โดย... พิเชฐ แสงทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
นอน “กักตัว” อยู่กับบ้านในยุคโควิด-19 หลายคนอาจคิดถึงหนังสือ “รักเมื่อคราวห่าลง” นวนิยายของ กาเบรียล การ์เชีย มาร์เกซ นักเขียนรางวัลโนเบลชาวโคลัมเบีย ซึ่งถือว่าเป็นวรรณกรรมที่สอดคล้องต่อสถานการณ์ตอนนี้ยิ่งนัก
.
แต่ผมนึกถึงหนังสือคลาสสิกอีกหลายเล่มที่มีการนำมาจัดพิมพ์ใหม่ จำพวก “Animal Farm” ของ ยอร์จ ออร์เวลล์ เรื่อง “Of Mice and Men” ของ จอห์น สไตน์เบ็ค หรือแม้แต่งานคลาสสิกตรึงตราอย่าง The Old Man and the Sea ของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์
.
ผมพลิกไปพลิกมาเจอว่าหนังสือกลุ่มนี้ นอกจากจะมีลักษณะร่วมกันคือ เป็นผลงานของนักเขียนชื่อก้องโลกในระดับโนเบลแล้ว อีกอย่างที่เหมือนกันคือ เป็นงาน “หลุดลิขสิทธิ์”
.
กฎหมายลิขสิทธิ์ไทยให้งานบางอย่างไม่มีลิขสิทธิ์ตั้งแต่ต้น เช่น ข่าว ข้อเท็จจริง กฎหมาย แต่วรรณกรรมที่เคยมีลิขสิทธิ์ก็สิ้นลิขสิทธิ์ได้เช่นกัน
.
เพราะกฎหมายกำหนดให้งานวรรณกรรมที่มีลิขสิทธิ์กลายเป็นงานไม่มีลิขสิทธิ์โดยอัตโนมัติ หลังครบ 50 ปีที่นักเขียนผู้นั้นเสียชีวิต
.
เวลา 50 ปีหลังการเสียชีวิตของนักเขียนที่กฎหมายลิขสิทธิ์อนุมัติให้ชิ้นงานกลายเป็นงานไม่มีลิขสิทธิ์นั้น มีเหตุผลที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะที่น่าฟัง
.
เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์มองว่า แม้ด้านหนึ่งนักเขียนจะมีฐานะเป็นปัจเจกบุคคล สร้างงานขึ้นมาด้วยทักษะและความสามารถส่วนตน แต่อีกด้านเขา/เธอก็เป็นหน่อเนื้อของสังคม ถูกหล่อหลอมมาจากสังคม นักเขียนสร้างตัวตนขึ้นมาจากสังคม ใช้ประโยชน์ด้านปัจจัยและวัตถุดิบจากสังคม และได้ประโยชน์จากสังคมไปแล้ว
.
ดังนั้น เมื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากงานเขียนนั้นอย่างเพียงพอแล้ว ทั้งตัวนักเขียน (เองระหว่างยังมีชีวิตอยู่) และทายาท (นับระยะเวลาหลังนักเขียนตาย 50 ปี ซึ่งให้โอกาสทายาท/ผู้ถือสิทธิได้ประโยชน์) งานนั้นก็ควรต้องกลายเป็นสมบัติของสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์กันอย่างคุ้มค่า
.
ด้วยเหตุนี้ จึงควรยืนยันเป็นหลักการอันแม่นมั่นว่า ผู้นำผลงาน “หลุดลิขสิทธิ์” ไปตีพิมพ์ ควรต้องคิดถึงความจำเป็นข้อนี้ในการเข้าถึงสิทธิอันปลอดลิขสิทธิ์หลัง 50 ปี จึงควรใช้เป็นเหตุให้ตั้งราคาหนังสือ “ถูกลง” ด้วย
.
บางครั้งเห็นผู้จัดพิมพ์ถือโอกาสโขกราคา เนื่องจากหนังสือหลุดลิขสิทธิ์ที่พิมพ์ได้มักเป็นผลงานคลาสสิกของนักเขียนคลาสสิก เพราะมีโอกาสทางตลาดมากอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ในความเหมาะควร มันต้องทำในทางกลับกันคือ ต้องคิดสัดส่วนราคาลดลงตามรายจ่ายที่ผู้พิมพ์ไม่ต้องจ่าย คือ ค่าเรื่อง หรือค่าลิขสิทธิ์นักเขียน (ยังอาจรวมถึงการจัดอาร์ตเวิร์กด้วย เพราะใช้การสแกนจากเล่มเก่าที่เป็นต้นฉบับเลย)
.
