมรับสนธิสัญญาดังกล่าวได้
.


.
ก่อนหน้านี้ แม้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เพจ BRN Barisan Revolusi National อาจไม่ใช่เพจของบีอาร์เอ็นจริง เช่น นายฮาร่า ชินทาโร่ อดีตอาจารย์สอนภาษามลายู มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เคยโพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2562 ตั้งข้อสังเกตถึง “แถลงการณ์กรณีบุกยิงถล่ม ชรบ.ลำพะยา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2562” ของเพจดังกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นนั้นเป็นของจริงหรือไม่ เพราะเพจที่มาของแถลงการณ์ฉบับนี้พิมพ์ชื่อองค์กรผิด
 .
อาจารย์ฮาร่า ชินทาโร่ ระบุว่า เพจดังกล่าวเขียนชื่อเพจว่า “BRN Barisan Revolusi National” แต่ในแถลงการณ์ที่เป็นของจริงทั้งหมด เขียนชื่อองค์กรว่า “Barisan Revolusi Nasional” (คำสุดท้ายสะกดตามวิธีการสะกดภาษามลายู) และแถลงการณ์ฉบับนี้ใช้คำว่า “ดารุลฮัรบี” ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่เขาบอกว่าไม่เคยเห็นในเอกสารหรือแถลงการณ์ที่เป็นทางการของบีอาร์เอ็น
 .
นอกจากนี้ อาจารย์ฮาร่า ชินทาโร่ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ตามปกติองค์กรนี้ไม่เคยสื่อสารเกี่ยวกับเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยังใช้ความเป็นองค์กรลับเป็นจุดแข็งในปฏิบัติการ ดังนั้น การออกมาแถลงการณ์แบบนี้ไม่เข้ากับลักษณะขององค์กร และก่อนหน้านี้ แถลงการณ์ที่เป็นทางการของบีอาร์เอ็นมีภาษามลายูเป็นต้นฉบับและบางฉบับมีฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่ไม่เคยปล่อยแถลงการณ์เป็นภาษาไทยภาษาเดียว
 .
แต่หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยหลายหน่วยก็เชื่อว่า เพจ “BRN Barisan Revolusi National” เป็นของจริง โดยมีข้อมูลว่าผู้ที่ทำเพจดังกล่าวเป็น “บีอาร์เอ็นในระดับพื้นที่” โดยมีข้อสังเกตจากถ้อยคำที่ใช้ไม่ใช่ภาษาของ “บีอาร์เอ็นภายนอก” แต่เป็น “บีอาร์เอ็นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”
 .
อย่างไรก็ตาม การลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์หน้าสำนักงาน ศอ.บต.นอกจากเพื่อตอบโต้และหวังดึงกำลังพลมาจากเหตุปิดล้อมเกาะกลางเขื่อนปัตตานีตามที่เพจดังกล่าวอ้างถึงแล้ว ยังมีการวิเคราะห์กันด้วยเหตุผลที่แตกต่างไปจากนั้นอีกด้วย
 .


.
หลังเกิดเหตุ ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์ประณามบีอาร์เอ็นว่า ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการห้ามโจมตีพลเรือน โดยฮิวแมนไรท์วอทช์คาดว่าเป็นฝีมือ “สายเหยี่ยว” ที่ไม่พอใจกลุ่มสายกลางที่เข้ามาพูดคุยกับรัฐบาลไทย
 .
แถลงการณ์ดังกล่าว เพจ “Patani NOTES” รายงานว่า กลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ประณามการก่อเหตุวางระเบิดดังกล่าวว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องห้ามการโจมตีพลเรือน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า การก่อเหตุวางระเบิดที่หน้าสำนักงาน ศอ.บต.เป็นการวางแบบ 2 ระลอก มีเจตนาเพื่อจะสร้างความสูญเสียแก่ชีวิตให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และการโจมตีในขณะที่มีการประชุมเพื่อจะรับมือกับโควิด-19 เท่ากับกลุ่มผู้ลงมือแสดงให้เห็นอีกครั้งว่าไม่ได้ใส่ใจในชีวิตของพลเรือน         
.
“การโจมตีดังกล่าวดูจะเป็นปฏิกิริยาของกลุ่มบีอาร์เอ็นสายแข็งกร้าวต่อการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นสายกลาง ซึ่งกลุ่มบีอาร์เอ็นสายแข็งกร้าวมองว่าการเข้าร่วมวงพูดคุยเป็นการทิ้งเป้าหมายที่ต้องการจะปลดปล่อยพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา แต่กฎหมายด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศตลอดจนกฎหมายหรือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการทำสงครามกำหนดว่าต้องไม่ทำร้ายพลเรือน และข้าราชการที่ไม่ได้มีส่วนในการสู้รบถือว่าเป็นพลเรือน”
.
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังระบุอีกว่า ที่ผ่านมา พวกเขาได้ประณามการละเมิดกฎหมายทำนองนี้หลายหน ในขณะเดียวกัน ฮิวแมนไรท์วอทช์ก็วิตกต่อการที่กองกำลังฝ่ายรัฐบาลละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสู้รบเช่นกัน แบรด อาดัมส์ แห่งกลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยควรเร่งรัดแก้ไขปัญหาที่เจ้าหน้าที่กระทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษ เพราะตราบใดก็ตามที่ข้าราชการทำผิดไม่ถูกลงโทษ กลุ่มผู้ก่อเหตุก็จะใช้สถานการณ์นี้อ้างเป็นเหตุผลในการโจมตีในลักษณะแบบที่เกิดขึ้นต่อไป
 .


