xs
xsm
sm
md
lg

“คดีขี้ลอก” ระหว่างนักวิชาการรุ่นใหม่กับนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
โดย... พิเชฐ แสงทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 


 
กรณีนักวิชาการรุ่นใหม่กล่าวหานิตยสารศิลปวัฒนธรรม (ออนไลน์) ว่า “ขี้ลอก” คือลอกข้อมูลจากผลงานออนไลน์ของเขามาลงในบทความออนไลน์ของนิตยสาร ซึ่งปัจจุบันหันมาออกบทความออนไลน์เชิงประวัติศาสตร์ในประเด็นที่สอดคล้องหรือเข้ากระแสปัจจุบันมากขึ้น
.
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะวารสารหัวนี้มีอายุมายาวนานมากๆ ได้รับความเชื่อถือเชื่อมั่นจากวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างลึกล้ำ จนยากที่จะถ่ายถอน
.
คำว่า “ขี้ลอก” สื่อนัยว่า “เคยทำ หรือทำบ่อยๆ” จึงเป็นข้อหาที่ชวนตื่นตะลึงมาก แม้ต่อมาไม่กี่ชั่วโมง นักวิชาการหนุ่มผู้กล่าวหาจะออกมาขอโทษและยอมรับว่าตน “ใจร้อน” มี “อคติ” และ “ไม่เคยอ่านงานเขียนของมติชนมาก่อนในเรื่องนี้” 
 
ก่อนหน้านี้ ผมติดตามข่าว เคยแชร์ข่าวของมติชนออนไลน์ และนำสเตตัสคำขอโทษของผู้กล่าวหามาโพสต์ในช่องแสดงความคิดเห็น โดยไม่สนใจจะตามไปอ่านสเตตัสเริ่มต้นที่ศิลปวัฒนธรรมถูกกล่าวหา เพราะคิดว่าเมื่อผู้กล่าวหาออกมาขอโทษแล้วก็คงซาๆ กันไปตามประสากระแสโซเชียล
 
กระทั่งได้อ่านข่าวต่อเนื่องมาถึงการออกมาขอโทษของนักวิชาการที่ผมเคยอ่านผลงานอีกท่าน ถึงรู้ว่าปรากฏการณ์นี้ลุกลามไปไกล มีนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีผลงานมีชื่อเสียงร่วม “สหบาทา” นิตยสารศิลปวัฒนธรรมด้วย บ้างในช่องแสดงความคิดเห็นเฟซบุ๊ก บ้างก็แชร์ไปตั้งสเตตัสใหม่ รุมขยี้กันจนเละ มีการสาปแช่ง บ้างก็ว่าเป็นสันดาน
.
อ่านแล้วชวนขนลุก..?!
.
แต่ไม่ว่าจะขนลุกแค่ไหน ในความเห็นผม แม้ข้อกล่าวหานั้นจะแรงมากๆ สำหรับนิตยสารคุณภาพฉบับนี้ แต่การที่นักวิชาการหนุ่มออกมาขอโทษโดยไว และกล้าบอกถึงวิธีคิดเบื้องหลังความผิดพลาดของตัวเอง ก็เป็นสิ่งที่น่ายกย่องเช่นกัน
.
แต่เรื่องนี้ก็มีประโยชน์มาก เพราะมันมีประเด็นให้ขบคิดอยู่บางประการ เนื่องจากสะท้อนลักษณะวิสัยของการทำงานวิชาการในบ้านเรา ในส่วนที่เป็นนิสัยใจกลางของการทำงานวิชาการด้วย
.
อย่างหนึ่งก็คือ เรื่องการอ่านหนังสือ แม้โดยส่วนตัวผมจะเห็นว่า อันหนังสือนั้นมีหลายเกรดที่ควรเลือกอ่าน ยิ่งเฉพาะหนังสือประวัติศาสตร์ด้วยแล้วยิ่งต้องกรองต้องกลั่น หากนักศึกษาหรือนักวิชาการจะทำวิจัยเรื่องอะไร หรือเขียนเรื่องอะไร สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ ที่ต้องทำก็คือ การสำรวจตรวจตราว่า แต่ก่อนร่อนชะไรเคยมีใครทำเรื่องนี้มาบ้างแล้ว
 
