xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง! อดีตอธิบดีกรมศิลปากรผู้ลงนามประกาศลดพื้นที่ “เขายาลอ” พบพื้นเพเป็นคนยะลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ยะลา - อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ผู้ลงนามประกาศลดพื้นที่โบราณสถาน "ภาพเขียนสีเขายาลอ" พบพื้นเพเป็นคนยะลา

วันนี้ (5 มี.ค.) จากกรณีที่กรมศิลปกากร ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2563 โดยนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ในคำประกาศให้มีการลดพื้นที่โบราณสถานเขายะลา จาก 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ให้เหลือเพียง 697 ไร่ 75 ตารางวา ซึ่งพบว่าพื้นที่ที่ได้ออกประกาศลดไปมีจำนวน 190 กว่าไร่

โดยเขายะลา หรือเขายาลอ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ยะลา ติดรอยต่อ ต.ลิดล อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นเขตพื้นที่โบราณสถานภาพเขียนสี ที่ทางกรมศิลปากร โดยนาวาอากาศเอกอาวุธ ชูกลิ่น อธิบดีกรมศิลปากร (ในขณะนั้น) ได้ออกประกาศไว้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2544 ซึ่งจากการประกาศขึ้นทะเบียน เนื่องจากมีการสำรวจพบ จำนวน 3 จุดด้วยกัน ทั้งภาพเขียนสีโบราณ และข้าวของเครื่องใช้โบราณบนเขายะลาดังกล่าว
 


 
แต่การออกประกาศล่าสุด ในการลดพื้นที่โบราณสถานเขายะลา ทำให้เกิดความงุนงงกับผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งคนยะลาจำนวนมากที่ทราบการประกาศ โดยในการประกาศล่าสุดนั้น ทางกรมศิลปากรได้ให้เหตุผลในคำประกาศว่า "ในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนหินอุตสาหกรรม และเพื่อลดเหตุรุนแรงจากสถานการณ์ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้"

ทั้งนี้ ทราบว่าหลังจากการเซ็นคำสั่งลงนามประกาศ โดยนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ในวันที่ 30 กันยายน 2562 แล้ว นายอนันต์ ชูโชติ ก็ได้เกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2562

นอกจากนี้ ยังทราบว่า นายอนันต์ ชูโชติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ผู้ที่ลงนามออกคำสั่งลดพื้นที่เขตโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา พื้นเพเดิมเคยศึกษาและเรียนจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยม หรือ ม.ศ.3 ที่โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุงยะลา
 


 
สำหรับสาเหตุของการออกคำสั่งดังกล่าวนั้น ขณะนี้หลายข้อมูลข่าวบ่งชี้ไปถึงการเอื้อต่ออุตสาหกรรมการทำเหมืองหิน ซึ่งในจังหวัดยะลานั้นมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองหินที่ดำเนินการอยู่ประมาณ 5-6 ราย

และการออกคำสั่งดังกล่าวมีความเป็นได้เพียงใดที่หน่วยงานในจังหวัด ทั้งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรณีวิทยา จังหวัดยะลา จะไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะตามขั้นตอนการปฏิบัติแล้วนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการขออนุญาตประกอบการ และการดูแลพื้นที่ทางทรัพยากร จะต้องมีข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ไว้อยู่แล้ว

ในส่วนของกรมศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานใหญ่ในการด้านอนุรักษ์โบราณสถานล้ำค่า ก็มิได้เข้ามาดูแลพื้นที่ "เขายะลา" หรือ "เขายาลอ" อย่างจริงจัง กลับปล่อยให้หน่วยงานในพื้นที่อย่าง อบต.ดูแลตามอัตภาพ และไม่สามารถจะดำเนินการใดๆ ในการพัฒนา หรือการปกป้องดูแลได้ เนื่องจากพื้นที่อยู่ในเขตของการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
 




กำลังโหลดความคิดเห็น