คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ / โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
แม้ว่า “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” หรือการตั้ง “โต๊ะพูดคุยสันติสุข” หรือจริงๆ สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเปิดพื้นที่เพื่อ “เจรจา” ยุติการใช้กำลังและอาวุธระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในนามของ “บีอาร์เอ็นโคออดิเนต” ครั้งล่าสุดแม้จะเปิดม่านขึ้นอย่างดูดีไปแล้วก็ตาม
.
แต่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
.
จริงอยู่ว่ารัฐบาลไทยจะตั้ง “โต๊ะพูดคุยสันติภาพ” ในช่วงแรก แล้วตอนหลังขอเปลี่ยนให้เรียกว่า “โต๊ะพูดคุยสันติสุข” กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในชื่อกลุ่ม “มาราปาตานี” มานานกว่า 7 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมากลับยังไม่มี “ตัวจริง” ของฝ่าย “บีอาร์เอ็นโคออดิเนต” เข้ามาร่วมโต๊ะพูดคุยด้วยอย่างเป็นทางการเลยแม้แต่ครั้งเดียว
แต่ครั้งล่าสุดนี่เองคือ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 ที่ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐไทย ซี่งมีอดีตเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้นั่งเจรจากับ “อุสตาสหีพนี มะเระ” หรือ “นายอานัส อับดุลเราะห์มาน” ผู้ซึ่งเป็น 1 ใน 10 แกนนำด้าน “จิตวิญญาณ” ได้ถูกส่งมาทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยของฝ่ายบีอาร์เอ็นโคออดิเนต
แถมเป็นการนั่งโต๊ะเจรจากันแบบไม่มีตัวแทนกลุ่ม “มาราปาตานี” เข้าร่วม ซึ่งกลุ่มนี้เป็นที่รับรู้กันว่าเป็นชื่อใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมเอาตัวแทนจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มเก่าๆ เช่น “พูโล” “บีไอพีพี” “มูจาฮีดิน” และกลุ่มอื่นๆ แต่กลับไม่เคยมีบีอาร์เอ็นโคออดิเนตร่วมเลย ซึ่งต่างเคยอ้างตัวว่าเป็นตัวแทนของชาวมลายูปัตตานีด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ใครที่หวังใจไว้ว่า ถ้าโต๊ะพูดคุยสันติสุขสามารถทำให้มีตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนตโดยตรงเข้าร่วมได้แล้ว นั่นหมายความว่า จะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ยุติลงทันที” ใครที่คิดไว้แบบนี้อาจจะต้องบอกว่า น่าจะเป็นการ “เข้าใจผิดมหันต์” เพราะการพูดคุยเพิ่งจะเริ่มต้น แถมยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ให้เห็นทั้งในเรื่องของข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องต่างๆ ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็นโคออดิเนต
ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่คนในพื้นที่ควรรับรู้คือ ตัวแทนจากขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนต 6-7 คนที่เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยกับ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ และคณะครั้งล่าสุดนั้น หลังจากแถลงข่าวร่วมกันอย่างเป็นที่ฮือฮาผ่านไปได้เพียง 1 วัน ฝ่ายบีอาร์เอ็นโคออดิเนตเองก็ได้ “สั่งปลด” ให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่สำคัญในขบวนการไปแล้ว
.
ทั้งนี้ ก็เนื่องจากบีอาร์เอ็นโคออดิเนตเป็น “ขบวนการลับ” บุคคลใดที่เปิดเผยตัวตนให้สาธารณะรับรู้แล้ว พวกเขาจำเป็นต้องถูกทำให้พ้นภาระหน้าที่สำคัญๆ ไป โดยพาะกับบทบาทในการชี้นำภายในขบวนการ
.
