xs
xsm
sm
md
lg

“ศอ.บต.” ออกประกาศเน้น ปชส.ให้ “ปฏิบัติศาสนกิจเพื่อหยุดแพร่ระบาดโควิด-19”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศอ.บต.ตั้ง “ศูนย์ประสานแก้โรคโควิด จชต.” พร้อมออกประกาศเรื่อง “ประชาสัมพันธ์การปฏิบัติศาสนกิจเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรค COVID-19 สร้างความเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดโรค COVID-19” แล้ว
 
วันนี้ (20 มี.ค.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ออกประกาศ ศอ.บต.เรื่อง “ประชาสัมพันธ์การปฏิบัติศาสนกิจเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรค COVID-19 สร้างความเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดโรค COVID-19” ลงนามโดย พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ลงวันที่ 20 มี.ค.2563 มีเนื้อหาดังนี้
 
มติคณะรัฐมนตรี (เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563) มีข้อสั่งการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยขอความร่วมมือส่วนราชการ ภาคเอกชนและประชาชนหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง และต่อมา ศอ.บต.ได้ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์ประสานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบโรค COVID-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามนโยบายและข้อสั่งการของรัฐบาล รวมทั้งหนุนเสริมการดำเนินงานการควบคุมโรค COVID-19 ของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
 


 
เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความพิเศษในด้านอัตลักษณ์ วิถีชีวิตและพหุวัฒนธรรม ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนั้น ศูนย์ประสานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบโรค COVID-19 ศอ.บต.ได้ประชุมปรึกษาหารือร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ตัวแทนอามีร (ผู้นำ) จากมัรกัซ ตัวแทนบาบอ (โต๊ะครู) จากสถาบันปอเนาะในพื้นที่ นายแพทย์มุสลิมผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน ผู้ทรงคุณวุฒิมุสลิมที่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านศาสนา และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ณ ห้องประชุมเจริญจิตต์ ณ สงขลา ศอ.บต.
 
เพื่อหาแนวทางการดำเนินการเพื่อควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การป้องกันและดูแลตนเองไม่ให้รับและหรือแพร่เชื้อที่ถูกต้อง โดยไม่ขัดหรือแย้งกับหลักการทางศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะมาตรการเฝ้าระวังในกลุ่มประชาชนที่เดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซีย และกลุ่มประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
 
โดยที่ประชุมฯ มีมติเสนอแนวทางประชาสัมพันธ์การปฏิบัติศาสนกิจเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรค COVID-19 การสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ดังนี้
 
1.มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าด้วยเรื่อง การละหมาดวันศุกร์ การละหมาดญามาอะฮฺ และการจัดกิจกรรมรวมตัวเป็นกลุ่ม ประกอบด้วย ห้าข้อห้ามที่ควรปฏิบัติ และห้าข้อขอความร่วมมือที่ต้องตระหนัก ดังนี้
 
1.1 ห้าข้อห้ามที่ควรปฏิบัติ (1) ห้ามใช้น้ำละหมาดร่วมกัน (กอเลาะห์) โดยให้อาบน้ำละหมาดมาจากบ้าน (2) ห้ามปูพรมในมัสยิด ควรเอาพรมออกและทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังปฏิบัติ กิจกรรมแล้วเสร็จทุกครั้ง ให้ใช้ผ้าละหมาดของตนเองและซักทำความสะอาดทุกวัน (3) ห้ามละหมาดติดกัน ควรเว้นระยะห่างจากผู้ละหมาด ไม่ชิดหรือติดกันจนเกินไป เพื่อลดอัตราเสี่ยงของการแพร่เชื้อ (4) ห้ามสัมผัสมือ สวมกอด แต่ให้สลามโดยวิธีการยกมือขวาและกล่าวให้สลามแทน (5) ห้ามผู้ที่มีอาการไข้ หรือป่วย หรือผู้ที่รู้ว่าตนเองอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ร่วมละหมาดที่มัสยิด ในสภาวการณ์เสี่ยงการแพร่เชื้อ โดยให้อิหม่าม ใช้ดุลพินิจในการพิจารณา 
 
