โดย... ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
มติ ครม.นอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2563 ที่ จ.นราธิวาส เมื่อ 21 ม.ค.2563 นอกจากจะฉายให้เห็นการเอื้อ “2 ยักษ์อุตฯ ปิโตรเคมี” ร่วมขับเคลื่อนแผน “จะนะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ในฐานะ “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ” ที่ชายแดนใต้แล้ว ยังหว่านงบฯ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้อีกเกือบ 2 แสนล้าน พร้อมเปิดทางเร่งรัดให้เกิดการลงทุนในอัตราเร่ง ถือเป็นภาพกระจ่างชัดยิ่งกว่าครั้งไหนๆ ที่จะนำไปสู่การปั้น “ศูนย์กลางพลังงานโลก”
เปิดแผนและผังการลงทุนภาคเอกชน
.
เป็นไปตามกำหนดที่ต้องเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะต้องรีบดันเมกะโปรเจต์มากมายให้เดินหน้า เพื่อติดสปริงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ อันจะทำให้รัฐบาลบิ๊กตู่ 2 ใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตยเลือกตั้งดูดีขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จึงต้องหอบหิ้ว ครม.ไปประชุมไกลถึงแผ่นดินปลายด้ามขวาน เพื่อติดเทอร์โบ “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจภาคใต้ชายแดน” หลังเมื่อ 20-21 ส.ค.2562 ยกทัพไปที่ จ.ชุมพร ติดเทอร์โบ “ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ตอนบน” มาแล้ว
ครม.นอกสถานที่ครั้งแรกของปีนี้จึงได้มีมติรับทราบและเห็นชอบผลประชุม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2562 ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธาน กพต.เสนอเรื่องการประกาศให้ อ.จะนะ จ.สงขลา ในฐานะเมืองต้นแบบที่ 4 “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เป็น “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ”
พร้อมกับเห็นชอบในหลักการให้เป็น “แผนเร่งด่วนการลงทุน” เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายต่อไป โดยเฉพาะการจะดันให้พื้นที่ตั้งแต่ริมทะเลลึกเข้าไปบนบกใน 3 ตำบล คือ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม เป็น “นิคมอุตสาหกรรมใหญ่” ของ “เอกชน” รวมพื้นที่ 16,753 ไร่
โดยจะให้ภาคเอกชนลงทุนสร้างท่าเรือและอู่ต่อเรือ 3 ท่า และพื้นที่ทำอุตสาหกรรมและกิจกรรม 6 ประเภท ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมหนัก 4,000 ไร่ 2) อุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา 4,253 ไร่ 3) อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า 4,000 ไร่ จำนวน 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์ 4) อุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ 2,000 ไร่ 5) อุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า 2,000 ไร่ และ 6) ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย 500 ไร่
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะต้นเรื่องให้เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนและผลักดันให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็ว พร้อมได้อนุมัติงบประมาณลงทุนภาครัฐหนุนสูงถึง 18,680 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมกับเงินลงทุนภาคเอกชนอีกกว่า 6 แสนล้านบาท โดยเชื่อว่าจะมีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 1 แสนอัตรา (ดูแผนผังการลงทุนภาคเอกชนที่เสนอให้ ครม.พิจารณา)
งบฯ กว่า 1.8 หมื่นล้านใช้แก้ปัญหาเร่งด่วน 4 ด้าน
.
