xs
xsm
sm
md
lg

เพราะท่านคิดว่า “ประชาชนโง่” ใช่ไหม? จึงยัดเยียดโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ให้เขา?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
โดย... สมบูรณ์ คำแหง คณะทำงานเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรสองฝั่งทะเล (อันดามัน-อ่าวไทย)
 


 
วาทกรรมที่ว่า “ประชาชนโง่ เราจะตายกันหมด” กำลังแพร่ขยายอยู่ในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว ซึ่งต้นตอของคำพูดนี้ได้หลุดมาจากเฟซบุ๊กของ “นักการเมืองคนหนึ่งใน จ.สงขลา” ที่อยู่ใน “พรรคพลังประชารัฐ” ในขณะที่เจ้าตัวได้ออกมาปฏิเสธในทันทีว่า ไม่ใช่การกระทำของตน จนยังความสงสัยให้แก่ผู้คนจำนวนมากที่ได้รับรู้ว่าพฤติกรรมเช่นนี้กำลังกลายเป็นลีลาของนักการเมืองหลายคน จนดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติแห่งยุคสมัยที่เมื่อมีการกระทำการใดผ่านทางโลกโซเชียล จะด้วยความคึกคะนอง พลั้งเผลอ หรือเพราะคาดการณ์ผิด ก็มักจะออกมาปฏิเสธการกระทำแบบหน้าตาย
 
อย่างล่าสุด เรื่อง “หน้ากากอนามัย” ที่มีผู้ใกล้ชิดรัฐมนตรีคนหนึ่งไลฟ์สดระหว่างการขนย้ายสิ่งของที่อยู่ในลัง ซึ่งก็คือหน้ากากอนามัยที่กำลังขาดตลาด จนปรากฏภาพชัดเจน ซึ่งในโอกาสเดียวกันนี้ คนดังกล่าวได้โฆษณาอย่างเปิดเผยที่พร้อมจะทำการค้าให้แก่คนที่สนใจ อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างออกหน้าออกตา แต่พอถูกจับได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่กำลังขาดแคลนหน้ากากอนามัย และอาจจะผิดกฎหมายการส่งออกสินค้าต้องห้ามด้วยแล้ว เจ้าตัวได้ออกมาโบ้ใบ้ว่าตนไม่ได้ทำ โดยอ้างว่าไม่รู้เรื่อง และไม่ใช่หน้ากากตามที่เป็นข่าว หากบอกว่าเป็นผ้าอนามัยเท่านั้น
.
นี่คือรูปธรรมที่ชัดเจนที่เขาเหล่านั้นเห็นว่าเรา “โง่”!!
.
โอกาสนี้ขอหยิบยกกรณีที่กำลังเกิดขึ้นใน อ.จะนะ จ.สงขลา มานำเสนอให้เห็นถึงความคิดที่คล้ายๆ กันของพวกเขาเหล่านั้น ที่มักจะคิดว่า “ประชาชนโง่” อันถือเป็นเรื่องหนึ่งที่อ้างอิงถึงกันได้อย่างเหมาะเจาะกับสถานการณ์เบื้องต้น ด้วยว่าคนที่ถูกกล่าวอ้างสร้างวาทกรรมนี้ขึ้นมา ซึ่งก็คือ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา”
 
จึงขอนำกระบวนการดำเนินงานในโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ อ.จะนะ มาบอกเล่าให้สังคมได้รับรู้ถึงเบื้องหลังความคิดของ “เขา” ได้ง่ายขึ้น
 
โครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ปัจจุบันสถานะของโครงการนี้คือ ได้รับการอนุมัติงบประมาณ จำนวน 18,600 ล้านบาท ในพื้นที่ 16,700 ไร่ ซึ่งรัฐบาลประยุทธ์ 2 ลงพื้นที่อนุมัติโครงการนี้เมื่อครั้งที่มาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 21 ม.ค.2563 ที่ผ่านมา โดยมี “ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” เป็นเจ้าของโครงการ
 
โดยดำเนินการภายใต้แนวคิด “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อันถือว่าเป็น 1 ใน 4 ของโครงการเมืองต้นแบบที่ ศอ.บต.พยายามโชว์ผลงานอย่างภาคภูมิใจอยู่ในขณะนี้ ด้วยคาดหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศได้
 
เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดจะทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง “เมืองต้นแบบจะนะ” กับที่อื่นๆ ได้ อันเป็นข้อสังเกตการสร้างเมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ ของ ศอ.บต.เป็นการเฉพาะ กล่าวคือ
 