.
สอดคล้องต่อการรายงานของสำนักข่าวอิศรา ที่ระบุว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Singa Ar Rahman ซึ่งคล้ายคลึงกับชื่อ นายอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายบีอาร์เอ็น ที่โพสต์ข้อความทำนองปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดหน้า ศอ.บต. โดยบอกว่า "ขอประกาศ เหตุระเบิด ส.อ.บ.ต.ไม่ใช่การกระทำของฝ่ายเรา จึงแจ้งมาให้ทราบโดยทั่วกัน" ซึ่งคำว่า “ส.อ.บ.ต.” น่าจะมีความหมายถึง ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง
 .
สำนักช่าวอิศราวิเคราะห์อีกว่า ยังมีอีกสมมติฐานหนึ่งว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นนี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับปัญหาความไม่สงบ หรือการสร้างสถานการณ์เพื่อแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อาจเป็นผลพวงของปัญหาขัดแย้งภายใน ศอ.บต.เอง! โดยยกเหตุการณ์วันที่ 22 ก.ย.2562 ที่มีเหตุคนร้ายลอบวางเพลิงเผาศาลาที่พักริมทางในพื้นที่ ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา พร้อมทิ้งใบปลิวข่มขู่ข้าราชการใน ศอ.บต.รายหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.ด้วยมาประกอบการวิเคราะห์
 .
บทวิเคราะห์ดังกล่าว ระบุว่า จากใบปลิวข่มขู่ทำให้ตำรวจพุ่งเป้าชนวนเหตุของการวางเพลิงเผาศาลาที่พักริมทางในครั้งนั้น โดยให้น้ำหนักไปที่ความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ภายใน ศอ.บต.เอง ไม่ใช่การสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ เช่นเดียวกับเหตุระเบิดที่หน้า ศอ.บต.ล่าสุดนี้ที่มีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายให้น้ำหนักไปที่ปัญหาภายใน ศอ.บต.เองมากกว่าการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
 .
ส่วนที่มีการก่อเหตุถึงขนาดใช้ "คาร์บอมบ์" ซึ่งต้องใช้มือปฏิบัติการที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างสถานการณ์ และมีกำลังคนพร้อมนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรายหนึ่งให้ข้อมูลแก่สำนักช่าวอิสราว่า อาจเป็นไปได้ว่ามีการใช้งานในลักษณะ "ว่าจ้าง" คนในขบวนการให้ปฏิบัติการความรุนแรง
 .
"หลังๆ มีรูปแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย คือขัดผลประโยชน์กันแล้วก็จ้างกลุ่มขบวนการในการก่อเหตุ สถานการณ์แบบนี้มันจึงยากต่อการมองปัญหาไฟใต้ เพราะที่ผ่านมาเวลาเกิดเหตุรุนแรง เจ้าหน้าที่จะมองไปที่รูปแบบวิธีการของการก่อเหตุ แล้วก็สันนิษฐานถึงกลุ่มที่ปฏิบัติการได้ แต่หลังๆ มีเรื่องผลประโยชน์และการว่าจ้างเข้าไปพัวพัน ทำให้มองแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว และมิติของผลประโยชน์ในพื้นที่ทำให้การสร้างสถานการณ์ความสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม"
 .


