xs
xsm
sm
md
lg

ตื่นไปทั้งสังคมร่วมต้าน “กรมศิลป์” เอื้อทำลาย “ภาพสีโบราณ” เขายะลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - สังคมตื่นร่วมต้าน “กรมศิลป์” หั่นพื้นที่โบราณสถานเขายะลา “รศ.ศรีศักร” ชวนชาวเน็ตโพสต์ภาพประทับนิ้วมือด้วยหมึกสีแดง ประธานมูลนิธิสืบฯรับลูกทันที ด้าน ส.ต้านโลกร้อนฯยื่นเรื่อง ป.ป.ช.-ผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ขณะที่ 30 องค์กรประชาสังคมที่ชายแดนใต้รุกจี้ กมธ. ตามด้วย อบต.เจ้าของพื้นที่ขอให้มีการตรวจสอบใหม่

จากกรณีกรมศิลปากรออกประกาศเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2562 ลดขนาดพื้นที่ขึ้นทะเบียนเป็นเขตโบราณสถานเขายะลาลงไปจำนวน 190 ไร่ จากที่เคยประกาศไว้จำนวน887 ไร่เมื่อปี 2544 หลังมีการตรวจพบภาพเขียนสีโบราณและขวานโบราณอายุหลายพันปี เวลานี้พื้นที่ขึ้นทะเบียนเป็นเขตโบราณสถานเขายะลาของกรมศิลป์จึงเหลือเพียง 697 ไร่ และส่วนที่ถูกกันออกไปนั้นเป็นที่แน่นอนแล้วว่า เพื่อให้กับผู้ประกอบโรงโม่ได้นำไประเบิดหินเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมก่อสร้างต่างๆ อันมีเป้าหมายรองรับการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังเป็นไปในอัตราเร่ง และนั่นได้ทำให้ผู้คนในสังคมจำนวนมาก โดยเฉพาะชาว จ.ยะลา ได้รวมตัวคัดค้านในนามเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา

 


 
ล่าสุดภาคประชาสังคมและภาคประชาชนหลายภาคส่วนได้เริ่มแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีดังกล่าวมากมาย พร้อมทั้งขอให้กรมศิลปากรยกเลิกประกาศดังกล่าว โดยได้ร่วมกันรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างแข็งขัน และหนึ่งในนั้นที่เป็นที่กล่าวขานคือ วานนี้ (9 มี.ค.) รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา ได้ออกมาร่วมรณรงค์ให้ปกป้องแหล่งโบราณคดีเขายะลา โดยเสนอให้ช่วยกันประทับนิ้วมือด้วยหมึกสีแดงบนกระดาษแล้วนำไปโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมอธิบายว่าการประทับมือลงบนผนังถ้ำของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ นั่นคือ การสัมผัสกับอำนาจนอกเหนือธรรมชาติ
 
“การลดพื้นที่ประกาศเขตโบราณสถานของกรมศิลปากรดังกล่าวไม่สมควรทำ ตามหลักเกณฑ์โบราณคดีสากลนั้น ต้องดูสภาพแวดล้อมด้วยว่าแหล่งโบราณคดีนั้นๆ มีความสัมพันธ์กับความเป็นบ้านเมือง สังคม วัฒนธรรม ในบริเวณโดยรอบหรือไม่ อย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่กรมศิลปากรกลับไม่ได้ดูจุดนี้ กลับดูแต่จุดที่เจอวัตถุโบราณเท่านั้น” รศ.ศรีศักร กล่าว
 
การรณรงค์ดังกล่าวได้มีการเผยแพร่ภาพและรายละเอียดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของนายวรา จันทร์มณี นักวิชาการอิสระและตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา และเมื่อ “MGR Online ภาคใต้” นำเสนอข่าวนี้ออกไปก็มีผู้ใช้เฟซบุ๊กร่วมกันแชร์ออกไปจำนวนมาก รวมถึงนักวิชาการและนักกิจกรรมที่มีชื่อเชียงอย่าง นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่แชร์ข่าวนี้และบอกว่าจะร่วมรณรงค์ด้วย ซึ่งก็มีคนร่วมแชร์ต่อออกไปอีกจำนวนมากเช่นกัน
 