1.รูปแบบและวิธีการดำเนินงาน ให้เสมือนว่าประชาชน อ.จะนะ เป็นผู้ดำเนินงานหลักของโครงการนี้ 2.หัวใจสำคัญของโครงการที่มุ่งเน้นการใช้พื้นที่เพื่อการลงทุนด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ระดับประเทศ 3.ผู้มีส่วนได้เสียเฉพาะกลุ่ม ภายใต้การจัดการงบประมาณและผลประโยชน์มหาศาลจากโครงการนี้ 4.ทำไมต้องให้ ศอ.บต.เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
 
5.ทำไมต้องเป็นนิคมอุตสาหกรรมเอกชนที่ต้องใช้ภาษีของประชาชนจำนวนมากและเอื้อผลประโยชน์อย่างเต็มที่ 6.เกิดการซื้อขายที่ดินจำนวนมาก ที่เชื่อว่ามีความผิดปกติในขั้นตอนของกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7.จ.สงขลามีนิคมอุตสาหกรรมของรัฐ (กนอ.) ถึง 2 แห่ง และยังมีพื้นที่ว่างจำนวนมาก ทำไมถึงไม่ไปใช้ 8.คนในพื้นที่  3 ตำบลคือผู้เสียสละอันยิ่งใหญ่ ที่จะถูกอ้างว่าเป็นผู้ต้องการให้โครงการนี้เกิดขึ้น
 
ศอ.บต.ในฐานะผู้เป็นเจ้าของโครงการตัวจริง (จับมือกับกลุ่มทุนและนักการเมือง) ได้ใช้วิธีการอันแยบยลในการทำให้ชาวบ้านหลงเชื่อว่า โครงการนี้เป็นความต้องการของคนในพื้นที่ อ.จะนะเอง โดยการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดภายใต้การกำกับของ “กองอำนายการส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน” เพื่อทำหน้าที่จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อการจัดทำแผนและสร้างความรู้ความเข้าใจของโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”
 
ทั้งนี้ ได้อนุมัติงบประมาณก้อนแรก จำนวน 1,130,000 บาท ให้จัดเวทีในพื้นที่ดำเนินโครงการ 3 ตำบล คือ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม ซึ่งต้องจัดเวทีทั้งหมดให้ได้ 35 เวที และจะมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ทำงานอื่นต่อไป โดยเฉพาะด้านการประชาสัมพันธ์ (สนับสนุน) โครงการ

การดำเนินการลักษณะเช่นนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเริ่มต้นโครงการ โดยการทำให้เกิดกลไกภายในที่มาจากฝ่ายปกครอง ท้องที่ ท้องถิ่น และผู้นำอื่นๆ ที่มีบทบาททางสังคมของทั้ง 3 ตำบลนี้ จัดเป็นรูปคณะทำงานเชิงปฏิบัติการเพื่อทำแผนและสร้างการรับรู้โครงการเมืองต้นแบบฯ และให้คณะทำงานชุดนี้ออกแบบการดำเนินการเพื่อจัดเวทีทั้งหมดกว่า 30 เวที
 
นั่นหมายถึงการใช้เงินก้อนแรกนี้เพื่อให้คนในพื้นที่ได้รู้สึกว่า “เขาคือผู้เริ่มต้นโครงการนี้เอง” และได้รับการมอบหมายอย่างเป็นทางการจาก ศอ.บต. เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญคือ การทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนให้ความร่วมมือเข้าร่วมเวทีนี้ พร้อมกันยอมเซ็นชื่อเข้าร่วมประชุมดังกล่าว ซึ่งคณะทำงานชุดนี้มีเวลา 3 เดือนเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์สำคัญ 2 เรื่องคือ 1) รายงานการประชุมของเวทีที่จะต้องเกิดขึ้นในพื้นที่ 3 ตำบลกว่า 30 เวที และ 2) รายชื่อพร้อมลายเซ็นของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบล
 
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องดำเนินไปตามข้อตกลงที่คณะทำงานทำไว้กับ “กองอำนวยการส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน” ของ ศอ.บต. อันจะเป็นเอกสารและหลักฐานที่ ศอ.บต.ต้องทำเพื่อแนบประกอบกับเอกสารโครงการทั้งหมดให้แก่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาในการลงมาประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ 21 ม.ค.2563
 