ที่มาของมติ ครม.เรื่องนี้เป็นผลจาก ศอ.บต.นำเสนอผลการประชุม กพต.ครั้งที่ 1/2562 เมื่อ 31 ต.ค.2562 ให้ ครม.รับทราบไปก่อนหน้าโดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะรองรับแรงงานจำนวนมาก ขณะที่มีความพร้อมด้านกายภาพที่เป็นพื้นที่ชายฝั่ง จึงเหมาะสมที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมใช้นำเข้าและส่งออกสินค้า
สาระสำคัญของแผนเร่งด่วนหนุนเนื่องให้เกิดการลงทุนโดยเร็วครอบคลุม 4 แผนงาน ได้แก่ 1.ด้านผังเมือง เนื่องจากพื้นที่ 3 ตำบลดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็น “สีเขียว” และ “สีเขียวคาดขาว” ไม่สามารถตั้งโรงงานบางประเภทได้ ให้ ศอ.บต.มีอำนาจ “ปรับปรุง” และ “ยกเว้นกฎหมายผังเมือง” ให้เสร็จภายใน 12 เดือน เพื่อทำให้เกิดการลงทุนได้ทันที 2.ด้านโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางน้ำ เนื่องจากแผนสร้าง “ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” ของภาครัฐติดข้อจำกัดด้านงานมวลชนและสิ่งแวดล้อม ให้ ศอ.บต.ไปเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจและมีความพร้อมมาลงทุนแทน
3.ด้านโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางบก ทั้งถนนและระบบรางส่วนใหญ่สร้างมาเพื่อรองรับกิจกรรมของคนในพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถรองรับแรงงานและการขนส่งสินค้าในอนาคตได้ ให้ ศอ.บต.ร่วมกับ อบจ.สงขลา สนง.จังหวัดสงขลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนแม่บทด้านการขนส่งและจราจรใหม่ แล้วตั้งงบประมาณเพื่อแก้ปัญหานี้ และ 4.ด้านพลังงาน การสร้างโรงไฟฟ้ามั่นคงภาคใต้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ขนาดกำลังผลิต 930 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าที่จะสร้างใหม่ขนาดกำลังผลิต 1,700 เมกะวัตต์ ให้ ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปกำหนดพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า และคงต้องรวมเอาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของรัฐบาลกว่า 100 แห่ง ที่จะให้ปักหมุดในชายแดนใต้ไว้ด้วย
ดังนั้น งบฯ 18,680 ล้านบาทที่ ครม.อนุมัติให้นำไปใช้เป็น “แผนงานเร่งด่วน” แน่นอนต้องเพื่อแก้ปัญหาทั้ง 4 ด้านดังกล่าว โดยผ่านกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ
สอดรับแผนลงทุน 2 ยักษ์อุตฯ ปิโตรเคมี
.
จากมติ ครม.สัญจรที่ จ.นราธิวาส เมื่อย้อนไปดูแผนการลงทุนของ 2 กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย คือ “บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (ทีพีไอ)” กับ “บมจ.ไออาร์พีซี” ในเครือ บมจ.ปตท.จะพบความสอดคล้องต้องกันอย่างแทบจะลงตัว ที่ผ่านมา 2 กลุ่มทุนนี้ก็ดูเหมือนจะเดินกอดคอกันเพื่อขอลงทุนใน อ.จะนะ มาอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี 2540 ที่เคลื่อนไหวผุด “โรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย” เป็นต้นมา
ปี 2540 ที่ดินใน อ.จะนะ ถูกกลุ่มทุนพลังงานกว้านซื้อไปไว้ในมือราว 10,800 ไร่ แบ่งเป็น นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้บริหารทีพีไอ กว่า 7,000 ไร่ กับกลุ่ม บมจ.ปตท.โดย บมจ.ไออาร์พีซี กว่า 3,000 ไร่ ทั้ง 2 กลุ่มยังมีแผนร่วมกันจะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งใหม่ขึ้นด้วยในเวลานั้น แต่แผนนี้กลับถูกเลื่อนมาเรื่อยๆ ขณะที่เวลานี้มีการลงทุนไปแล้วคือ โรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียในนาม “บริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด” หรือ “ทีทีเอ็ม” ที่เป็นการร่วมทุนระหว่าง บมจ.ปตท.กับ เปโตรนาส บริษัทน้ำมันแห่งชาติมาเลเซีย ก่อนตามด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้าง โรงไฟฟ้าจะนะ 2 โรง ขนาดกำลังผลิตโรงละ 800 เมกะวัตต์
ตามแผนลงทุนภาคเอกชนมี 4 โครงการ ได้แก่ 1) สร้างท่าเรือเพื่อการพาณิชย์และการท่องเที่ยว แบ่งเป็น 2 ระยะ วงเงินลงทุนกว่า 11,000 ล้านบาท มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการขนส่งเชิงพาณิชย์ และเป็น “เกตเวย์ที่ 3” ของไทย โดยรวมโมเดลท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือคลองเตยเข้าด้วยกัน 2) สร้างรางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือสงขลา 2 เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า 3) พลังงานไฟฟ้าทางเลือก เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม 800-1,500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซ 1,500-2,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 300-500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวล 300-500 เมกะวัตต์
และ 4) นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมเกษตร เช่น โรงงานอาหารแปรรูป อาหารฮาลาล อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตกังหันลมและเครื่องกำเนิด ผลิตหัวรถจักรและแคร่ขนตู้ ผลิตแท่นเจาะน้ำมัน ผลิตรถไฟฟ้า (EV car) โดยทั้งหมดจะจ้างงานไม่ต่ำกว่า 1 แสนอัตราเช่นกัน
.
