ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “บรรจง นะแส” เอ็นจีโอตัวพ่อตื่นแนะคนไทยร่วมเตรียมการรับมือโควิด-19 ระบาดขั้นที่ 3 ที่จะต้องมีมาตรการปิดเมืองด้วย “โครงการบ้านนอกเพื่อคนเมือง” พร้อมยกเอาพื้นที่สวนส่วนตัว 2 ไร่ที่ จ.สงขลา เป็นต้นแบบแล้ว
วันนี้ (13 มี.ค.) นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเสนอให้ผู้คนในสังคมไทยได้ร่วมกันเตรียมการรับมือภาวะโรคโควิค-19 ระบาดใหญ่ขั้นที่ 3 ในประเทศด้วย “โครงการบ้านนอกเพื่อคนเมือง (รับมือสู้กับไวรัสโควิด-19)” โดยมีรายละเอียดประกอบด้วย
ติดตามข่าวมาตรการต่างๆ ในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ไม่ว่าการปิดเมือง กักกันผู้ติดเชื้อ รวมถึงมาตรการป้องกันต่างๆ ผมคิดว่าถ้ามีการระบาดขั้นที่ 3 กลไกรัฐของรัฐบาลไทยของพวกเราคงไม่สามารถรับมือไหวแน่ๆ และผมเชื่อว่าจะเกิดภาวะระส่ำระสาย สับสนอลหม่านขึ้นในสังคมยากที่จะหลีกเลี่ยง
.
เมื่อมีแนวโน้มของสถานการณ์ที่ไม่ดีขึ้น เราควรมาร่วมกันเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์กันดีกว่า
วันนี้ผมขอเสนอโครงการ “โครงการบ้านนอกเพื่อคนเมือง” ด้วยเหตุผล 3 ประการคือ...
.
1.มาตรการปิดเมืองใหญ่เหมือนที่อิตาลีเขาทำ ผมคิดถึงถ้าเราใช้มาตรการนี้กับกรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น หรือเอาแค่หัวเมือง เช่น อ.หาดใหญ่ อำเภอเดียว มาตรการรองรับไม่ว่าเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือรัฐบาลกลาง น่าจะเกินกำลังที่จะดูแลผู้คนที่จะถูกกักให้อยู่แต่ในบ้านได้สักกี่วัน???
.
2.อาหารการกิน เครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับคนเมืองจะหายไปจากตลาด เพราะเมื่อกลไกรัฐไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนได้ การกักตุนอาหารการกิน น้ำ ยารักษาโรค ก็จะเกิดขึ้นอย่างเกินความจำเป็น ความโกลาหลก็จะเกิดขึ้นทุกหัวระแหง
.
3.ผู้คนจะแสวงหาความปลอดภัยเฉพาะตัว เฉพาะครอบครัว ซึ่งก็คงมีผู้คนจำนวนหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ผู้คนในเมืองใหญ่ๆ ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่จะช่วยตัวเองลำบาก ไม่มีที่ไป กลไกรัฐเองก็ไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด ความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นในบ้านเมืองทุกหนแห่ง
.
ผมเลยคิดว่าเราควรเตรียมความพร้อมกันเสียแต่วันนี้ โดยขอเสนอความคิดเห็นในการเตรียมการดังนี้ครับ
.
1) อันดับแรกรัฐบาลควรจะประกาศให้ประชาชนทราบว่า หากเราจะใช้มาตรการ “ปิดเมือง” รัฐจะต้องมีปฏิบัติการอะไรบ้างกี่อย่าง? และจะมีหลักประกันให้ผู้คนว่ามีอาหาร น้ำได้กี่วัน กี่เดือน? และจะใช้ระยะเวลานานเท่าไรให้ประชาชนได้รับรู้โดยทั่วกัน
.
2) ในส่วนข้อเสนอ “โครงการบ้านนอกเพื่อคนเมือง” เพราะผมคิดว่าการอพยพไปอยู่นอกเมืองที่ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน อากาศ อาหารในชุมชนที่พอมี จึงขอเสนอดังนี้ครับ
.
2.1 พื้นที่ว่างๆ ไม่ว่าสวนยาง สวนผลไม้ ทุ่งนา ขนำไร่ปลายนา อันเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ควรขอความร่วมมือให้บุคคลอื่น ครอบครัวอื่นๆ ได้เข้าพัก ใช้ประโยชน์ได้ชั่วคราว (ผมฝันเห็นมีการขึ้นป้ายตามริมถนนว่า “สวนนี้รับได้...กี่คน กี่ครอบครัว” เชิญแวะสร้างที่พักชั่วคราว)
.
2.2 โดยทั่วๆ ไปพื้นที่ห่างไกลเมืองออกไปมักมีปัญหาในเรื่องน้ำและไฟฟ้า ดังนั้นในช่วงนี้หากมีพี่น้องพื้นที่ไหนที่มีความต้องการที่จะใช้เป็นพื้นที่รองรับพี่น้องคนเมืองที่จะต้องอพยพมาอยู่ชั่วคราว ซึ่งคงต้องใช้เวลาหลายเดือน เจ้าของพื้นที่ควรจะได้เตรียมระบบน้ำ ระบบไฟฟ้าไว้รองรับ
.
2.3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.-อบจ.) อาจจะเข้ามาสนับสนุนในช่วงของการเตรียมความพร้อมนี้ เช่น ระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า บางพื้นที่อาจจะอยู่ไกลถนนสายหลักลึกๆ เข้าไป ระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้
.
ผมคิดว่าในพื้นที่ชนบทเหมาะสมกับการรองรับในการเผชิญหน้ารับมือกับไวรัสร้ายนี้ได้ โดยเฉพาะเพื่อสร้างสถานที่ปลอดภัยสำหรับชีวิตของผู้คนที่ต้องการหลีกไปให้ไกลจากโรคนี้ชั่วคราว ผมคนหนึ่งคิดว่าที่สวนในพื้นที่ 2ไร่ มีเล้าไก่ที่ไข่วันละ 10 ฟอง มีขนำ มีบ่อปลา มีระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ สามารถรับพี่น้องคนเมืองได้ 20 คน (อาจจะต้องทำที่พักชั่วคราวเพิ่มหากมากันเป็นครอบครัว)...ขอประกาศ / ยินดีต้อนรับครับ