และจากการจัดเวทีตามที่ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้วนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงจากการสอบถามประชาชนจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมเวทีเหล่านั้นว่า ในเวทีต่างๆ นั้นมีรูปแบบการดำเนินการและเนื้อหานำเข้าในเวทีเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้พบ “ความผิดปกติ” ดังนี้คือ
 
1.ผู้เข้าร่วมเวทีจะต้องเซ็นชื่อและจะได้ของสมนาคุณคือ น้ำมัน 1 ขวดและน้ำตาลทราย 1 ถุง 2.ผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นได้จะต้องเป็นคนที่อยู่ในหมู่บ้านที่จัดเวทีเท่านั้น คนนอกหมู่บ้านหากอยู่ในตำบลเดียวกันก็ไม่สามารถพูดแสดงความคิดเห็นใดๆ ได้ 3.เวทีทั้งหมดนั้นใช้เวลาครึ่งวันในการนำเสนอสาระสำคัญคือ การอธิบายว่าโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต คือแนวคิดที่ต้องการพัฒนาประชาชนในพื้นที่ อ.จะนะให้ดีขึ้น และแจ้งว่าทั้งหมดนี้เป็นโครงการของ ศอ.บต. (บางเวทีมีการแกมขู่ว่า “ค้านไม่ได้นะ”) 4.มีการชี้แจงแต่ข้อดีว่า จะมีโรงงานอุตสาหกรรมที่สะอาดปลอดภัยเข้ามาทำการในพื้นที่ และจะมีระบบจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี อีกทั้งจะทำให้มีการจ้างงานคนในพื้นที่ จำนวน 1 แสนอัตรา และ 5.มีการให้เสนอความต้องการและความกังวลที่อาจจะเกิดขึ้น หากได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคต
 
จึงมีข้อสังเกตสำคัญของการกระบวนการเหล่านั้นได้ว่า 1) ไม่มีการชี้แจงว่าโครงการนี้คือ โครงการขนาดใหญ่ที่จะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง อย่างเช่น จะมีอุตสาหกรรมหนักที่เป็นมลพิษด้วยหรือไม่ และอื่นๆ อย่างเช่นท่าเรือน้ำลึกจะมีหรือไม่ และจำนวนกี่ท่า 2) เมื่อมีการซักถามในลักษณะดังกล่าวก็จะถูกตั้งคำถามกลับว่าเป็นคนที่ไหน ใช่คนพื้นที่หรือไม่ และบางเวทีมีการข่มขู่ว่า โครงการนี้จะคัดค้านไม่ได้เพราะดำเนินการโดย ศอ.บต.
 
3) ถ้าพบว่ามีคนนอกหมู่บ้าน แม้จะในตำบลเดียวกันก็จะไม่ให้แสดงความคิดเห็นใดๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา 4) คนที่เข้ามารับผิดชอบจัดเวที (วิทยากร) ไม่มีความรู้รายละเอียดของโครงการอย่างแท้จริง และไม่อยู่ในสถานะที่จะตอบคำตามต่างๆ ของประชาชนผู้เข้าร่วมเวทีได้
 
5) วิทยากรมักเน้นให้ตอบคำถามว่า “ต้องการอะไร” และอ้างว่าจะนำความต้องการนี้ไปเสนอให้เจ้าของโครงการ โดยมีการหยิบยกเปรียบเทียบกับโครงการที่เคยมีปัญหาอย่างเช่นโรงไฟฟ้าจะนะ หรือโครงการโรงแยกก๊าซ ที่บอกว่าโครงการนี้คือโครงการจะนะเมืองต้นแบบฯ จะให้มากกว่า 6) ในหลายเวทีมีผู้เข้าร่วมไม่มากพอตามที่ควรจะเป็น ทำให้คณะทำงานต้องใช้วิธีไปล่ารายชื่อตามบ้าน และแจกน้ำมันกับน้ำตาลเป็นการตอบแทน หากแต่ไม่ได้มีการชี้แจงข้อมูลใดๆ กับผู้คนเหล่านั้น
 
เมื่อพิจารณาจากรูปแบบและวิธีการดำเนินงานดังกล่าวนี้แล้ว ทำให้เห็นได้ถึงข้อบกพร่องของกระบวนการการทำงานที่ไม่สมราคาที่จะเป็นโครงการ “เมืองต้นแบบแห่งอนาคต” แต่อย่างใด ซึ่งหากจะวิเคราะห์ถึงความผิดปกติอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว ทำให้ชวนคิดต่อไปว่า
 
