xs
xsm
sm
md
lg

“ตันกิมเจ๋ง” กงสุลไทยคนแรก ณ เมืองสิงคโปร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองกระบุรีและผู้มากบารมีบนแผ่นดินลอดช่อง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จากนาบอนถึงริมฝั่งเจ้าพระยา  /  โดย... ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที ผู้ดำเนินรายการสภากาแฟช่อง NEWS 1
 

พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 แขวนประดับโดดเด่นอยู่ที่บ้านสยามเฮาส์
  
ในหนังสือ “ตำนานคนฮกจิว จากแผ่นดินแม่สู่แผ่นดินหนานหยาง” ตามหน้าปกพ็อกเกตบุ๊กออกใหม่ล่าสุดของสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์เล่มนี้ นำรูปภาพฮวงซุ้ยของ “ตันกิมเจ๋ง” หรือ “พระยาอัษฎงคตทิศรักษา สยามประชานุกูลกิจ” ที่อยู่ในสุสานบนเนินเขาโกปี้ฮกเกี้ยน (Kopi Sua in Hokien) ที่ประเทศสิงคโปร์มาลงไว้ ซึ่งมีหลักฐานบอกเล่าไว้ว่า ท่านเป็นผู้ประสานงานให้ “แอนนา ลีโอโนเวนส์ (Anna Leonowens)” หรือ “แหม่มแอนนา” มาสอนภาษาอังกฤษในสังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 4
 
ที่น่าสนใจและนำไปสู่การค้นคว้าเรื่องราวของบรรพชน “เปอรานากันชาวฮกเกี้ยน” ชนผู้มีถิ่นกำเนิดที่จังหวัดมะละกา ประเทศมาเลเซีย ลูกจีนโพ้นทะเลที่เกิดในแผ่นดินทะเลใต้ (หนานหยาง) “เปอรานากัน” “บาบ๋า” “ยาหย๋า” ล้วนเป็นผู้มีส่วนขับเคลื่อนความเจริญทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมบนแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออุษาคเนย์ ทั้งเหมืองแร่ดีบุก สวนยางพารา และภาษีส่วยอากรทั้งหลาย
 

รูปภาพ “ท่านตันกิมเจ๋ง” ตั้งอยู่ที่บ้านผ่านฟ้า บริเวณถนนราชดำเนิน สะพานผ่านฟ้า กรุงเทพมหานคร (ซ้าย) รูปภาพ พระยาอนุกูลสยามกิจ อุปนิกษิตสยามรัฐ เปอรานากัน ฮกเกี้ยนสิงคโปร์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือทางการค้าต่อราชอาณาจักรสยามยุคอาณานิคม (ขวา)
 
ที่น่าสนใจอีกก็คือ โรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศสิงคโปร์ อันเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งมาก่อนที่สิงคโปร์จะแยกตัวออกไปตั้งประเทศใหม่จากสหพันธรัฐมาเลเซีย โรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งตามชื่อของผู้สร้างหรือผู้อุปถัมภ์รายใหญ่คือ “โรงพยาบาล Tan Tock Seng” ซึ่งเป็นบิดาของท่านตันกิมเจ๋ง หรือพระยาอัษฎงคตทิศรักษา สยามประชานุกูลกิจ นั่นเอง
.
ท่านตันกิมเจ๋ง เกิดเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2349 ณ เมืองมะละกา และท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่14 มีนาคม พ.ศ.2407
.

“บ้านสยามเฮาส์” หลังจากท่านตันกิมเจ๋งเสียชีวิตลงที่สิงคโปร์ ลูกหลานบางส่วนก็กลับบางกอกมาอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้
 
ท่านตันกิมเจ๋ง เป็นบุคคลสำคัญที่บุกเบิกและสร้างระบบการส่งน้ำ หรือระบบการประปาให้แก่สิงคโปร์ ก่อนจะมาเป็นประเทศสิงคโปร์ในทุกวันนี้ด้วย
.
มีบันทึกในพระราชหัตเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายูว่า...
.
“...เสด็จทอดพระเนตรโรงงานสับปะรดของตันตั้วฮี้ หลานพระยาอนุกูลสยามกิจ (ตันกิมเจ๋ง) สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนนบิชโรต ที่ดินซึ่งปลูกสร้างโรงงานนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้แก่รัชกาลที่ 5 ตันตั้วฮี้เช่าโดยทูลเกล้าฯ ถวายค่าเช่าเดือนละ 50 เหรียญ...” 
 