ไม่ว่าจะเป็นงานที่เคยทำโดยตรง โดยอ้อม หรือโดยเฉียดฉิว (กับประเด็นของเรา) ล้วนแล้วแต่สำคัญเสมอ ไม่ว่าหนังสือนั้นเกรดจะดี จะด้อย แต่ก็ต้องเอามาพิจารณาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะปริมาณจะช่วยประกันความครบครันและสมบูรณ์ว่าเข้าใกล้เปอร์เซ็นต์ 100 ที่สุด
 
ตรงนี้แหละที่อาจทำให้อธิบายได้ว่า ทำไมนักวิชาการส่วนมากจึงนิยมอ่านหนังสือมากๆ คนพวกนี้เป็นนักสะสมหนังสือโดยไม่ได้อ่านจบเล่มทุกเล่ม เพราะเมื่อถึงเวลาต้องเขียนงาน มันช่วยให้ประหยัดเวลาใน “การย้อนหวนทวนระลึก” เอกสารที่เกี่ยวข้องให้ได้ไวและง่ายขึ้น
.
และนี่คือเหตุผลที่เราควรมีกัลยาณมิตรทางการอ่านและทางวิชาการอยู่บ้าง!!
.
ผมน่ะโชคดีที่มีกัลยาณมิตรทางนี้อยู่หลายคน ทั้งรุ่นครูบาอาจารย์ รุ่นพี่และรุ่นน้อง เช่น ผมนึกอะไรไม่ออกเกี่ยวกับงานประวัติศาสตร์และวรรณกรรม ผมมักถาม ศิริวร แก้วกาญจน์ นึกถึงวรรณกรรมรุ่นทศวรรษ 2510-2520 ไม่ออกก็ถามครูผม - ประมวล มณีโรจน์ นึกวรรณกรรมท้องถิ่นไม่ออกก็โทรศัพท์หา วินัย สุกใส เพื่อนของครู เป็นต้น
.
แต่ก่อนจะถามคนเหล่านี้ ผมก็เหนื่อยจากการรื้อชั้นหนังสือสะสมมาจนหมดแรงแล้ว!!
.
การย้อนกลับไปหาเอกสารหรืองานเก่าๆ เหล่านี้ในทางการวิจัยเรียกว่าการศึกษา “วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง” หรือ “เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง” หัวข้อนี้จำเป็นต้องเขียนในงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ แต่ในการเขียนบทความวิจัยหรือวิชาการก็ใช่ว่าจะไม่ต้องทำ
 
แต่ก็ดังที่กล่าวตอนต้นแล้วว่า มันคือ “กระบวนการย้อนหวนทวนระลึก” พื้นที่บทความวิจัยหรือบทความวิชาการไม่ได้มีมากพอให้กล่าวถึง “เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง” สิบหน้ายี่สิบหน้าได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าพอเขียนบทความวิจัยหรือวิชาการแล้ว เราไม่ต้องรู้ว่ามีเอกสารงานวิจัยอะไรที่เกี่ยวข้องกับเราบ้าง
 
มันยังจำเป็นต้องรู้อยู่ดี ไม่งั้นเขียนไปก็จะซ้ำกับคนอื่น แต่การรู้ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องเขียนออกมา เราแค่เพียงทดเอาไว้ในใจขณะเขียน เพื่อนำเสนอข้อเสนอทางวิชาการของเรา เราอาจจะทดเอาไว้ในใจ 5 หน้า 10 หน้า แต่เอามากล่าวถึงในตอนต้นของบทความจริงๆ เพียงห้าบรรทัดสิบบรรทัดก็ไม่มีใครว่า
 
ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเขียนบทความยาวเท่าไหร่ ลงพิมพ์ในกระดาษหรือในออนไลน์ กระบวนการของการสำรวจ ทดไว้ในใจ และเขียนลงบางส่วนของเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นกระบวนการที่มันต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วโดยอัตโนมัติ
 