 


 
อีกทั้งยังมีภาคส่วนอื่นๆ อาทิ นายรักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 30 องค์กรแก่ตัวแทนโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้กรมศิลปากรทบทวนคำประกาศดังกล่าว และให้ปรับแก้พื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาประวัติศาสตร์ด้านโบราณคดี
 
นอกจากนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้นำชาวบ้านจำนวนหนึ่งเดินทางมไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้สั่งกรมศิลปากรประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ซึ่งอยู่บริเวณ ต.ลิดล-ต.ยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ให้กลับมามีพื้นที่เท่าเดิม เนื่องจากการใช้อำนาจของกรมศิลปากรอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ซึ่งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนยังได้ยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยเอาผิดและลงโทษไปแล้วด้วย
 
“แต่เนื่องจากประกาศกรมศิลปากรฉบับดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้อยู่ ยังไม่มีการทบทวน แก้ไข ปรับปรุง หรือออกประกาศยกเลิก ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการโรงโม่หินในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีอยู่ 5-6 โรงรอบพื้นที่ภาพเขียนสีเขายะลา ยื่นคำขอประทานบัตรเพื่อระเบิดหินนำหินมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างต่อไปได้” นายศรีสุวรรณกล่าว

 



 
นายกสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อนยังกล่าวด้วยว่า การหาแหล่งหินเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างใน จ.ยะลา ยังมีอีกมากมายหลายพื้นที่ มีปริมาณสำรองมากกว่า 634.45 ล้านเมตริกตัน แต่ภาพเขียนสีที่สะท้อนอารยธรรมของชนชาติมาแต่โบราณ เป็นสมบัติที่ล้ำค่าจะหาสิ่งใดมาทดแทนมิได้ การรักษาภาพเขียนสีดังกล่าวให้คงอยู่คู่บ้านคู่เมืองต่อไปมีหนทางเดียวเท่านั้นคือ ยกเลิกประกาศแก้ไขเขตที่ดินฉบับดังกล่าวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เราจึงนำความมาร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 230 สั่งกรมศิลปากรยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าวเสียโดยเร็ว ซึ่งหากกรมศิลป์ยังเพิกเฉย สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านจะได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป

อย่างไรก็ตาม อบต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เขายะลา ได้แสดงความต้องการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านการสำรวจพื้นที่ หรือผู้ชำนาญด้านโบราณคดีเข้ามาตรวจสอบพื้นที่อย่างละเอียด แม้ที่ผ่านมาจะมีเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้สำรวจภาพเขียนสีโบราณไปแล้ว แต่ยังไม่มีการตั้งทีมสำรวจเป็นขั้นเป็นตอนอย่างละเอียด และด้วยสภาพพื้นที่ รวมทั้งจากการวิเคราะห์พื้นที่ในเบื้องต้นนั้น มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีภาพเขียนสีโบราณ หรือหลักฐานสำคัญด้านโบราณวัตถุที่สำคัญบางอย่างหลงเหลือหรือหลบซ่อนอยู่บ้าง หากเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญเข้าสำรวจแล้วอาจจะพบหลักฐานทางโบราณคดีเพิ่มเติมก็เป็นได้ ก่อนที่เขายะลาบางส่วนจะถูกทำลายเพราะการประกอบอุตสาหกรรมหิน ตามประกาศของกรมศิลปากร
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้มีรายงานระบุว่า ทางเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลาได้ประสานไปยังเครือข่ายภาคประชาสังคมและภาคประชาชนต่างๆ รวมถึงเครือข่ายนักวิชาการ นักกฎหมาย นักปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เดินทางลงสำรวจพื้นที่และร่วมมือกันรณรงค์ปกป้องแหล่งโบราณสถานเขายะลาแล้ว โดยพาะ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม รับปากว่าจะชักชวนนักวิชาการด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาลงพื้นที่ด้วย
 



กำลังโหลดความคิดเห็น