ยะลา - “อาดิลัน อาลีอิสเฮา ะ” ส.ส.พปชร.ยะลา เชิญหลายฝ่ายร่วมหารือกรณี “เขายะลา” ก่อนนำข้อสรุปเสนอที่ประชุม ครม. พร้อมเดินหน้ารับฟังแนวทางแก้ไข เพื่อให้ “เขายะลา” คงอยู่คู่บ้านเมือง
วันนี้ (14 มี.ค.) ที่บ้านพักของนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.จังหวัดยะลา พรรคพลังประชารัฐ ผู้แทนราษฎร เขต 1 ยะลา ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องในภาคประชาชน ภาคการศึกษา ตัวแทนผู้ประกอบการ และสื่อมวลชนในพื้นที่ร่วมประชุมหารือชี้แจงกรณีเขตโบราณสถาน “เขายะลา” ซึ่งทางกรมศิลปากร ได้ออกประกาศล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 ให้ลดขนาดเขตโบราณสถานเขายะลา จากจำนวน 887 ไร่ ให้เหลือ 697 ไร่ ซึ่งพื้นที่ที่ถูกประกาศมีจำนวน 190 ไร่ เพื่อเป็นการประกอบอุตสาหกรรมหิน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อลดปัญหาหินอุตสาหกรรมขาดแคลน และลดปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่งจากการร่วมประชุมหารือนั้น หลายฝ่ายได้เสนอแนวความคิด และการสอบถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งการรับทราบข้อมูลของเขายะลา ที่เป็นเขตโบราณสถานภาพเขียนสี อีกทั้งยังมีถ้ำมืดที่อยู่ภายในถ้ำนั้นมีหินงอกหินย้อยสวยงาม
โดยจากการประชุมหารือร่วมกันในครั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นว่าประชาชนในพื้นที่ซึ่งอยู่ใน ต.ยะลา และ ต.ลิดล อ.เมือง จ.ยะลา ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการชี้แจง หรือเสนอปัญหา เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวนั้นมาตกผลึกหาข้อสรุปที่ชัดเจนอีกครั้ง แม้ว่าในขณะนี้ทางกรมศิลปากร ได้เตรียมตั้งทีมสำรวจข้อมูลเขายะลาอีกครั้ง
นายประกอบ ชมอินทร์ ตัวแทนผู้ประกอบการเหมืองหิน อ.เมือง จ.ยะลา กล่าวว่า ทั้งนี้ การประกาศของกรมศิลปากรนั้นเป็นการควบคุมพื้นที่ของประทานบัตรเดิม และน่าจะไม่มีผลกระทบต่อเขตเขายะลา เพราะ พ.ร.บ.ปี 2560 นั้น มีการควบคุมผู้ประกอบการดีอยู่แล้ว และจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ภาควิชาเหมืองแร่และวัสดุมาแล้ว เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบอย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน ทางผู้ประกอบการในพื้นที่ก็พร้อมที่จะทำความเข้าใจกับประชาชน และชุมชนในพื้นที่ให้รับทราบโดยทั่วกัน
ด้าน นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ กล่าวว่า ในกรณีข้อถกเถียงเรื่องภาพเขียนสีเขายะลานั้น ข้อมูลจากหลายฝ่ายยังคงแตกต่างกันอยู่ ซึ่งการเชิญหลายฝ่ายเข้าร่วมประชุมหารือในวันนี้ ก็เพื่อเป็นการรับทราบข้อมูลที่ตรงกัน และไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อความถูกต้องในการแก้ไขปัญหา ทั้งด้านของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโบราณสถานเขายะลา ทั้งในส่วนของการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และสุดท้ายคือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองหินในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดสันติภาพสันติสุขร่วมกัน และไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีที่จะนำไปกระจายให้เกิดความขัดแย้ง
“จากการสอบถามข้อมูลของผู้ประกอบการ ในเรื่องของอัตราการขาดแคลนหินอุตสาหกรรมนั้น ทราบว่าปริมาณหินที่มีอยู่ในขณะนี้อาจจะใช้ได้ในอีกระยะเวลา 2-3 ปี แต่ปัจจุบันนี้ปริมาณหินที่มีอยู่ในเหมืองหินที่มีประทานบัตรเหลืออยู่นั้นมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะใช้ในปีงบประมาณ 2563 ในขณะที่รัฐบาลได้วางแผนในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่จะต้องนำไปประชุมหารือประกอบการพิจารณากันว่าจะหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยอาจจะต้องมีการพูดคุยกับหน่วยความมั่นคงเพื่อให้รับทราบปัญหาด้วยว่า ในมิติของหน่วยงานความมั่นคงนั้นมีสิ่งใดที่สามารถจะหนุนเสริม เพื่อจะคลายความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พี่น้องประชาชนว่า หากมีการประกอบการได้แล้ว ประชาชนก็สามารถอยู่ได้โดยไม่ได้รับผลกระทบ และภาพเขียนสีโบราณก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน” นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ กล่าว