xs
xsm
sm
md
lg

ม.อ.จับมือ 5 คณะเร่งสร้างการรับรู้ “สมุนไพรไทยกระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัส”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จับมือ 5 คณะ เร่งสร้างการรับรู้ “สมุนไพรไทยกระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัส” เน้นรับประทานอาหารอย่างชาญฉลาด ด้วยการบริโภคที่หลากหลาย

วันนี้ (10 มี.ค.) ที่ศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ฯ (ตึก LRC) ชั้น 14 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ เปิดการเสวนา “สมุนไพรไทยกระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัส” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ นักวิจัยศูนย์วิจัยความเป็นเลิศยาสมุนไพรและเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ รศ.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ อาจารย์สมพร ชาญวณิชย์สกุล อาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย คณะการแพทย์แผนไทย ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ปาริชาติ วิสุทธิสมาจาร ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศชุมชน คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผู้สนใจตลอดจนสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในหลายประเทศทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการป้องกันตนเอง และคนในครอบครัว หนึ่งในวิธีที่สามารถทำได้ คือการรับประทานสมุนไพรใกล้ตัวที่หาได้ในครัวเรือน เช่น ขมิ้น พริก ขิง ข่า ตะไคร้ มะนาว เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค เช่น ไวรัส เป็นต้น ซึ่งขอย้ำว่าสมุนไพรดังกล่าว เป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่เป็นการรักษาโรค
 


 
ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม จึงได้ร่วมกับคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะการแพทย์แผนไทย และคณะเภสัชศาสตร์ จึงได้จัดการเสวนา “สมุนไพรไทยกระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัส” ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับการรับประทานสมุนไพรไทย พร้อมให้ทุกคนตระหนักในการป้องกันตนเอง และคนในครอบครัวด้วยสมุนไพรไทย นอกเหนือจากการป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่ชุมชน และการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

ขณะที่ รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ นักวิจัยศูนย์วิจัยความเป็นเลิศยาสมุนไพรและเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ กล่าวว่า การวิจัยเรื่องสมุนไพรไทยในการสร้างภูมิคุ้มกันโรค เริ่มเป็นที่สนใจ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การระบาดของโรคซาร์ส เมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งไวรัสโรคซาร์สอยู่ในกลุ่มปอดอักเสบ กลุ่มเดียวกับโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งนี้ มีการวิจัยค้นพบว่า “พลูคาว” ซึ่งปกติคนไทยรับประทานเป็นอาหารอยู่แล้ว ถือเป็นผักมีผลในการกระตุ้นอิมมูน (Immune) หรือภูมิคุ้มกัน ภูมิต้านทานโรคได้

ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายตนเองได้ดีที่สุด คือการรับประทานอาหาร สมุนไพร ผัก และผลไม้หลากสีในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพราะหากรับประทานมากเกินความจำเป็น จะทำให้ตับและไตทำงานหนักขึ้น จึงเน้นย้ำให้ทุกคนรับประทานอาหารให้ชาญฉลาด ด้วยการบริโภคที่หลากหลาย ปลอดสารพิษ เพื่อการป้องกันตนเองจากโรคต่างๆ รวมทั้งโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ด้วย
 
















กำลังโหลดความคิดเห็น