นครศรีธรรมราช - ชาวประมงพื้นบ้านมั่นใจ น้ำมันเกลื่อนหาดหัวไทรยาว 25 กม. มาจากแท่นขุดเจาะจี้หาผู้รับผิดชอบ ล่าสุดพบ “เต่ากระ” เปื้อนน้ำมันเกยหาด ชาวบ้านช่วยเหลือนำส่งเจ้าหน้าที่ดูแลต่อ
วันนี้ (28 ก.พ.) ผู้นำชุมชนประมงพื้นบ้าน และผู้นำกลุ่มอนุรักษ์ธนาคารปูม้า ใน ต.เกาะเพชร และ ต.หน้าสตน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช กำลังกังวลกับกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล หลังจากตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คลื่นลมรุนแรงได้ซัดเอาก้อนน้ำมัน หรือที่เรียกว่า “ทาร์บอล” รวมทั้งคราบน้ำมันเข้ามาเกยหาดอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายให้กับชายหาดอย่างรุนแรง โดยที่ไม่มีหน่วยงานใดแสดงความรับผิดชอบ และระบุถึงที่มาของน้ำมันปริมาณมหาศาลตลอดแนวชายฝั่งของ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช และได้รับการยืนยันว่า น้ำมันลักษณะนี้ยังเกยหาดไปจนถึง อ.ระโนด และ อ.สทิงพระ จ.สงขลา
นายอาหมัด จรเมือง ประธานธนาคารปูม้าบ้านหนองมนต์ และผู้นำประมงพื้นบ้าน ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร ได้ร่วมหารือกับกลุ่มประมงพื้นบ้านอนุรักษ์หน้าศาลเหนือ ประธานธนาคารปูม้าทะเลหลวงสาม และสมาชิกลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านกว่า 10 คน เพื่อพยายามหาทางแก้ไขปัญหาให้กับประมงพื้นบ้าน ซึ่งไม่มั่นใจว่าปรากฏการณ์นี้เกิดจากกิจกรรมแท่นเจาะ หรือการขนส่ง ตลอดแนวชายหาดของ อ.หัวไทร รวม 25 กิโลเมตร เต็มไปด้วยน้ำมันตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันผู้สันทัดกรณีได้ให้ข้อมูลชาวประมงว่า น้ำมันจำนวนมากที่เกิดขึ้นมาจากการขุดเจาะน้ำมัน
ขณะเดียวกันชาวประมงพื้นบ้านในฐานะเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ได้ให้ความช่วยเหลือเต่ากระ น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม เปื้อนคราบน้ำมันมาเกยหาดที่บริเวณ ต.เกาะเพชร โดยชาวบ้านได้ทำความสะอาดกระดองเต่า แล้วนำมาอนุบาลไว้ที่ธนาคารปู ต.เกาะเพชร แล้วแจ้งประสานไปยังศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จ.ชุมพร เพื่อมารับไปฟื้นฟูสุขภาพตามขั้นตอนต่อไป
นอกจากนั้น ผู้สื่อข่าวยังได้รับข้อมูลจากวิศวกรปิโตรเลียมอาวุโสรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า น้ำมันที่ปรากฏตลอดแนวหาดขณะนี้ เป็นน้ำมันดิบจากกิจกรรมแท่นขุดเจาะ และการขนส่ง ด้วยความผิดพลาดบกพร่องรั่วไหลออกมานอกระบบท่อ น้ำมันจะลอยปริ่มผิวน้ำทะเล จะมีกรรมวิธีคือการฉีดพ่นสารเคมีชนิดหนึ่งไปบนน้ำมันดิบ ทำให้โครงสร้างทางเคมีของน้ำมันดิบเปลี่ยนแปลง จะจับตัวมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และจมลงใต้ทะเล กลายเป็นก้อนที่เรียกว่า “ทาร์บอล” หลังจากคลื่นลม และกระแสน้ำทะเลรุนแรงจะพัดเข้าหาฝั่งเมื่อเกยหาด ถูกความร้อนจากแสงแดดจะละลายอย่างที่ปรากฏ
ซึ่งตลอดแนวหาดของ อ.หัวไทร กว่า 25 กิโลเมตร พบน้ำมันทั้งหมดปริมาณมหาศาล เป็นไปไม่ได้ที่จะออกมาจากเครื่องจักรกล หรือเรือเดินสมุทรใดๆ แน่นอน และที่สำคัญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะมีข้อมูลที่เรียกว่า “ฟิงเกอร์ปริ้น” หากนำตัวอย่างไปวิเคราะห์หาโครงสร้างจะทราบว่าน้ำมันเหล่านี้มาจากหลุมขุดเจาะแหล่งใด ของผู้ประกอบการรายใด เพียงแต่ว่าจะเปิดเผยข้อมูลหรือไม่เท่านั้น