คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้ / โดย... สกนธ์ รัตนโกศล
“กระเจี๊ยบแดง” สมุนไพรพืชล้มลุก นิยมปลูกสำหรับนำดอกมาใช้ประโยชน์บริโภคในรูปแบบเครื่องดื่ม อาหาร กระทั่งเป็นยารักษาโรค ขณะที่ทุกส่วนของต้นก็มากสรรพคุณและประโยชน์สารพัด
.
มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ผักเก็งเค็ง, ส้มเก็งเค็ง, ส้มตะเลงเครง (ตาก), ใบส้มม่า (ระนอง), แกงแคง(เชียงใหม่), ส้มปู (แม่ฮ่องสอน), แบลมีฉี่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), แต่เพะฉ่าเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ปร่างจำบู้ (ปะหล่อง), กระเจี๊ยบ, ส้มเก็ง, ส้มพอเหมาะ (ภาคเหนือ), ส้มพอดี (ภาคอีสาน), กระเจี๊ยบแดง, กระเจี๊ยบเปรี้ยว (ภาคกลาง), ส้มพอ, ส้มพอเหมาะ เป็นต้น
.
ชื่อภาษาอังกฤษ Rosella, Jamaican sorel, Roselle, Rozelle, Sorrel, Red sorrel, Kharkade, Karkade, Vinuela, Cabitutu มีชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa Linn. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) มีถิ่นกำเนิดในประเทศซูดาน อินเดีย มาเลเซีย และประเทศไทย
.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกระเจี๊ยบแดง
.
“ต้น” จัดเป็นไม้พุ่มมีความสูงประมาณ 50-180 เซนติเมตร มีอยู่หลายสายพันธุ์ ลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วงแดง
.
“ใบ” มีใบเป็นใบเดี่ยว ใบมีหลายลักษณะ ลักษณะคล้ายรูปฝ่ามือ 3 แฉก หรือ 5 แฉก ใบเว้าลึกหรือเรียบ หรือใบเป็นรูปรีแหลม หรือรูปเรียวแหลม ขอบใบมีจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีความกว้างและความยาวใกล้เคียงกันประมาณ 8-15 เซนติเมตร และก้านใบมีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร
.
“ดอก” เป็นดอกเดี่ยว ออกดอกตามซอกใบ มีกลีบดองสีชมพู หรือสีเหลือง บริเวณกลางดอกจะมีสีเข้มกว่าคือ สีม่วงแดง ดอกมีเกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ก้านดอกสั้น มีริ้วประดับเรียวยาวปลายแหลม มี 8-12 กลีบ กลีบเลี้ยงจะแผ่ขยายติดกันออกหุ้มเมล็ดไว้ มีสีแดงเข้มและหักง่าย เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร
.
“ผล” ลักษณะของผลเป็นรูปรีมีปลายแหลม ผลมีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่จะแห้งแตกเป็น 5 แฉก ในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายรูปไตอยู่จำนวนมาก ประมาณ 30-35 เมล็ดต่อผล และผลยังมีกลีบเลี้ยงหนาสีแดงฉ่ำน้ำหุ้มอยู่ เราจะเรียกส่วนนี้ว่ากลีบกระเจี๊ยบหรือกลีบรองดอก (Calyx) หรือที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นดอกกระเจี๊ยบนั่นเอง
.
“กระเจี๊ยบแดง” ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด
.
สรรพคุณของกระเจี๊ยบแดง
.
- “ดอก” ช่วยละลายไขมันในเส้นเลือด, น้ำกระเจี๊ยบแดงช่วยรักษาโรคเส้นเลือดแข็งเปราะได้เป็นอย่างดี และช่วยรักษาไตพิการ, ช่วยแก้อาการไอ-สารสกัดจากลีบดอกของกระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสตรีวัยทองไม่มากก็น้อย
.
- “ใบ” ใช้ตำพอกฝีหรือใช้ต้มน้ำเพื่อใช้ล้างแผลได้
.
- “ใบ, ดอก” ใช้เป็นยากัดเสมหะ ขับเมือกมันในลำคอให้ลงสู่ทวารหนัก
.
- “ใบ, ผล, ทั้งต้น” มีสรรพคุณช่วยแก้โรคพยาธิตัวจี๊ด หรือจะใช้ผลอ่อนนำมาต้มรับประทานติดต่อกัน 5-8 วัน หรือจะใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ หรือจะใช้ทั้งต้นใส่หม้อต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวไฟจนงวดให้เหลือ 1 ส่วน แล้วผสมกับน้ำผึ้งกึ่งหนึ่ง ใช้รับประทานวันละ 3 เวลา หรือจะรับประทานน้ำยาเปล่าๆ ก็ได้จนหมดน้ำยา
.
- “น้ำกระเจี๊ยบแดง, ผล” ช่วยรักษาโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้ผลแห้งนำมาบดเป็นผง ใช้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะแล้วดื่มน้ำตาม วันละ 3-4 ครั้ง, ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร, และช่วยแก้อาการคอแห้ง กระหายน้ำ
.