ที่ผ่านมา ทาง ศอ.บต.ได้เคยนำแผนลงทุนภาคเอกชนนี้ชงเข้า ครม.และนำไปเผยแพร่ให้ส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่แล้ว โดยมีรูปแบบการนำเสนอน่าสนใจทั้งในส่วนของเอกสาร ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว
จาก “เกตเวย์ที่ 3” ถึง “Belt & Road” ของจีน
.
นายประชัย ที่มีแผนจะฟื้นทีพีไอให้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้งเปิดเผยว่า มีกลุ่มทุนจีนด้านอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางสนใจมาลงทุนที่ อ.จะนะ ด้วยมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท โดยจะผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ระบบรางรถไฟและหัวรถจักร เพื่อหวังใช้ไทยเป็นฐานป้อนให้แก่ “โครงการแถบและเส้นทาง (Belt & Road)” ที่จีนกำลังสร้างรถไฟความเร็วสูงผ่านประทศต่างๆ เชื่อมมาถึงไทยแล้วต่อเข้ามาไปยังมาเลเซีย
ด้านผู้บริหารไออาร์พีซีก็ได้เจรจากับกลุ่มจากเกาหลีใต้ให้มาลงทุนโครงการอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด หรือพลังงานทางเลือก (energy complex) มูลค่าราว 2.9 แสนล้านบาท อันเป็นไปตามที่ภาครัฐได้กำหนดให้ชายแดนใต้เป็นพื้นที่ “แบตเตอรี่โซน” หรือเป็น “เอ็นเนอร์ยีคอมเพล็กซ์” โดยให้มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเกษตรด้วย ซึ่งเวลานี้ ศอ.บต.ได้เดินหน้าส่งเสริมให้ปลูกต้นไผ่กระจายทั่วพื้นที่เพื่อป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวลแล้ว
ขณะที่ ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม ผู้เพิ่งได้เลื่อนตำแหน่งจากผู้ช่วยฯ ขึ้นเป็นรองเลขาธิการ ศอ.บต. ด้านการพัฒนาใหม่ถอดด้ามให้ข้อมูลว่า ภาครัฐกับเอกชนร่วมหารือกันมาตลอด เวลานี้ได้ข้อสรุปแล้วให้ภาคเอกชนนำร่องลงทุนในเขตจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต และหากโมเดลนี้สำเร็จจะนำไปขยายยังเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ในชายแดนใต้ที่มีอยู่ 14 แห่ง เช่น ที่ อ.สะเดา อ.เทพา จ.สงขลา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เวลานี้ภาคเอกชนยื่นเรื่องขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แล้ว รวมมูลค่าลงทุนราว 6 แสนล้านบาท เป็นโครงการ 5 ปี (2561-2565) และที่สำคัญการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนใต้จะ “ได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า” การลงทุนที่พื้นที่ “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)” หรือเป็นลักษณะ “BOI Plus + เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกระทรวงการคลัง” ไม่เพียงเท่านั้น ภาคเอกชนเองยังได้ทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และทำการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (EHIA) ไปแล้วด้วย
สู่ยุทธศาสตร์ “ศูนย์กลางพลังงานโลก”
.
