xs
xsm
sm
md
lg

34 องค์กรรุดจี้ “อธิบดีกรมศิลป์” ยกเลิกประกาศลดเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ลั่นขอคำตอบจันทร์ 23 มี.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายปกป้องเขายะลาและพันธมิตรรวม 34 องค์กรยื่นหนังสือจี้ “อธิบดีกรมศิลป์” ยกเลิกประกาศลดเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาแล้ว พร้อมยืนเงื่อนไขต้องได้คำตอบภายในวันจันทร์ที่ 23 มี.ค.นี้
 
ช่วงบ่ายวันนี้ (20 มี.ค.) ที่กรมศิลปากร กรุงเทพมหานคร นายวรา จันทร์มณี ​​ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายศิลปินรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และตัวแทนเครือข่ายต่างๆ ได้เดินทางไปเข้ายืนหนังสือต่อ นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เพื่อขอให้ประกาศยกเลิกการลดเขตโบราณสถานเขายะลา ตามอำนาจอธิบดี เช่นเดียวที่อดีตอธิบดีได้ประกาศลดเขตเขายะลาตามอำนาจมาตรา 7 ไปก่อนหน้านี้
 
โดยในหนังสือลงวันที่ 20 มี.ค.2563 ระบุว่า เรื่อง ขอให้ใช้อำนาจอธิบดีประกาศยกเลิกประกาศลดเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา เรียน อธิบดีกรมศิลปากร ก่อนจะตามด้วยเนื้อหาดังนี้
 
​​ตามที่อดีตกรมศิลปากรได้ใช้อำนาจอธิบดีตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ประกาศลดเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ซึ่งหากมีการให้สัมปทานเหมืองหินในที่ดินซึ่งได้ประกาศลดเขตดังกล่าว จะสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในพื้นที่อย่างมหาศาล
 
ที่สำคัญจะสร้างความเสียหายต่อแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเคยเสียหายมาแล้วก่อนหน้านี้ จากการที่ภาพเขียนยาว 3 เมตร อายุกว่า 1,200 ปี ซึ่งอยู่ห่างจากจุดระเบิดหินใน ต.ลิดล เพียง 500 เมตร ได้พังถล่มลงมา (เทียบเคียงกับพระนอนที่เขางู ราชบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากจุดระเบิด 1,000 เมตร ก็ยังได้รับความเสียหาย) อีกทั้งยังทำลายแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์อย่างป่าต้นน้ำชั้น 1A ซึ่งมากด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์ โดยเฉพาะ 1 ใน 10 สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของโลกอย่าง “ค้างคาวหางโผล่”
 
​​เขายะลาเป็นแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญ ควรจะอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติชาติ การที่อดีตอธิบดีประกาศลดเขตเป็นการขัดกับเจตนารมณ์แห่งกฎหมายแร่ และกฎหมายโบราณสถาน อีกทั้งอดีตอธิบดีมิได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะดำเนินการ ไม่ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งต่อเขตโบราณสถาน ต่อชุมชน ประชาชน สัตว์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใดทั้งสิ้น
 
อันเป็นการกระทำที่ผิดต่อหลักการและอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมศิลปากร โดยแม้แต่คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรเองก็ยังมีความเห็นในการประชุมเมื่อวันพฤหัสที่ 12 มีนาคม 2563 ว่า การอ้างเหตุผลความจำเป็นในการออกประกาศฯ ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในภารกิจการดำเนินงานของกรมศิลปากร
 
นับจากมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา นักวิชาการ ปัญญาชน ศิลปิน และประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงเครือข่าย สมาคม แนวร่วม ได้เรียกร้องให้ยกเลิกการลดเขตที่ดินดังกล่าว เราทราบดีถึงความอึดอัดใจของท่าน แต่ก็หวังว่าท่านในฐานะอธิบดีกรมศิลปากรคงทราบว่า อะไรคือหน้าที่ของกรมศิลปากร
 
จึงเรียนมาเพื่อเรียกร้องให้ท่านใช้อำนาจอธิบดียกเลิกประกาศลดเขตโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาในทันที และโปรดแจ้งให้เครือข่ายฯ ทราบภายในวันจันทร์ ที่ 23 มีนาคม 2563 ก่อนที่จะครบกำหนด 30 วัน นับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยหากท่านมิได้ทำตามข้อเรียกร้องนี้ เครือข่ายฯ จะได้รีบดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนไปกว่านี้ โปรดคืนเขายะลาให้ประชาชน และขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้ ขอแสดงความนับถือ
 


 
นอกจากนี้ในตอนท้ายหนังสือดังกล่าวยังได้แนบรายชื่อเครือข่าย สมาคม และองค์กรแนวร่วมต่างๆ ประกอบด้วย 1.สภาประชาสังคมชายแดนใต้ 2.มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม 3.สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี 4.สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (ลูกเหรียง) 5.สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (WE PEACE) 6.สมาคมฟ้าใส ส่งเสริมภาวะเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ 7.สมาคมเสริมสร้างสิทธิชุมชน 8.สมาคมประมงพื้นบ้านชายแดนใต้ 9.สมาคมเพื่อการพัฒนาสตรีและการช่วยเหลือเด็กกำพร้า
 
10.สมาคมสะพานปัญญาชายแดนใต้ 11.เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ 12.คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ 13.เครือข่ายภาคประชาสังคมยะลา 14.เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้ 15.เครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ (คพชน.) 16.ชมรมพุทธรักษาชายแดนใต้ 17.ชุมชนศรัทธา “กำปงตักวา” 18.ชาวบ้านตำบลยะลา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา 19.องค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติและเศรษฐกิจพอเพียง จชต. 20.เครือข่ายเยาวชนทำดีมีอาชีพ จชต. 21.องค์กรเยาวชนจิตสาธารณะระดับตำบลชายแดนใต้ อำเภอยะหา 22.องค์กรทิพยสถานธรรม
 
23.กลุ่มสมาชิก “ปลื้ม” เกาะยอ สงขลา 24.กลุ่มพุทธปะนาเระ จังหวัดปัตตานี 25.กลุ่มพุทธมายอ จังหวัดปัตตานี 26.กลุ่มพุทธยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี 27.ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (NEC CLUB) 28.ศูนย์ประสานงานอาสาสมัครเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ 29.เครือข่ายทบทวนคลองผันน้ำเมืองนคร 30.กองทุนสิปปปชา 31.เครือข่ายศิลปินรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม 32.เครือข่ายปกป้องแหล่งโบราณคดีปากแจ่ม จ.ตรัง 33.เครือข่ายปกป้องแหล่งโบราณคดีเขาโต๊ะกรัง จ.สตูล และ 34.เครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา
 


กำลังโหลดความคิดเห็น