xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเกาะสมุยเตรียมเฮ! สะพานเชื่อมแผ่นดินใหญ่ใกล้แค่เอื้อม คาด 3 ปีได้เห็นเสาตอม่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุราษฎร์ธานี - ชาวเกาะสมุยและขนอม เตรียมเฮ สะพานเชื่อมสมุยแผ่นดินใหญ่มีสิทธิเกิด หลังนายกรัฐมนตรีไฟเขียว มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม สั่งการให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแล ส.ส.นครศรีฯ พปชร. คุยโวหากไม่ติดขัดอะไร เชื่อภายใน 3 ปี ได้เห็นตอม่อสะพาน

รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.เขต 1 จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายสายัญห์ ยุติธรรม ส.ส.เขต 7 จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ที่ห้องประชุมสภาย่อย สภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา เกียกกาย ภายหลังจากที่เสร็จสิ้นการประชุมสภา อภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐบาลได้ปิดฉากลง ตนได้ปรึกษา และเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกัฐมนตรี เพื่อปรึกษาในเรื่องของสร้างสะพานข้ามอ่าวไทยเชื่อมต่อแผ่นดินใหญ่ ระหว่างอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีไม่ได้ขัดข้อง พร้อมสอบถามว่าที่ได้ตั้งคณะกรรมาธิการไปถึงไหนแล้ว ภายหลังตนได้รายงานถึงการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ ทางนายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งให้ทางประธานบอร์ด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ.รับเรื่องไปพิจารณา


ต่อมา รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.เขต 1 นครศรีธรรมราช และนายสายัญห์ ยุติธรรม ส.ส.เขต 7 นครศรีธรรมราช 2 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เชิญ นายธิษัณย์ พฤทธิพงษ์ หัวหน้าวิเคราะห์วิศวกรรมการทางพิเศษแห่งประเทศไทย น.ส.กชพรรณ เข็มทอง ผู้อำนวยการกองวางแผนและวิเคราะห์โครงการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย นายเอนก โคตรพรมศรี ผู้อำนวยการกองจัดการสิ่งแวดล้อม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย นายภานุศานต์ คงจันทร์ พนักงานบริหารทั่วไป 7 ฝ่ายบริหารทั่วไป การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ร่วมประชุมและวางแผนหาแนวทางเข้าแผนศึกษาออกแบบสะพานข้ามอ่าวไทย เพื่อเชื่อมกับแผ่นดินใหญ่ ระหว่างอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้

รศ.ดร.รงค์ กล่าวอีกว่า การประชุมในครั้งนี้กับเจ้าหน้าที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้นำเรื่องดังกล่าวไปตรวจสอบข้อมูล ตรวจสอบข้อดีและข้อเสีย ให้พร้อมที่จะนำคณะกรรมการลงพื้นที่ทำประชาพิจารณ์ ซึ่งหากไม่ติดขัดกับสิ่งอื่นสิ่งใด ตนเชื่อว่าภายใน 3 ปี หรือประมาณปี 2565-2566 ชาวเกาะสมุย และชาวขนอมจะได้เห็นตอม่อสะพาน และขณะเดียวกัน ชื่อสะพานอาจจะไปใช้ชื่อสะพาน ยกตัวอย่าง เช่น สะพานพระปิ่นเกล้า หรือสะพานพระปกเกล้า เป็นชื่อสะพานเพื่อเป็นอนุสรณ์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนว่าเอา หรือไม่เอาสะพานข้ามแผ่นดินใหญ่ ระหว่างอำเภอขนอม อำเภอเกาะสมุย หากประชาชนเห็นชอบ ภายใน 3-4 ปี สะพานดังกล่าวจะเกิดขึ้นทันที และนี่ไม่ใช่เรื่องขายฝัน


“ในขณะเดียวกัน การศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ก็ต้องทำควบคู่ไปด้วยกัน กับเรื่องของการขยายผังเมืองในเกาะสมุย ที่ส่วนราชการเองก็ต้องนำไปปรึกษาและหาวิธีการเพื่อให้สอดคล้องกัน ซึ่งหากเป็นไปตามที่ได้ประชุมและหารือการศึกษาระบบต่างๆ เชื่อในอนาคตเกาะสมุย และขนอม จะเป็นเมืองเศรษฐกิจทั้งสองฝั่ง” รศ.ดร.รงค์ กล่าวในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น