ฮวงซุ้ยของ Tan-kim-ching ตั้งอยู่เนินเขา Kopi Sua in Hokien ที่สิงคโปร์
 
ในวันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2433 ก่อนย่ำรุ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า พระราชดำเนินลงเรือที่ท่าเรือ Johnston’s Pier กลับสู่เรือพระที่นั่งอุบลบูรพทิศ เสด็จออกจากเมืองสิงคโปร์ พระองค์มีพระราชหัตถเลขาถึงการเสด็จประพาสและการส่งเสด็จว่า…
.
…พระยาอนุกูล พระยารัตนเศรษฐี ตันซุนโต กับลูกพระยาอนุกูลอีก 1 คนมาส่ง พระยาอนุกูลน้ำตากลบตา…”
.
ความรัก ความผูกพันที่ครอบครัวตันกิมเจ๋งส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 5 ช่างมีความหมายสำหรับผมที่ได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้ ค้นคว้า ติดตาม เห็นพัฒนาการของรัฐสยามเมื่อครั้งอดีตผ่านเอกสารที่มีบันทึกไว้
 

โรงพยายาล Tan Tock Seng ที่ถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติประวัติให้ครอบครัว “ตันกิมเจ๋ง”
 
หลังจากจัดรายการเสร็จที่สถานีโทรทัศน์ NEWS 1 ผมเองตั้งใจที่จะเดินทางไปที่บ้านเก่าหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ริมคลองสะพานผ่านฟ้า ชื่อว่า “บ้าน Siam House” สายสาแหรกของท่านตันกิมเจ๋ง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับถนนราชดำเนิน บริเวณสะพานผ่านฟ้า เป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามสไตล์โคโลเนียล มีข้อมูลบอกเอาไว้ว่า...
 
“...นางเชย วัชราภัย เป็นธิดาคนโตของนายคง อนุกูลสยามกิจ เมื่ออายุได้ 9 ขวบ หลังจากปู่ ท่านตันกิมเจ๋ง (พระยาอนุกูลสยามกิจ อุปนิกษิตสยามรัฐ กงสุลใหญ่ประจำสิงคโปร์ถึงแก่กรรม นางเชยก็ได้ย้ายติดตามพ่อกับแม่และย่า กลับมาอยู่ที่บางกอก บ้านหลังนี้...” 
.

บรรยากาศท่าเรือสิงคโปร์ ความพลุกพล่านของเรือเดินทะเลเมื่อครั้งที่ยังอยู่ในยุคสมัยเดียวกับการเสด็จประพาสแหลมมลายู
 
กว่าจะมาเป็นรัฐสยาม มีตำนาน มีเรื่องบอกเล่าตั้งมากมาย ซึ่งมีพัฒนาการมาจากการเข้ามาของชาติตะวันตกในยุคอาณานิคมที่ไล่ล่าเมืองขึ้นในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง
.
ขณะเดียวกัน เราก็จะเห็นการปรับตัวของรัฐสยามเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เพื่อมิให้ชาติตะวันตกดูแคลน ดูถูก อ้างเอาเหตุผลของชาติที่เหนือกว่าของเรือปืนที่คุมอยู่ในน่านน้ำทะเลใต้ เพื่อข่มเหงรัฐสยาม
.
และแน่นอนว่าในพัฒนาการของสังคมในช่วงที่ผ่านมา เราก็เห็นเปอรานากันชาวจีนโพ้นทะเลได้เข้าไปมีส่วนขับเคลื่อนสังคมในช่วงดังกล่าวเช่นกัน
.

“โรเบิร์ตก๊วก” มหาเศรษฐีและบุคคลผู้ทรงอิทธิพลสายเลือดเปอรานากันชาวจีนฮกจิว เจ้าของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำตาลขนาดใหญ่ของโลก และยังเป็นเจ้าของ Kerry express อีกด้วย
 
พัฒนาการการเปลี่ยนแปลงในสายธารของกาลเวลา มีประวัติศาสตร์ มีตำนานของชีวิตผู้คน
.
ใกล้เทศกาลเช็งเม้งของเหล่าลูกหลานจีนโพ้นทะเลในช่วงนี้ จึงขอนำเรื่องราวของ “ท่านตันกิมเจ๋ง” มาเล่าฝากไว้ให้เหล่าลูกหลานเปอรานากันชาวจีนโพ้นทะเล ได้มีการบันทึกไว้ในกาลเวลาให้ได้รับรู้เรื่องราวของท่าน
 
เพื่อมิให้เรื่องราวของเหล่า “บรรพชนเปอรานากัน” หายไปในเกลียวคลื่นของกาลเวลา โดยเฉพาะบน 2 ฟากฝั่งมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก!
 

“ตำนานคนฮกจิว จากแผ่นดินแม่สู่แผ่นดินหนานหยาง” พ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ จองวันนี้ถึง 20 มี.ค.2563 ลดจากราคา 250 บาท เหลือเพียง 200 บาทถ้วน
 
หมายเหตุ : ขอบพระคุณข้อมูลรายละเอียดจาก ท่านนิกร ทัสสโร และ ศ.ดร.ภูวดล ทรงประเสริฐ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น