xs
xsm
sm
md
lg

แนะแก้ไขร่างกฎหมายซ้อมทรมาน-อุ้มหายให้เป็นไปตามอนุสัญญา-บริบทสังคมไทยให้มากที่สุด (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - วงเสวนาการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ชี้ร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมทำออกมาดี แต่ควรแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นไปตามอนุสัญญาให้มากที่สุด พร้อมทั้งคำนึงถึงบริบทสังคมไทย แฉซ้อมทรมานยุคใหม่สั่งให้ยืน-ห้ามนอน

วันนี้ (27 ก.พ.) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการจัดงานเสวนาเรื่อง “การซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหาย : สถานการณ์และทางออกโดยร่างกฎหมายใหม่” โดยนายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาทางกฎหมายมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า หากออกกฎหมายฉบับนี้ได้จะเป็นประเทศแรกของโลกที่ทำกฎหมายตามอนุสัญญา 2 เรื่องพร้อมกัน แม้ว่าร่างของกระทรวงยุติธรรมจะทำออกมาดีมากแล้ว แต่เราก็เห็นว่าควรมีการแก้ไขเพิ่มเติม คือให้เป็นไปตามอนุสัญญาต้นเรื่องให้มากที่สุด สอง คำนึงถึงบริบทของสังคมไทยด้วย และหวังว่ากฎหมายนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลได้

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาการซ้อมทรมานและการอุ้มหายไม่มีความผิดในทางอาญา ทำได้เพียงฟ้องแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายได้ในคดีซ้อมทรมาน และการซ้อมทรมานก็ทำให้มีผลกระทบทางจิตใจ ถูกตำรวจฟ้องกลับ หลายครั้งผู้เสียหายมีความยากลำบากในการดำเนินคดี และการทรมานปัจจุบันแทบจะไม่มีบาดแผลให้เราเห็นได้ มีเพียงแพทย์นิติเวชตรวจบาดแผลลึกลงไป แต่ยังมีความยากลำบาก

“มาตรฐานในการดำเนินคดีเราสูงมาก ไหนล่ะ หลักฐานทางการแพทย์ ทำไมไม่ไปแจ้งความตั้งแต่มีเรื่อง ผู้บังคับบัญชาก็จะบอกว่าเจ้าหน้าที่กระทำโดยสุจริต ไม่ได้แตะเนื้อต้องตัว การบังคับไม่ให้นอน ให้ยืนตลอดเวลา แตะตัวกันไหม แค่เอาปืนจี้ก็นอนไม่ได้แล้ว” น.ส.พรเพ็ญ กล่าว

น.ส.สัณหวรรณ ศรีสด กรรมการนักนิติศาสตร์สากล กล่าวว่า เวลาพูดจะพูดถึงกฎหมายระหว่างประเทศ ก็มักจะบอกว่าเป็นเรื่องของตะวันตกหรือไม่ ทั้งที่ความจริงแล้ว กฎหมายเหล่านี้คนร่วมร่างครั้งแรกไม่ใช่ฝรั่งมานั่งร่าง แต่เป็นทุกประเทศมาให้ความเห็นกันร่วมกันว่าควรเป็นอย่างไร หลายครั้งที่ผู้พยายามผลักดันกฎหมายจะเป็นประเทศกำลังพัฒนา และทุกกฎหมายระหว่างประเทศจะมีคณะกรรมการมาช่วยดูว่าประเทศต่างๆ จะปฏิบัติได้ตามหรือไม่

ทั้งนี้ มีผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายได้ให้ข้อมูลต่อวงเสวนาว่า เมื่อปี 2552 ขณะที่เป็นนักศึกษา ถูกจับตัวไป โดนทำร้ายร่างกาย เมื่อออกมาได้ต่อสู้ทางกฎหมายฟ้องร้องอยู่ 8 ปี มีหลักฐาน ใบรับรองแพทย์ ศาลตัดสินให้ตนชนะและรัฐได้เยียวยา แต่ต่อมาหลังไปออกรายการโทรทัศน์และพูดถึงเรื่องนี้ รัฐได้ฟ้องกลับว่า ตนพูดเท็จ รัฐไม่ยอมรับว่ามีการซ้อมทรมานจริง คนกระทำก็ยังลอยนวล หากมีกฎหมายนี้จะได้ดำเนินคดีอาญาด้วย
 





กำลังโหลดความคิดเห็น