ดังนั้น ในวันนี้ไม่ว่าจะเป็น อุสตาซหิพนี มะเระ หรือ นายอานัส อับดุลเราะห์มาน รวมทั้ง นายวาเหะ หะยีอาแซ, นายรอมลี แมเราะ, นายเจ๊ะมูดอ เจ๊ะเต๊ะ, นายอับดุลเลาะมาน ปาลาวี, นายฮำหมัดมูริส ลาเต๊ะ และ นายมะบง หรือ นายมะ ไซนุง พวกเขาต่างจำต้องพ้นจากตำแหน่งสำคัญในขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนตไปแล้วนั่นเอง
ความจริงแล้วยังมีความเปลี่ยนแปลงในขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนตอีกมากมาย ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงไทยควรต้องเปิดเผยให้คนในพื้นที่ รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รับรู้ไว้ด้วย อย่างกรณี “นายดุลเลาะ แวมะนอ” ที่เวลานี้ก็ไม่ได้นั่งเป็น “ประธานขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนต” แล้ว แต่ถูกโยกให้ไปนั่งเป็นที่ปรึกษา “สภาซูรอ”
.
ส่วนสมาชิกทั้ง 8 คนในสภาซูรอจะประกอบด้วยใครบ้าง รวมถึงอีก 2 บุคคลสำคัญยิ่งคือ “ประธาน” และ “เลขาธิการ” ของขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนตตามโครงสร้างใหม่คือใคร เรื่องนี้ก็ยังไม่มีการเปิดเผยออกมา
.
หากจะกล่าวว่าช่วงเวลานี้ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนตกำลังอยู่ใน “ยุคผลัดใบ” ก็คงไม่ผิดอะไร โดยเฉพาะมีกลุ่มชนชั้นกลางได้ก้าวขึ้นเป็นผู้มีบทบาทมากมาย แถมส่วนใหญ่เป็น “นักเรียนนอก” ที่ล้วนมีความรู้ในเรื่องภาษาต่างประเทศ มีความเข้าใจในกระบวนการสันติภาพ การเจรจาและด้านกฎหมายระหว่างประเทศเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม บุคคลสำคัญๆ ที่ถือเป็น “คนเก่า” ของขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนต โดยเฉพาะคนที่หน่วยงานการข่าวไทยรู้จักกันดีและยังมีอำนาจอยู่ในขบวนการจริงก็ยังมีอยู่บ้าง แต่ก็เหลือไม่กี่คนแล้ว เช่น “นายเด็ง แวกะจิ” ที่รับผิดชอบกองกำลังติดอาวุธ หรือ “นายอดุลชย์ มุณี” ที่รับผิดชอบงานด้านการเมือง เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลไทยยังเห็นว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังจำเป็นต้องมีกระบวนการเจรจากับฝ่ายเห็นต่างอย่างเป็นทางการและเป็นไปตามหลักการสากล โดยเฉพาะต้องมี “องค์กรต่างประเทศ” และ “ประเทศที่สาม” เข้ามาร่วมอำนวยความสะดวกและเป็นสักขีพยานด้วยนั้น
รัฐบาลไทยจึงจำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับบีอาร์เอ็นโคออดิเนตให้ประชาชนได้รับทราบไว้ เพื่อสังคมจะได้เห็น “ตัวตน” ที่ชัดเจนของขบวนการนี้ เพื่อที่จะได้บอกได้ว่าปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นฝีมือของขบวนการนี้ และมีใครบ้างที่มีบทบาทอยู่ในขบวนการนี้
สำหรับบีอาร์เอ็นโคออดิเนตถือเป็น “องค์กรลับ” ที่มีความเป็นมายาวนาน มีเสียงร่ำลือว่าจุดแข็งของขบวนการนี้อยู่ที่สามารถรักษาความลับได้ดีเยี่ยม แต่ในทางกลับกันนั่นอาจจะเป็นเพราะ “งานการข่าว” ของรัฐบาลไทยอาจจะ “ห่วยแตก” ก็เป็นได้
ดังนั้น การจะต่อสู้กับองค์กรลับแห่งนี้ได้ดีที่สุดก็คือ “ต้องเปิดเผยข้อมูลทุกมิติ” ของขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนตให้สาธารณชนทั้งคนไทยและทั่วโลกได้รับทราบไว้ ซึ่งนั่นมีแต่จะเป็นผลดีต่อรัฐบาลไทย โดยเฉพาะในการต่อสู้ที่จะต้องตั้งโต๊ะเจรจาระหว่างกัน ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลไทยจะ “เข้าใจ” ในเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร
