xs
xsm
sm
md
lg

“ก้อนน้ำมัน” จมหน้าหาดหัวไทรมหาศาล จับตาแพนํ้ามันบางส่วนมุ่งหน้าเกาะสมุย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
นครศรีธรรมราช - เปิดภาพมุมสูง “ก้อนน้ำมัน” มหาศาลตกตะกอนหน้าหาดหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช หลังคลื่นลมสงบ ทัพเรือส่งทหารเข้าช่วยประมงชายฝั่งทำความสะอาด พร้อมส่งอากาศยานติดตามแพน้ำมันพบมุ่งหน้าเกาะสมุย

ปัญหาก้อนน้ำมัน หรือที่เรียกว่า “ทาร์บอล” ที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช กลายเป็นปัญหาที่จัดการแก้ไขได้ยาก นอกจากจะทำลายนิเวศน์หาดแล้วนั้น เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา หลังจากที่คลื่นลมเริ่มสงบ ก้อนน้ำมันที่เป็นสารแขวนลอยอยู่ในน้ำทะเลที่ถูกซัดเข้าฝั่งก่อนหน้านี้ ปรากฏว่าเริ่มมีการตกตะกอนตลอดแนวหาดของ อ.หัวไทร กว่า 25 กิโลเมตร มีความหนาแน่นของน้ำมันที่แตกต่างกันไปตามการไหลของร่องน้ำ ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านที่ต้องนำเรือขึ้นฝั่งบริเวณริมหาดได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และต้องหยุดการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ปลาจวดไส้แตก ปลาจวดสองซี่ บริเวณหน้าหาด เนื่องจากพบว่ามีการปนเปื้อนของก้อนน้ำมัน

ขณะเดียวกัน น.อ.วรรณะ เกื้อทิพย์ ผู้อำนวยการกองสำนักงานฝ่ายอำนวยการ ศรชล.ภาค 2 นำกำลังทหารจากฐานทัพเรือสงขลา จำนวน 50 นาย เข้าให้การช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้านริมทะเลหัวไทร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเทศบาลตำบลหน้าสตน เข้าทำความสะอาดชายหาดด้วยการใช้แรงงานตักก้อนน้ำมัน ทั้งชนิดที่เป็นก้อน และแบบละลายเยิ้ม หลังจากนั้นเทศบาลตำบลหน้าสตนจะนำไปทำลาย แต่พบว่าการเก็บด้วยแรงงานนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากปริมาณก้อนน้ำมันมีเป็นจำนวนมาก

น.อ.วรรณะ เกื้อทิพย์ ผู้อำนวยการกองสำนักงานฝ่ายอำนวยการ ศรชล.ภาค 2 เปิดเผยว่า มีการเก็บตัวอย่างไปตรวจที่มา คล้ายๆ กับการตรวจดีเอ็นเอว่าเป็นผลิตจากที่ไหน ซึ่งหากพูดไปก่อนมันเหมือนจะเป็นการปรักปรำ ในส่วนที่ลอยอยู่กลางทะเลได้เฝ้าติดตามด้วยเครื่องมือของกองทัพเรือ ทั้งอากาศยาน และเรือตรวจการณ์ กลุ่มที่พบค่อนไปทาง อ.สิชล ปรากฏว่าไม่ได้ขึ้นฝั่งที่สิชล แต่น่าจะมุ่งหน้าไปยังเกาะสมุย โดยกำลังเร่งประสาน ศรชล.จังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าดำเนินการสกัดกั้น และอาจต้องมีการเก็บกลางทะเล

ด้านชาวประมงพื้นบ้านกำลังวิตกกังวลว่า หลังจากที่คลื่นลมได้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ อาจทำให้ก้อนน้ำมันเริ่มจมตัวลงไปยังพื้นทะเล ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าปริมาณน้ำมันที่แพร่กระจายออกมานั้น มีปริมาณมากแค่ไหน เฉพาะฝั่ง อ.หัวไทร พบได้ตลอดทั้งแนว 25 กิโลเมตร โดยปริมาณที่ยังไม่ขึ้นฝั่งยิ่งไม่มีใครตอบได้ว่าจะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลแค่ไหน
 










กำลังโหลดความคิดเห็น