ถ้ามองระดับ “ยุทธศาสตร์” ที่มุ่งเน้นพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สำหรับชายแดนใต้เคยให้ความสำคัญอยู่ที่ “โครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยตั้งเมืองต้นแบบขึ้นใน 3 จังหวัด คือ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร” อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็น “เมืองต้นแบบศูนย์กลางการค้าขายแดนระหว่างประเทศ” และ อ.เบตง จ.ยะลา เป็น “เมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน”
แต่จู่ๆ เมื่อ 7 พ.ค.2562 ครม.ได้มีมติให้เพิ่มเมืองต้นแบบที่ 4 คือ ให้ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ในภาพรวมจึงต้องเรียกเสียใหม่ว่าเป็น “โครงการสี่เหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” แม้คำว่าสามเหลี่ยมจะติดปากไปแล้ว อีกทั้งมติ ครม.เมื่อ 21 ม.ค.2563 ได้ประกาศยกความสำคัญขึ้นเป็น “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ” และยังให้เป็น “แผนเร่งด่วนการลงทุน” พร้อมทุ่มงบให้กว่า 1.8 หมื่นบ้านบาท เนื่องเพราะต้องการอาศัยความเป็น “แผ่นดินพิเศษ” ขับเคลื่อนให้ลุล่วงโดยเร็ว
ความจริงแล้วยุทธศาสตร์การพัฒนานี้ไม่ใช่ของใหม่อะไรเลย ล้วนเป็นความต่อเนื่องอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อนที่จะถูกผลักดันสู่อ้อมอก ศอ.บต.บน “แผ่นดินไฟใต้” เพื่อให้มากมาย "ความเป็นพิเศษ" นั้น หน่วยงานที่เคยกางปีกโอบไว้มาตลอดคือ “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)” หรือที่เรียกกันว่า “สภาพัฒน์”
ทั้งท่าเรือน้ำลึก โครงข่ายถนนและราง ระบบท่อน้ำมันและท่อก๊าซ โรงไฟฟ้าต่างๆ โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งต้นจาก “ปิโตรเคมี” ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบป้อนต่อให้แก่ “อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค” หรือโรงงานผลิตสินค้าตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบที่จะตามมาแบบกระจายเต็มภาคใต้ เหล่านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาเทิร์นซีบอร์ด : SSB)” ที่เคยเน้นทำ “แลนด์บริดจ์” เชื่อม 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน อันสภาพัฒน์เคยวาดแผนไว้ให้เป็นความต่อเนื่องมาจาก “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด : ESB)” ที่เข้าใจกันมาตลอดว่าคือ “แบตเตอรี่ประเทศไทย”
สำหรับ “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” ที่ไทยเคยเชิญชวนทั่วโลกให้มาร่วมลงทุน เวลานี้จีนมียุทธศาสตร์ Belt & Road เพื่อทะลุทะลวงโลก จีนจึงออกตัวแรงให้ไทยเปลี่ยนใจไป “ขุดคลองไทย” แทน แม้หน้าฉากยึดเอาตามเส้นทาง 9A ที่ฝั่งอ่าวไทยเริ่มจาก อ.ระโนด จ.สงขลา พาดข้ามคาบสมุทรไปทะลุฝั่งอันดามันที่ อ.สิเกา จ.ตรัง แต่เชื่อไหมว่าถ้าดันได้จริงๆ จีนอยากให้ขุดคลองไทย “เส้นทาง 11A” หรือสายใหม่ที่เคยให้นักวิชาการไทย-จีนซุ่มศึกษาไว้แล้วว่าดีที่สุด ซึ่งนั่นก็คือตามแนวเส้นทางที่เลื่อนลงใต้มาอีกหน่อยแบบที่แทบจะทับกับแนวแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ฝั่งอ่าวไทยอยู่ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เชื่อมกับฝั่งอันดามันที่ อ.ละงู จ.สตูล
วันนี้ ESB ถูกแปลงร่างเป็น EEC ไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ ครม.สัญจรที่ จ.ชุมพร เมื่อ 21 ส.ค.2562 ก็ได้เนรมิต“ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC)” ระยะแรกครอบคลุม 4 จังหวัด คือ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ระยะต่อไปมีแนวโน้มต่อเชื่อมด้านบนเป็นผืนเดียวกันกับ EEC ส่วนด้านล่างน่าจะเชื่อมได้ถึง “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ” ที่ชายแดนใต้ ซึ่งก็ถูกแปลงร่างมาจาก SSB ในลักษณะเดียวกัน
เมื่อถึงเวลานั้นอนาคตของแผ่นดินด้ามขวานที่เป็น “เอ็นเนอร์ยีคอมเพล็กซ์” หรือเป็น “แบตเตอรี่โซน” ซึ่งเป็นความต่อเนื่องมาจาก “แบตเตอรี่ไทย” ก็จะถูกทำให้เป็น “ศูนย์กลางพลังงาน(ข้าม)โลก” เพราะถูกจุดพลุด้วย “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ที่วัตถุดิบส่งต่อมาจากโรงกลั่นน้ำมันหรือโรงแยกก๊าซ โดยวัตถุดิบต้นน้ำส่วนใหญ่นำเข้ามาจากตะวันออกกลางผสมผสานกับที่ขุดได้จากอ่าวไทย อันเป็นทิศทางพัฒนาที่มี “ช่องแคบมะละกา” เป็นต้นแบบ และหากว่าวันหนึ่งรัฐบาลยินยอมให้ “ขุดคลองไทย” ได้จริง คาบสมุทรมลายูของไทยที่เป็น “เกตเวย์ที่ 3” ก็จะถูกยกให้กลายเป็น “ศูนย์กลางการขนส่งข้ามโลก” ควบคู่ไปด้วยนั่นเอง