1.ทำไมต้องให้ ศอ.บต.เป็นผู้ดำเนินการหลักในโครงการนี้ ทั้งที่ไม่มีความสามารถในด้านเศรษฐกิจ และหน้าที่หลักของราชการหน่วยนี้ควรเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาสถานการณ์และความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช่หรือไม่ หากแต่โครงการนี้ ศอ.บต.กำลังเป็นต้นเหตุในการสร้างพื้นที่ความขัดแย้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
 
2.มีความไม่ชอบมาพากลในเรื่องที่ดิน ทั้งออกกรรมสิทธิ์ และการซื้อขายที่ดินในพื้นที่โครงการจำนวนกว่า 16,000 ไร่ ในพื้นที่ 3 ตำบลของ อ.จะนะ ที่จะต้องทำการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด และในโอกาสนี้ได้มีการล่อผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ว่า จะมีการออกเอกสารสิทธิให้แก่ผู้ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์หากเห็นด้วยกับโครงการนี้
 
3.ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่จะเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแก่ประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง อย่างเช่นโครงการนี้แม้จะมีชื่อสวยหรูเพียงใดว่าเป็นเมืองต้นแบบก้าวหน้าแห่งอนาคต แต่สรุปแล้วนี่คือการย้ายฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รองจากภาคตะวันออกลงมาสู่พื้นที่ภาคใต้คือ อ.จะนะ จ.สงขลา และไม่มีการเปิดเผยว่ามีกลุ่มบริษัททีพีไอและไออาพีซี (TPI และ IRPC) ซึ่งเป็นเจ้าพ่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทย เข้ามาซื้อที่ในพื้นที่แห่งนี้จำนวนหลายพันไร่แล้ว
 
4.จึงมีความเป็นไปได้สูงมากว่า “โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ก็คือ “นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ และที่นี่จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่บริหารโดยเอกชน ที่ไม่ใช่ของรัฐ หากแต่จะต้องให้รัฐบาลใช้เงินภาษีประชาชนจำนวนมหาศาลเอื้อให้แก่เอกชนรายนั้น
 
5.การใช้ประชาชนในพื้นที่แล้วสร้างเป็นคณะทำงานให้แก่โครงการที่ ศอ.บต.ตั้งขึ้น ก็คือ การใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือให้แก่กลุ่มทุนที่กำลังเข้ามารุกรานทรัพยากรในพื้นที่ของคนจะนะ และของคนสงขลาทั้งหมด อันเป็นบทเริ่มต้นของการทำให้ประชาชนทะเลาะกันเอง ถือว่าเป็นวิธีการอันแยบยล และเป็นวิธีการที่โหดร้ายที่สุด ท่ามกลางสถานการณ์ของความขัดแย้งที่มีอยู่แล้วในพื้นที่
 
องคาพยพเหล่านี้ที่หน่วยงานรัฐ นักการเมืองและนักลงทุนเอกชนจับมือกันกระทำการเช่นนี้ แล้วแอบอ้างกลไกของประเทศนี้ที่มีอยู่ว่าทำไปเพื่อประชาชน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน หากแต่ล้วนเห็นๆ อยู่ว่าคือ การดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ใครบางคน และกับคนบางกลุ่มอย่างไม่สนใจไยดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนในพื้นที่
 
แล้วความร่ำรวยที่ท่านกำลังหยิบยกให้นี้ มันจะตกทอดถึงคนในพื้นที่อย่างแท้จริง เขาคือเจ้าของโรงงานสักโรงหรือไม่ เขาคือนายทุนที่จะได้ประโยชน์จากการดำเนินการโครงการเหล่านี้หรือไม่ และเขาคือผู้มีอำนาจที่จะชี้ว่าอะไรควรจะเป็นอะไรในที่แห่งนี้หรือไม่ และถ้าไม่ใช่ ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาที่เป็นประชาชนในพื้นที่จะได้อะไร นอกจากการยอมเสียสละที่ดิน ที่ทำกิน ทรัพยากร อากาศอันบริสุทธิ์ วิถีชีวิตวัฒนธรรมที่ดีงาม เพื่อแลกกับสิ่งที่ท่านเรียกว่า “ความเจริญ” ใช่หรือไม่?!
.
และที่ท่านทำกับเราเช่นนี้ เพราะท่านคิดว่า “เราโง่” ใช่หรือไม่?!?!
  



กำลังโหลดความคิดเห็น