xs
xsm
sm
md
lg

กรมส่งเสริมการเกษตรเดินหน้าสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ สำหรับการขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า แปลงใหญ่ คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มการผลิต และการบริหารจัดการร่วมกัน ตลอดจนการจัดการด้านการตลาด การลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยมีหน่วยงานภาครัฐ และภาคีที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน และอำนวยความสะดวก โดยมีเงื่อนไขพื้นที่ควรอยู่ใกล้เคียงกัน ขนาดพื้นที่เหมาะสมต่อการบริหารจัดการ และเพียงพอให้เกิดอำนาจในการต่อรอง ขนาดพื้นที่ และจำนวนเกษตรกร ข้าว พืชไร่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน พื้นที่ไม่น้อยกว่า 300 ไร่ และเกษตรกรไม่น้อยกว่า 30 ราย ไม้ผล พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ ปศุสัตว์/แมลงเศรษฐกิจ ประมง และพืชอื่นๆ พื้นที่ไม่น้อยกว่า 300 ไร่ หรือเกษตรกรไม่น้อยกว่า 30 ราย

โดยมีเป้าหมายการพัฒนา 5 ด้าน คือ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพ/พัฒนาให้ได้มาตรฐาน บริหารจัดการ และการจัดการด้านการตลาด ตัวอย่างการดำเนินการที่ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผักบางท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้จัดตั้งเป็นแปลงใหญ่พืชผัก ในปี 2560 ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 58 ราย พื้นที่ปลูก 387 ไร่ ซึ่งก่อนหน้านั้นเกษตรกรได้ขายผลผลิตให้ตลาดทั่วไป และมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อผลผลิต ในปี 2561 ได้มีการเชื่อมโยงการตลาดพืชผักแปลงใหญ่กับเทสโก้โลตัส ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนา และส่งเสริมกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตร สู่ตลาดนำการเกษตร เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 มีการส่งเสริมการเรียนรู้ของกลุ่มโดยใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ลดการใช้สารเคมี เพิ่มการใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และวัชพืช ผลิตปุ๋ยชีวภาพจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
 


 
จุดเด่นของกลุ่ม
1.การลดต้นทุนการผลิต ต้นทุนการผลิตพืช 6 ชนิด เฉลี่ย 9,260 บาทต่อไร่ ลดลง 25-30%
- ด้านปัจจัยการผลิต มีการรวมกันซื้อปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ผัก ปุ๋ยหรือวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน ถุงบรรจุที่ใช้ขนส่งไปโรงคัดแยก และอื่นๆ ที่ทางกลุ่มต้องใช้ในกระบวนการผลิต ตามแผนการผลิตที่วางไว้ได้ในราคาถูก และยังสามารถชำระเงินภายหลังจากขายผลผลิตได้ด้วย
- การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยทางกลุ่มมีการตรวจสอบวิเคราะห์ดิน เพื่อให้ใส่ปุ๋ยได้ตามปริมาณที่พืชต้องการ และมีการใช้ปุ๋ยหมักในการปรับโครงสร้างดินช่วยให้การดูดซึมธาตุอาหารหลักหรือปุ๋ยที่ใส่ลงไปได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ลดต้นทุนในเรื่องของปุ๋ยไปได้มาก

2.การเพิ่มผลผลิต ผลผลิตเฉลี่ยผัก 6 ชนิด 2,325 กก./ไร่ เพิ่มขึ้น 25-30%
เกษตรกรมีความรู้ความชำนาญในการผลิตผักมาหลายชั่วอายุ จึงมีเทคนิควิธีในการผลิตให้ผลผลิตมีปริมาณมาก และถ่ายทอดให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มนำไปปรับใช้ นอกจากนั้น เกษตรกรมีความเชี่ยวชาญในการเลือกพื้นที่ ว่าพื้นที่แบบใดเหมาะที่จะปลูกผักชนิดใด และเลือกชนิดผักที่เหมาะสมกับความถนัดของสมาชิก ทำให้ได้ผลผลิตสูงตามไปด้วย

3.การเพิ่มมูลค่าผลผลิต เกษตรกรสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตด้วยการผลิตผักให้ได้มาตรฐาน GAP สมาชิก 51 ราย 81 แปลง ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ซึ่งตลาดมีความต้องการ และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค นอกจากนั้น ยังผลิตผักตามเทศกาลต่างๆ ทำให้ได้ราคาสูง

4. การตลาด มีการทำ MOU ซื้อขายผลผลิตกับบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด หรือเทสโก้โลตัส โดยทำสัญญาครั้งละ 3 เดือน เพื่อกำหนดราคา ปริมาณ และชนิดพืชผัก ทำให้กลุ่มมีรายได้เพิ่ม 4,085,496 บาทต่อปี
 


 
5. การบริหารจัดการการผลิต การบริหารจัดการกลุ่มมีการจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีโครงสร้างการบริหารชัดเจน ทางกลุ่มมีการประชุมวางแผนปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหากันทุกวันอังคาร หรือหากสำคัญเร่งด่วนก็เรียกประชุมทันที เนื่องจากพืชผักเป็นพืชอายุสั้นต้องดำเนินการโดยความรวดเร็ว ทุกเรื่องทุกปัญหามีการประชุม และต้องมีมติที่ประชุมรับรอง แผนการผลิต และการตลาดต้องเป็นที่ยอมรับของสมาชิกทุกคน หากไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัยจะหาข้อสรุปออกมาให้ได้เพื่อให้งานดำเนินไปได้โดยไม่สะดุด และเป็นข้อดีที่ทางเทสโก้โลตัส ได้ส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้จัดการแปลงของบริษัทเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยวางแผน ประเมิน และวิเคราะห์ความเสี่ยงในขั้นตอนการผลิต ทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้ดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรรวมกลุ่มแปลงใหญ่ เพื่อสร้างพลังในการผลิต และการตลาด มาตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันมีกลุ่มแปลงใหญ่ จำนวนทั้งสิ้น 930 แปลง ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 53,000 คน ในเนื้อที่ 576,000 กว่าไร่ โดยในปี 2564 ได้มีการประชาสัมพันธ์เพื่อรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการตามหลักเกณฑ์ ซึ่งเกษตรกรที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมเกษตรแปลงใหญ่ โดยติดต่อ และขอรับคำปรึกษาได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ
 






กำลังโหลดความคิดเห็น