- “น้ำกระเจี๊ยบแดง, เมล็ด” ช่วยบำรุงโลหิต, ช่วยแก้ดีพิการ, ช่วยเพิ่มการหลั่งน้ำดีจากตับ และช่วยป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลาย, ช่วยรักษาโรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต แก้โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ ลดอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีอาการปวดแสบ โดยใช้กระเจี๊ยบแห้งบดเป็นผงประมาณ 3 กรัม นำมาชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย ใช้ดื่มวันละ 3 ครั้ง ประมาณ 7 วัน หรือจนกว่าจะหาย ซึ่งจากรายงานการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่ดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงขนาด 3 กรัม ชงกับน้ำเดือด 1 แก้ว ดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่าผู้ป่วยกว่า 80% มีปัสสาวะที่ใสขึ้นกว่าเดิม และยังพบว่าปัสสาวะมีความเป็นกรดมากขึ้น จึงช่วยในการฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้เป็นอย่างดี
.
- “น้ำกระเจี๊ยบ, เมล็ด, ยอด, ใบ” ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง ช่วยในการย่อยอาหาร ใช้เป็นยาระบาย ช่วยหล่อลื่นลำไส้ ทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น
.
- “กลีบเลี้ยงผล, กลีบดอก” อุดมไปด้วยแคลเซียมที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
.
ประโยชน์ของกระเจี๊ยบแดง
.
- กระเจี๊ยบแดงมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) และสารโพลีฟีนอล ซึ่งได้แก่ Protocatechuic Acid ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยชะลอความแก่ และช่วยให้เส้นเลือดอ่อนนิ่มได้
.
- กระเจี๊ยบแดงใช้ทำเป็นน้ำดื่มที่ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น เนื่องจากมีกรดซิตริกอยู่ด้วย และน้ำกระเจี๊ยบแดงช่วยทำให้ความเหนียวข้นของเลือดลดลง, ช่วยแก้อาการร้อนใน, ช่วยลดไข้, ช่วยป้องกันโรคต่อมลูกหมากโต, ช่วยรักษาและป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน, ช่วยแก้อาการขัดเบา โดยใช้กลีบเลี้ยงของผลหรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง นำมาตากแห้งแล้วบดให้เป็นผง นำมาใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (ประมาณ 3 กรัม) ใช้ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (ประมาณ 250 มิลลิลิตร) แล้วนำมาเฉพาะน้ำสีแดงใส วันละ 3 ครั้ง ดื่มติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการจะดีขึ้นและหายไป
.
- กระเจี๊ยบแดงใช้ทำเป็นอาหาร ใบอ่อนของกระเจี๊ยบใช้รับประทานเป็นผักได้ หรือจะนำมาใช้ทำแกงส้มก็ได้ ให้รสเปรี้ยวกำลังดี และยังมีวิตามินเอสูง (12,583 I.U. ต่อ 100 กรัม) ที่ช่วยบำรุงสายตาอีกด้วย อีกทั้งดอกกระเจี๊ยบแดงยังสามารถนำมาทำได้หลายเมนู เช่น แกงส้มดอกกระเจี๊ยบ ยำดอกกระเจี๊ยบ แยมดอกกระเจี๊ยบ ดอกกระเจี๊ยบแช่อิ่ม กระเจี๊ยบกวน ชากระเจี๊ยบแดง เป็นต้น
.
- น้ำต้มของดอกแห้งจะมีกรดผลไม้ หรือ AHA อยู่หลายชนิดในปริมาณสูง จึงมีการนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอางประเภทครีมหน้าใส
.
- ลำต้นของกระเจี๊ยบแดงยังสามารถนำมาทำเป็นเชือกปอได้อีกด้วย
.
- ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยป้องกันหวัด เนื่องจากกระเจี๊ยบแดงมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารสีแดงในกลุ่มเดียวกับที่พบในผลไม้อย่างบลูเบอร์รี แต่กระเจี๊ยบแดงจะมีสารชนิดนี้มากกว่าบลูเบอร์รีถึง 50%
.
กลุ่มผู้บริโภคที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
.
- กระเจี๊ยบแดงอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ในผู้ป่วยบางราย เพราะมีฤทธิ์เป็นยาระบาย
.
- กระเจี๊ยบแดงอาจลดระดับความดันโลหิตให้ต่ำลงมากเกินไป และเสี่ยงเกิดอันตรายต่อสุขภาพในผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ
.
- กระเจี๊ยบแดงอาจลดระดับน้ำตาลในเลือดลงในผู้ป่วยโรคเบาหวาน จึงควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และปรึกษาแพทย์ เพราะอาจต้องปรับยารักษาโรคเบาหวานด้วย
.
ที่สำคัญน้ำกระเจี๊ยบมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ แม้ว่าจะมีความเป็นพิษต่ำมาก แต่ก็ไม่ควรดื่มในปริมาณเข้มข้นและติดต่อกันนานๆ เพราะจะไม่เกิดผลดีต่อสุขภาพนะขอรับ
.
บรรณานุกรม
.
- medthai.com › กระเจี๊ยบแดง
- www.pobpad.com › กระเจี๊ยบ-คุณค่าทางโภชนาการ