ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา ยื่นหนังสือถึง รมว.วัฒนธรรม ขอให้ยกเลิกประกาศลดขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา หลังอธิบดีกรมศิลปากร เซ็นอนุมัติเพื่อเปิดทำสัมปทานเหมืองหิน หวั่นกระทบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ
วันนี้ (5 มี.ค.) กลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ขอให้ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร ในการแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ในขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา เพื่อคุ้มครองโบราณสถานและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและชุมชน หลังกรมศิลปากรประกาศแก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ในพื้นที่ ต.ลิดล และ ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา จากเดิมขนาด 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ลดเหลือ 697 ไร่ 75 ตารางวา โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และลดการก่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้
นายวรา จันทร์มณี ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา เปิดเผยว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่โบราณสถานที่สำคัญ และอาจเป็นพื้นที่ทางโบราณคดีผืนใหญ่ผืนสุดท้ายในพื้นที่ชายแดนใต้ จากเหตุผลในการลดพื้นที่ ยังไม่เพียงพอในการระเบิดภูเขาเพื่อการอุตสาหกรรม และไม่เกี่ยวข้องกับการลดการก่อความไม่สงบ การระเบิดหินจะส่งผลกระทบต่อภาพเขียนสี และทำให้พื้นที่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เสียหาย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เกิดเหตุการณ์ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ยาว 3 เมตร ถล่มจากการระเบิดหิน
ขณะที่ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ระบุชัดเจนว่า พื้นที่ทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่เขตโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย การแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานครั้งนี้ จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการทำเพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน นอกจากนี้ การประกาศเปลี่ยนแปลงพื้นที่ก็ไม่ได้มีการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ และไม่มีการศึกษาหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงยังตั้งข้อสังเกตว่า การลงนามเปลี่ยนแปลงขอบเขตเกิดขึ้นในวันสุดท้ายในการปฏิบัติราชการของอธิบดีกรมศิลปากร คนก่อนด้วย
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายจึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงการกระทำของอธิบดีคนก่อนว่ากระทำไปอย่างถูกต้องหรือไม่ ขอให้กรมศิลปากรเร่งสำรวจพื้นที่ ต.ลิดล และ ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อศึกษาความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์ เร่งสำรวจ และประกาศเขตที่ดินโบราณสถานในพื้นที่ภูเขาที่ตกค้าง ไม่เปิดให้เกิดการตัดเฉือนเพื่อทำลายอีก และกระทรวงวัฒนธรรม ต้องให้ความสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เร่งสร้างการอนุรักษ์โบราณสถานโบราณคดีให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ขณะที่ นายประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ยืนยันว่า กระทรวงวัฒนธรรมให้ความสำคัญต่อพื้นที่ดังกล่าว โดยจะรับข้อร้องเรียนดังกล่าวนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป
ด้าน นายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า จะเร่งทำการตรวจสอบ ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีการทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้านในพื้นที่ ก่อนมีการประกาศลดพื้นที่นั้น การทำประชาพิจารณ์เพื่อทำสัมปทานเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ก็จะต้องมีการพูดคุยเพิ่มเติมต่อไป