ปัตตานี - สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี ร่วมกับเครือข่ายวิชาการ 24 องค์กร เผยผลสำรวจความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ พบกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กังวลใจว่าการเจรจาจะไม่ยุติความรุนแรงได้จริง อาจจะทำให้เกิดความรุนแรงมากกว่าเดิม แต่ยังสนับสนุนให้มีการพูดคุยกัน ยังมีความหวังจะเกิดสันติภาพในอีก 5 ปีข้างหน้า
วันนี้ (29 ก.พ.) ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับเครือข่ายวิขาการ 24 องค์กร จัดแถลงผล “การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ครั้งที่ 5” ที่ได้ดำเนินการสำรวจในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.2562 โดยสอบถามความคิดเห็นของประชาชนอายุระหว่าง 18-70 ปี ที่อาศัยอยู่ใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จำนวน 1,637 คน
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า เหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่เดือน ม.ค.2547-ต.ค.2562 มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบในพื้นที่เกิดรวมทั้งสิ้น 20,451 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 7,053 คน บาดเจ็บ 13,209 คน รวม 20,262 คน เมื่อกล่าวโดยภาพรวม เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยทั่วไปถือได้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงลดลง แต่ว่าความแปรปรวนของสถานการณ์ความไม่สงบยังคงมีอยู่ ซึ่งผลการสำรวจครั้งนี้พบว่า มีผู้ตอบถึงร้อยละ 72.8 รู้สึกว่าสถานการณ์เหมือนเดิมและแย่ลง ทั้งนี้ ความนิยมของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลดลงในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา โดยได้คะแนนเฉลี่ย 4.21 จากคะแนนเต็ม 10
“แม้ความขัดแย้งจะยืดเยื้อมากว่า 17 ปี แต่ประชาชนยังเชื่อมั่นว่า การพูดคุยเจรจาจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา โดยผู้ตอบร้อยละ 55.1 สนับสนุนแนวทางนี้ แต่ก็ยังมีผู้ตอบกว่าร้อยละ 21 ที่ยังไม่แน่ใจ เนื่องจากอาจมาจากการมองว่าการพูดคุยในช่วงปีที่ผ่านมายังไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้งนี้ ประชาชนผู้ตอบส่วนใหญ่ร้อยละ 59.4 กังวลว่า การพูดคุยจะไม่ยุติความรุนแรงได้จริง รองลงมาคือ ร้อยละ 57.1 กังวลว่า การพูดคุยอาจทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นกว่าเดิม และร้อยละ 53.8 กังวลว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการพูดคุยจะไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.7 ยังมีความหวังว่าจะเกิดข้อตกลงสันติภาพในพื้นที่ในอีก 5 ปีข้างหน้า”
ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า ข้อสังเกตเรื่องประเด็นอะไรเป็นสาเหตุความรุนแรง จะเห็นว่าประชาชนระบุว่า (1) กลุ่มยาเสพติด ค้าของเถื่อน ผู้มีอิทธิพล มีผู้เลือก ร้อยละ 25.9 (2) ทหารพราน มีผู้เลือกร้อยละ 16.2 (3) ขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) มีผู้เลือกร้อยละ 15.3 และ (4) คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ ร้อยละ 12.9 แต่ข้อบ่งชี้ว่าผู้ตอบข้อที่คะแนนมากที่สุดกลับเป็นข้อที่บอกว่าไม่รู้และไม่ขอตอบจำนวนร้อยละ 55.5 การที่มีผู้บอกว่าไม่รู้และไม่ขอตอบมากกว่าครึ่งของผู้ตอบทั้งหมดก็แสดงว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังลังเลใจหรือมีความระมัดระวังตัวมากในการตอบคำถามข้อที่มีความอ่อนไหวสูงเช่นนี้ เนื่องจากคำถามเป็นการให้ระบุตัวแสดงที่แท้จริงในการก่อความรุนแรงในสถานการณ์ที่ยังไม่มีหลักประกันความปลอดภัย ผู้ตอบจึงยังมีความอ่อนไหวมากและมีแนวโน้มที่จะเลือกด้วยการไม่ตอบ การเลือกไม่ตอบจำนวนมากเป็น “เสียงเงียบที่จะต้องให้ความสนใจ” ด้วยเช่นกัน