รวมทั้งต้องติดตามต่อไปว่าในส่วนของ “มาราปาตานี” ต่อจากนี้จะมีความเคลื่อนไหวอย่างไร เพราะกลุ่มนี้เคยมีบทบาทอยู่บนโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยมากว่า 7 ปี แต่สุดท้ายกำลังจะกลายเป็นฝ่ายตก “ขบวนรถไฟสายสันติภาพ” ที่กำลังจะมีขึ้นบนผืนแผ่นดินไฟใต้
ทั้งนี้ทั้งนั้น แนวทางที่เป็นไปได้ของกลุ่มมาราปาตานีก็อาจจะมีการ “ฟาดงวง ฟาดงา” ใส่รัฐบาลไทย หรืออาจจะ “นิ่งเฉย” แบบยอมรับโดยดุษณี เนื่องจากที่ผ่านๆ มา ต่างก็เป็นที่ทราบกันดีว่าคนกลุ่มนี้คือ “โบกี้เปล่า” ที่ไม่สามารถสร้างมูลค่าในการต่อรองกับรัฐบาลไทยมาตลอด เพียงต้องการขอมีส่วนร่วมอยู่ในขบวนรถไฟสายสันติภาพบนแผ่นดินด้ามขวานเท่านั้น
ดังนั้น จึงเชื่อกันว่าในระหว่างกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่กำลังจะเริ่มขึ้นระลอกใหม่ ซึ่งก็ยังไม่มีข้อตกลงใดๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะมากไปกว่าสัญญา 7 ข้อในการกำหนดแนวทางการพูดคุย “ความรุนแรง” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงจะยังคงดำเนินต่อไป เพื่อ “หล่อเลี้ยง” สถานการณ์ และเพื่อใช้ “ ต่อรอง” บนโต๊ะพูดคุยที่จะมีขึ้นในอนาคต
.
แต่เอาเถอะ! การได้เจรจากับ “โจรตัวจริง” ย่อมดีกว่าการเสียเวลาพูดคุยกับ “โจรตัวปลอม” หรือตัวละครที่ถูกจัดฉากขึ้นมามิใช่หรือ
.
อย่างไรก็ตาม นับแต่นี้ไปสังคมไทยนอกจากจะต้องให้ความสนใจกับเวทีการพูดคุยสันติสุขแล้ว ยังต้องสนใจกับบริบทของ “องค์กรต่างชาติ” ที่ต้องการเข้าไปมีบทบาทอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งสามารถสร้างได้ทั้ง “คุณ” หรือ “โทษ” ให้ตกอยู่กับสังคมคนในพื้นที่
เวลานี้มีข่าวว่า “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross : ICRC)” ได้เข้าไปป้วนเปี้ยนในพื้นที่มาแล้วหลายปี แถมกำลังเตรียมการขออนุญาตจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อจัดตั้ง “สำนักงานถาวร” ใน จ.ปัตตานีด้วย
ทั้งนี้ ข่าวที่เกิดขึ้นได้สร้างความไม่สบายใจให้แก่ผู้ที่ “รู้จัก” และ “เข้าใจ” บทบาทการทำหน้าที่ขององค์กรสากลอย่าง “ไอซีอาร์ซี” เป็นอย่างดี จนมีการตั้งคำถามสำคัญประการหนึ่งว่า สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้เป็นการเหมาะสมแล้วหรือที่จะให้องค์กรนี้เข้าไปตั้งสำนักงานอย่างเป็นทางการและเป็นการถาวร
แน่นอนถ้าดูภารกิจของ “ไอซีอาร์ซี” จะพบความต้องการที่แท้จริงว่า 1.เข้าเยี่ยมเชลยสงครามและผู้ต้องขังจากข้อหาความมั่นคง 2.สืบหาผู้สูญหายที่เป็นผลมาจากสงครามหรือความไม่สงบ 3.ส่งข้อมูลข่าวสารให้สมาชิกในครอบครัวที่ต้องพลัดพรากจากกันเพราะสงครามหรือการสู้รบ 4.ช่วยให้สมาชิกครอบครัวที่พลัดพรากได้กลับมาพบมาอยู่ร่วมกัน 5.จัดหาน้ำสะอาด ยารักษาโรค ช่วยเหลือทางการแพทย์ให้แก่ผู้ประสบภัยสงคราม 6.เผยแพร่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ 7.เฝ้าสังเกตการณ์บังคับใช้เพื่อให้มีการปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และ 8.ช่วยผลักดันการพัฒนาข้อกฎหมายและอนุสัญญาต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน
.