แน่นอนว่าการไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่เอามาคิดหักราคาขาย อาจจะทำให้ราคาถูกลงไม่เท่าไหร่ แต่ก็นั่นแหละ บางเจ้าที่เคยเห็นนอกจาก “ไม่เท่าไหร่” นั้นไม่ยอมลดแล้ว ยังโขกราคาเสียเกินงามอีก เนื่องเพราะมั่นใจว่าจะขายออก
.
หรือบางทีขายไม่ออก แต่โยนภาระ “เรียกราคาคุ้มทุน” ให้คอหนังสือพวกที่คิดว่าคุณจะตั้งราคาเท่าไหร่ก็ซื้อ โยนไปให้พวกเขาเเบกรับราคาจ่ายสูง เพื่อให้ผู้พิมพ์คุ้มทุนจากยอดขายต่ำๆ
.
แบบนี้แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่มันก็เหมือนกับเอาสมบัติสาธารณะไปถือหาประโยชน์เสียเอง
.
ผมนึกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเคยไปเจอสำนักพิมพ์หนึ่งที่ตั้งราคาขายหนังสือหลุดลิขสิทธิ์ หรืองานเขียนที่กฎหมายบอกไม่มีลิขสิทธิ์ เช่น พวกเอกสารราชการ เอกสารประวัติศาสตร์ชั้นต้น (ถ้านึกไม่ออกก็ให้นึกถึงเอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่กรมศิลปากรพิมพ์ขาย) ในราคาที่เป็นธรรมมาก เป็นธรรมกระทั่งยังเคยสงสัยว่า จะเป็นธรรมต่อสำนักพิมพ์เองหรือเปล่าหนอ
.
สำนักพิมพ์นี้คือ “ไทยควอลิตี้”
.
ล่าสุด ผมเห็นเล่มใหม่ในพากย์ไทยของผู้เขียนนิยายคลาสสิกเรื่อง Growth of the Soil #งอกงามจากผืนดิน ของ คนุต ฮัมซุน นักเขียนโนเบลชาวนอร์เวย์ ผู้เขียน “คนโซ” อันลือลั่น
.
ปกแข็ง หนากว่า 740 หน้า ราคา 340 บาท ส่งฟรีอีก เห็นแล้วก็ต้องอุทาน “ราคานี้บ้าหรือเปล่า...”
.
แม้ว่าลึกๆ แล้วเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า ในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ พ่วงเอายุคโรคระบาดจากโควิด-19 เข้าไปอีก นี่คือหนังสือที่คนอ่านต้องการ นี่คือราคาที่ “ผูกมิตร” กันมากกว่าที่จะชวนหมางเมิน
.
ผมไม่รู้ว่าสำนักพิมพ์ได้สิทธิอะไรพิเศษมาจากประเทศสังกัดนักเขียนหรือไม่ แต่ที่เคยเห็นบางแห่งแม้ได้สิทธิพิเศษมา ก็ลดอัตราส่วนให้ไม่มากนัก (เช่น ฝรั่งเศส)
.
ราคานี้ทำให้เห็นชัดว่า สำนักพิมพ์ยืนข้างคนอ่าน การทำราคาเช่นนี้ ทำให้นักอ่านประเภทนักสะสมก็นิยมชมชอบ
.
อย่างผมเองหลายเล่มแม้จะมีเเล้ว แต่พอเห็นฉบับพิมพ์ใหม่ปกแข็งราคาถูกก็ตัดสินใจซื้ออีกครั้ง โดยไม่ลังเลและไม่นึกถึงภาวะเศรษฐกิจยุคโควิด-19 แม้แต่นิดเดียว
.
งานมหกรรมหนังสือที่หาดใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้ว ผมก็เห็นสำนักพิมพ์พิมพ์ชุด “จิตร ภูมิศักดิ์” ใหม่ ไม่ปกแข็ง แต่สวยงาม สมค่าจิตรมาก
.
ส่วนราคานั้นไม่ต้องพูดถึง “ถูก” จนน่าใจหายแทนสำนักพิมพ์
.
ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ตลาดหนังสือกระดาษหดแคบลง การสร้างแรงดึงดูดนักอ่านด้วยราคาก็เป็น “อีกทางหนึ่ง” ในหลายๆ ทางที่สำนักพิมพ์จะทำได้
.
ยิ่งเป็นงานหลุดลิขสิทธิ์ ซึ่งกฎหมายอยากให้กลายเป็นสมบัติสาธารณะที่ประชาชนทุกคนควรจะเข้าถึงได้ง่ายด้วยแล้ว
.
ในสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ดูตกต่ำดิ่งเหวลึกอย่างทุกวันนี้ เมื่อถูกกระหน่ำโดยภัยโควิด-19 อีก วรรณกรรมคลาสสิกสาธารณะก็ควรจะเป็นสิ่งปลอบประโลมเราได้
.
หนังสือราคาที่เป็นมิตรก็เป็นสิ่งปลอบประโลมหนึ่ง.