เอกสาร/วรรณกรรม/งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สำคัญอย่างไร มีคนเคยเขียนไว้มากหลายคน แต่สรุปออกมาเป็นภาษาผม (อันไม่ได้ลอกใครเป็นการเฉพาะ แต่เข้าใจรวมๆ มา ซึ่งไม่ได้เรียกการลอก แต่เรียกการสังเคราะห์) ได้ว่า มันคือการสำรวจพื้นที่ขององค์ความรู้ที่เกี่ยวกับสิ่งที่เรากำลังจะทำ ว่าเคยทำมาอย่างไร ใครทำมาบ้าง เคลื่อนเปลี่ยน หรือมีพัฒนาการมาอย่างไรจนถึงปัจจุบัน
.
การสำรวจให้เห็นทั้งหมดเช่นนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เราเห็นต่อไปว่า “เรื่อง” ที่เราจะทำ และ “ข้อเสนอ” ที่เราจะโยนลงไปกลางวงวิชาการด้านนั้นๆ มี “ที่ว่าง” ให้เราจัดวางงานของเราลงไปได้ไหม แค่ไหน เพียงใด
.
เคยมีการหยอกเย้ากันในการศึกษาประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ว่า นักวิชาการฝังตัวอยู่ในพื้นที่ 10 ปี เพื่อจะเขียนข้อเสนอว่า “ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นน้องสาวของ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม”
.
ฟังดูก็รู้ว่ากระเซ้าเย้าแหย่ แต่การหยอกนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดว่า งานวิชาการที่ไม่ค้นพบ หรือมีข้อเสนออะไรใหม่นั้น ไม่มีประโยชน์เท่าไหร่ อย่างดีก็เป็นสารคดีประเภทหนึ่ง
.
ความไม่ใหม่นี้มีรากฐานมาจากการไม่สามารถพายเรือท่องทะเลแห่งความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ในเอกสารและงานวิจัยอย่างทั่วถึงนั่นเอง
.
จะว่าไปแล้วทิศทางของงานวิชาการเรื่องหนึ่งจะตั้งหัวตรง มุ่งแนวไปสู่เป้าหมายที่แปลกใหม่หรือไม่ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจึงสำคัญมาก
 .
หลายมหาวิทยาลัยปัจจุบันก็นิยมแยกเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องออกมาเป็นบทที่ 2 แทนที่จะเป็นหัวข้อหนึ่งในบทนำ (บทที่ 1)
.
หลายคนคงรู้จักบทความประเภทหนึ่งที่เรียกว่า review article หรือภาษาไทยว่า “บทความปริทัศน์” (บางคนเผลอนำไปปนกับ book review หรือบทความปริทัศน์หนังสือ ซึ่งไม่ใช่และแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง)
.
แต่บทความปริทัศน์นั้นจริงๆ แล้วก็แทบจะเป็นอย่างเดียวกันกับเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หรือบทที่ 2 ของงานวิจัยนั่นเอง
 .
เพราะมันคือ บทความสำรวจองค์ความรู้ และช่องว่างขององค์ความรู้นั้น เพื่อจะได้พิจารณาว่า งานของเราจะพาขายหน้า เสนออะไรที่คนอื่นเขาเคยพูดเคยเสนอแล้วหรือไม่
.
บทความปริทัศน์นี้สำคัญและอาจจะเขียนยาก จนวารสารวิชาการปัจจุบันไม่สามารถหาบทความลักษณะนี้มานำเสนอได้ วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ที่ผมรับหน้าเสื่อเป็นบรรณาธิการอยู่ตอนนี้ก็ไม่ค่อยได้มีตีพิมพ์ ทั้งๆ ที่มีค่าเขียนถึง 2,000 บาทต่อเรื่อง
.
ในเกณฑ์การให้คะแนนโครงร่างวิชาการศึกษาอิสระระดับปริญญาสาขาภาษาไทย ม.อ.ปัตตานี มีสัดส่วนคะแนนส่วนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมากถึง 30%
.
