ตรัง - ผู้ว่าฯ ตรัง เรียกประชุมด่วนคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงประทานบัตรระเบิดหินเขาควนเหมียง ต.ปากแจ่ม หลังตัวแทนชาวบ้านถวายฎีกาขอยกเลิก เพื่อเร่งหาข้อสรุปรายงานสำนักองคมนตรี
นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผวจ.ตรัง เรียกประชุมด่วนคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการคัดค้านคำขอประทานบัตรที่ 1/2561 ของ หจก.โรงโม่ตรังภูทอง ตามที่สำนักองคมนตรีได้สั่งการให้จังหวัดตรังเร่งพิจารณาแก้ไขปัญหา แล้วรายงานให้รับทราบ เนื่องจากได้มีตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นำโดย นายสมคิด นาเลื่อน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านในเขา ต.ปากแจ่ม ได้ยื่นหนังสือถวายฎีกา ลงวันที่ 28 ส.ค.2562 เพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือ ขอพระเมตตาทรงโปรดยกเลิกเพิกถอนประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรม/เขตแหล่งแร่เขาควนเหมียง ต.ปากแจ่ม เพราะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในโครงการป่าชุมชน อีกทั้งพื้นที่ใกล้เคียงยังมีโบราณวัตถุสำคัญ ซึ่งอาจได้รับความเสียหายได้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ หจก.โรงโม่ตรังภูทอง โดย นายนรินทร์ เก่งธนทรัพย์ จะได้ถอนคำขอประทานบัตรไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2562 แต่ประชาชนในพื้นที่ยังหวั่นว่าจะมีนายทุนรายใหม่ยื่นเรื่องขอประทานบัตรเข้ามาอีก ประกอบกับเกิดปัญหาความแตกแยกในชุมชนและยืดเยื้อมายาวนานจากโครงการดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการยื่นถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือของตัวแทนชาวบ้าน
ผวจ.ตรัง จึงได้สั่งการด่วนให้หน่วยงานต่างๆ เร่งลงพื้นที่สรุปข้อมูลอย่างละเอียดให้ครอบคลุมรอบด้าน เช่น สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด โดยให้นายอำเภออำนวยความสะดวกในการเข้าพื้นที่ แต่ในที่ประชุมยังไม่ได้มีการลงมติว่าจะให้ยกเลิกประกาศแหล่งหินแร่เขาควนเหมียงหรือไม่ เนื่องจากยังมีบางหน่วยงานต้องลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดเพิ่มเติมในบางส่วน ซึ่งจะต้องเรียกประชุมเพื่อลงมติกันอีกครั้ง
ทั้งนี้ ตัวแทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 1 ให้ข้อมูลว่า จังหวัดตรัง มีแหล่งหินทั้งหมด 11 แห่ง โดยได้ประเมินปริมาณสำรองแหล่งแร่ 8 แห่ง พบว่า มี 66.87 ล้านเมตริกตัน (ที่เหลืออีก 3 แห่ง ไม่มีศักยภาพในการทำเหมือง หรือปริมาณสำรองหมดแล้ว) ซึ่งหากยังคงแหล่งหินแร่เขาควนเหมียงให้คงอยู่ต่อไป จะสามารถลดปัญหาการขาดแคลนหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างในอนาคต เป็นผลทำให้ลดต้นทุนการก่อสร้างในพื้นที่ ลดภาระต้นทุนการขนส่ง ไม่ต้องพึ่งพาแหล่งหินที่ผลิตจากแหล่งสำรองที่มาจากจังหวัดข้างเคียง แต่หากแหล่งหินเขาควนเหมียงต้องถูกยกเลิก จะทำให้ค่าบริการขนส่งหินจากแหล่งผลิตที่ใกล้ที่สุด เช่น อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช จะต้องจ่ายเพิ่มจากตันละ 200 บาท เป็นตันละ 400 บาท
ส่วนการใช้หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างในเขตพื้นที่จังหวัดตรัง จากข้อมูลในการชำระค่าภาคหลวงแร่ย้อนหลัง 5 ปี พบว่า มีปริมาณการผลิตประมาณปีละ 570,000-620,000 เมตริกตันต่อปี จากแหล่งผลิตหิน 3 ประทานบัตร แต่ในปี 2562 ปริมาณการผลิตหินได้ลดลง เนื่องจากแหล่งประทานบัตรของ หจก.ศรีพุธศิลาทอง ได้สิ้นอายุลงเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 (ขณะนี้อยู่ในระหว่างยื่นขอประทานบัตรใหม่) คงเหลือประทานบัตรที่ผลิตหินเพื่อการก่อสร้างได้เพียง 2 แปลงเท่านั้น