วันนี้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยยังไม่ใช่สถานการณ์อย่างที่ “ไอซีอาร์ซี” สมควรจะได้เข้าไปตั้งสำนักงานถาวรเพื่อปฏิบัติการตามภารกิจทั้ง 8 ข้อใช่หรือไม่
.
จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำความเข้าใจกับ “ไอซีอาร์ซี” ว่าอย่าเพิ่งเข้าไป “จุ้นจ้าน” กับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย
.
เพราะวันนี้ประเทศไทยเราไม่มี “เชลยสงคราม” ที่สำคัญเราไม่มี “สงคราม” หรือ “การสู้รบ” อย่างไรที่กำลังเกิดขึ้นในซีเรีย อิรัก และประเทศอื่นๆ จึงไม่มี “ผู้พลัดพรากจากสงคราม” รวมทั้งยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องใช้ “กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” แต่อย่างใด
แค่ให้มีสำนักงานในกรุงเทพฯ ก็น่าเพียงพอแล้ว ซึ่งบรรดาที่ปรึกษาที่เป็น “นายทหารเกษียณ” บ้าง “ข้าราชการเกษียณ” จากกระทรวงต่างๆ บ้าง นั่นน่าจะสร้างความเข้าใจกับ “ไอซีอาร์ซี” ได้ถึงบทบาทและความพอใจ โดยเฉพาะการไม่ไปสร้างปัญหาให้แก่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
.
อีกทั้งเมื่อพิจารณาบทบาทของ “ไอซีอาร์ซี” ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านๆ มา พบว่า นอกจากแทบจะไม่ได้สร้างภาพลักษณ์เชิง “บวก” ให้เกิดขึ้นแล้ว กลับยังมักปรากฏภาพเชิง “ลบ” เสียมากว่า
.
เวลานี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้ง “องค์กร” และ “กลุ่มคน” จากต่างประเทศเข้าไป “เดินขวักไขว่” และหลายครั้งก็เข้าขั้น “ยุ่มย่าม” เอาเสียด้วย ซึ่งนอกจากสร้าง “ผลเสีย” กับสถานการณ์ในพื้นที่แล้ว ยังกลับเป็น “ผลดี” ให้แก่ฝ่ายที่เป็นเหมือนลมใต้ปีกบีอาร์เอ็นโคออดิเนตด้วย
เรื่องราวเหล่านี้มีให้เห็นเด่นชัดมาอย่างต่อเนื่อง หรืออย่างล่าสุดหลังจากวันที่ 20 มกราคม 2563 ที่มีการเจรจากันอย่างเป็นทางการระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย กับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนต ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งก็ได้ตามมาด้วยมีองค์กรต่างๆ ในพื้นที่มากมายได้ออกมาเคลื่อนไหวแบบที่เรียกว่า “สอดประสาน” กันอย่างคึกคักยิ่ง
.
ณ เวลานี้ รัฐบาลไทยได้เดินมาถึง “ทางสองแพร่ง” ที่ต้องตัดสินใจว่าควรจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ “ไอซีอาร์ซี” ได้เข้าไปมีบทบาทต่อสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
.
ณ วันนี้เช่นกัน รัฐบาลไทยต้องตัดสินใจว่าจะ “ปอกเปือก” ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนตให้ “ล่อนจ้อน” เพื่อให้สังคมเห็นสภาพแท้จริงของปัญหาและร่วมมือกับรัฐบาลหนุนให้ “ยุติความรุนแรง” ในพื้นที่อย่างรู้เท่าทัน