1.2 ห้าข้อขอความร่วมมือที่ต้องตระหนัก (1) เฝ้าระวังประชาชนที่เดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยแนะนำให้ปฏิบัติตามแนวทางที่จังหวัดแต่ละจังหวัดกำหนดโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะไม่ควรให้เข้าร่วมทำกิจกรรมในชุมชนที่มีการรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก (2) สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยสบู่หรือเจลล้างมือบ่อยๆ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกมัสยิดติดตั้งจุดบริการเจลล้างมือแอลกอฮอล์ ณ ทุกช่องทางเข้ามัสยิด (3) ทำความสะอาดมัสยิดและห้องน้ำ รวมถึงอุปกรณ์ในห้องน้ำ ด้วยผงซักฟอกอย่างน้อยวันละ 5 ครั้ง หรือทุกครั้งก่อนและหลังการละหมาดญามาอะฮฺ (4) ลดระยะเวลาการอ่านคุตบะห์ให้น้อยลง เพื่อลดการสัมผัสกลุ่มคนจำนวนมาก (5) ให้นำผ้าละหมาดของตัวเองมาใช้ในระหว่างปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิด
 


 
2.มาตราการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่าด้วยเรื่องการออกดะอ์วะห์ (การเชิญชวนให้ศาสนิกทำความดี) การบรรยายธรรม การจัดงานการกุศล ขอความร่วมมืองดหรือเลื่อนไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ เพื่อลดการเคลื่อนตัวและแพร่เชื้อ
 
3.การพิจารณาภาวะเสี่ยงตามประกาศจุฬาราชมนตรี ฉบับที่ 1/2563 เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขอความร่วมมือให้อิหม่าม หรือผู้นำชุมชนใช้ดุลพินิจ หากเห็นว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงก็สามารถประกาศใช้ตามมาตรการดังกล่าว
 
4.ศอ.บต.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาไทย จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ และเดินทางกลับมาภูมิลำเนาบ้านเกิดในระหว่างหยุดภาคการศึกษา-ร่วมกิจกรรมทางศาสนาในเดือนเมษายน 2563 ที่จะถึงนี้ รวมทั้งแรงงานไทย นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย เข้ามายังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามช่องทางธรรมชาติ ด้วยการจัดตั้งกลไกคณะทำงานเชิงรุกระดับหมู่บ้าน-ชุมชน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและบัณฑิตอาสา ศอ.บต. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่-ท้องถิ่น ระดมสรรพกำลังบูรณาการ         การควบคุมป้องกันมิให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายข้างต้น
 
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงจำกัดพื้นที่มิให้เคลื่อนย้ายหรือร่วมกิจกรรมสาธารณะ โดยเฉพาะกิจกรรมทางศาสนา การให้ความรู้ คำแนะนำ แนวทางการปฏิบัติตัว และการเผยแพร่ประชาชนสัมพันธ์ข่าวสารที่จำเป็นทั้งภาคภาษาไทย และภาคภาษามลายูต่อประชาชน เพื่อให้สามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ดังนั้น หากท่านต้องการประสานงาน ติดต่อข้อมูล แจ้งข่าวสารเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์และร่วมดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามบทบาทที่ท่านมี สามารถประสานงานผ่านศูนย์ประสานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบโรค COVID-19 ศอ.บต. ทางหมายเลข 1880 ตลอด 24 ชั่วโมง ศอ.บต.ขอความร่วมมือจากผู้นำศาสนา-ผู้นำทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่โปรดพิจารณาปฏิบัติตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ศอ.บต. เชื่อมั่นว่าความร่วมมือร่วมใจครั้งนี้ จะทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคในครั้งนี้ไปโดยพร้อมกันได้ ประกาศ ณ วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2563
 


กำลังโหลดความคิดเห็น