.
นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์กันว่า การวางระเบิดด้านหน้า ศอ.บต.นั้นเพื่อแสดงศักยภาพของกลุ่มบีอาร์เอ็นในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนาองค์กรครบ 60 ปีในวันที่ 13 มี.ค. ซึ่งฝ่ายความมั่นคงวิเคราะห์กันว่า เดิมบีอาร์เอ็นเตรียมก่อเหตุในวันดังกล่าว แต่เกิดเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่จากการปิดล้อมเขื่อนปัตตานี ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.เสียก่อน ทำให้การปฏิบัติการดังกล่าวต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 17 มี.ค.
 .
การวางระเบิดหน้า ศอ.บต.นั้นนอกจากหวังผลในชีวิตของเจ้าหน้าที่และข้าราชการ โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาร่วมประชุมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในกรณีที่มีคนไทยไปร่วมงานทางศาสนาที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ยังหวังผลในเชิงสัญลักษณ์
 .
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ศอ.บต.คือตัวแทนของรัฐไทยในการบริหารจัดการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด แม้ว่าขณะนี้กองทัพภาคที่ 4 โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะเข้ามามีบทบาทนำในการดับไฟใต้แล้วก็ตาม แต่ ศอ.บต.ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่
 .
เช่นนั้นแล้วก็เลือกจอดรถหน้าป้าย ศอ.บต.จึงไม่ใช่เหตุบังเอิญ! สิ้นเสียงระเบิด ชื่อ “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” หายวับไปกับตา
 .
อย่างไรก็ตาม หลังเหตุระเบิดได้ไม่นาน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ก็รีบออกมาแก้เกม เขาแถลงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่า ประชาชนในพื้นที่จะต้องยืนด้านไหน ในขณะที่อีกด้านเป็นการประชุมเพื่อแก้ปัญหาของโรคโควิด-19 เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยกันป้องกันและดูแลไม่ให้มีการระบาดต่อเนื่อง แต่ในขณะที่คนอีกกลุ่มต้องการทำลายทุกอย่าง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกด้วยว่า การประชุมก็จะยังคงดำเนินต่อไปเพราะรัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่อย่างมาก เนื่องจากวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทยมุสลิมแตกต่างจากพื้นที่อื่น มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และมีการปฏิบัติศาสนกิจในวันศุกร์ ซึ่งมีกลุ่มคนหมู่มากมารวมตัวกัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหามาตรการร่วมกันต่อไป อีกทั้งยังมีการเกิดโรคโควิด-19 ในกลุ่มคนที่ไปร่วมชุมชนทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซียด้วย ซึ่งมีการยืนยันแล้ว 2 ราย เราจึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังการแพร่เชื้อจากคนกลุ่มนี้ด้วย
 .


และในเวลาไม่ทันข้ามคืน พล.ร.ต.สมเกียรติ ก็นำทีมเก็บกวาดพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งนำป้ายใหม่ที่ทำขี้นเป็นการชั่วคราวมาติดตั้ง ก่อนจะมีพิธี “เปิดป้าย เพื่อชาวใต้สันติสุข” ในเวลา 08.30 น.
.
พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวหลังจากพิธีเสร็จสิ้นว่า กำแพงป้ายชื่อ ศอ.บต.พังหายไปเพราะแรงระเบิด แต่ภายหลังเจ้าหน้าที่เก็บหลักฐานเรียบร้อยแล้วก็ระดมสรรพกำลังก่ออิฐขึ้นมาใหม่ ซึ่งทุกอย่างเสร็จสิ้นก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในวันนี้ รอเพียงตัวหนังสือที่ต้องดำเนินการต่อไป
.
“เราสร้างกำแพงนี้ขึ้นมาด้วยหัวใจและพลังศรัทธา เพราะคนที่อยู่ด้านหลังกำแพง ศอ.บต.คือเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่สร้างความสุขและความเจริญรุ่งเรืองแก่พี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น แต่ภารกิจสร้างความสุขของ ศอ.บต.ก็จะเดินต่อไปข้างหน้าและจะไม่มีวันถดถอย”
.
แม้จะมีการวิเคราะห์ไปในหลายแนวทาง แต่ที่สุดแล้ว ความจริงย่อมมีหนึ่งเดียว ไม่ว่าเหตุผลของการลอบวางระเบิดในครั้งนี้จะเพราะอะไร หรือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเป็นใคร และสิ่งที่ควรจะต้องสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์นี้คือ การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ที่คนร้ายนำเอาคาร์บอมบ์เข้ามาได้ถึงใจกลางเมือง นำมาจอดหน้าสถานที่สำคัญ ลูบคมถึงด้านหน้าศูนย์ที่รวมการบริหารราชการของจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงหน่วยงานด้านความมั่นคงอีกหลายแห่งในบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ที่อยู่ห่างกันไม่มากนัก!

.


กำลังโหลดความคิดเห็น