ราคาและสัดส่วนคะแนนที่มากเช่นนี้ ยืนยันให้เห็นว่าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องสำคัญจริงๆ ไม่อย่างนั้นผู้เขียนจะไปต่อในบทความไม่ถูกเลย
.
ประโยคที่ว่า “ผู้เขียนจะไปไม่ถูก” นี่เฉพาะผู้เขียนที่ตระหนักถึงความสำคัญของเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และแคร์ต่อหลักธรรมดาสากลโลก ที่บทความหรือข้อเขียนทางวิชาการหนึ่งจะต้องมีข้อเสนออะไรที่ไม่ซ้ำใครเท่านั้นนะครับ
.
ผู้เขียนที่ไม่สนใจสนใจสองสิ่งนี้ก็อาจจะเขียนดุ่ยๆ ไป ด้วยความภาคภูมิใจว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นใหม่เอี่ยมอ่อง ซึ่งที่จริงแล้วมันใหม่ก็เพราะเราเองนั่นแหละที่ไม่เคยรู้มาก่อน
.
โดยเฉพาะในทางประวัติศาสตร์นั้น ในปัจจุบันการสู้กันด้วยข้อมูลใหม่นั้นไม่ค่อยสนุกแล้ว ไม่เหมือนยุคทศวรรษ 2520 ที่นิตยสารศิลปวัฒนธรรมนี่เองที่เป็นสมรภูมิให้การประดาบกันทางข้อมูลสนุกสนานอย่างยิ่ง
.
เหตุที่ไม่สนุกก็เพราะข้อมูลใหม่ๆ นั้นมันถูกใช้กันเสียจนไม่เหลือให้ใหม่อีกต่อไป ยกเว้นข้อมูลเอกสารชั้นต้นภาษาต่างประเทศ หรือเอกสารโบราณสลักลับในหอสมุดแห่งชาติ เช่น เอกสารเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทราบว่าปัจจุบันก็ยังมีที่ไม่เปิดให้สาธารณชนเข้าถึงอีกมาก
 .
ปัจจุบัน แวดวงวิชาการประวัติศาสตร์จึงหันมาเล่นสนุกกันบนข้อมูลเก่า โดยมองผ่านกรอบคิดทฤษฎีมากขึ้น เพราะกรอบทฤษฎีที่ใหม่ ทำให้ได้คำอธิบายใหม่ๆ จากข้อมูลเก่า
.
เหมือนการวิเคราะห์วรรณกรรมที่ทฤษฎีใหม่จะทำให้ได้ความหมายใหม่ๆ อยู่เสมอๆ ไม่จบไม่สิ้น แม้จะวิเคราะห์วรรณกรรมเรื่องเดิมก็ตาม
.
งานหนังสือเล่มของสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม ปัจจุบันก็หันมาพิมพ์วิทยานิพนธ์ และงานวิจัยแนวทฤษฎีใหม่กรอบอธิบายใหม่ขายหนาตามากขึ้น เพราะงานขายข้อมูลใหม่นั้นซาลงมากแล้วตั้งแต่ครึ่งแรกของทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา
.
ดังนั้น การได้ข้อมูลประวัติศาสตร์ “ใหม่” มา เมื่อดีใจเสร็จ เราจำต้องหยุดทบทวนสองตลบเป็นอย่างน้อย
.
ตลบที่ 1 ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่า น่าจะมีคนเคยใช้แล้วหรือไม่ เราจะมีบุญถึงขนาดค้นเจอเอกสารเก่าที่ไม่เคยมีใครในประเทศนี้เห็นและใช้มาก่อนหรือ? ตรงนี้แหละคือการที่ต้องอาศัยทุนการอ่านที่กว้างขวาง ทุนกัลยาณมิตรทั้งรุ่นเดียวและต่างรุ่นกันดังที่กล่าวตอนต้น
 .
ตลบที่ 2 ตั้งคำถามว่าที่เราคิดว่าใหม่นั้น เป็นเพราะอะไร ถ้าตอบว่าใหม่เพราะเราไม่เคยเห็น เพราะเราไม่เคยอ่านเจอ... ก็ต้องถามต่อว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่คนอื่นเขาเคยเห็น เคยใช้ และเคยอ่านมาแล้ว ซึ่งเเน่นอนว่าย่อมเป็นไปได้
 .
การคิดทั้งสองตลบนี้ ท้ายที่สุดแล้วก็ย้อนกลับไปสู่ประเด็นเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องนั่นเอง ว่าไม่ว่าจะเขียนบทความสั้น บทความยาว ลงในสื่อกระดาษ หรือสื่อออนไลน์ เราต้องเขียนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องไว้เสมอ
.
ไม่เขียนในกระดาษ ก็ทดไว้ในใจ..!!!!
.


กำลังโหลดความคิดเห็น