xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติเตือนเศรษฐกิจใต้ยังต้องระวัง! เจอหนักทั้งไวรัสโคโรนา-ภัยแล้ง-งบ 63 ที่ล่าช้า (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ธปท.สำนักงานภาคใต้ แถลงแนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาส 1 ปี 2563 ยังคงมีความเสี่ยงจากทั้งไวรัสโคโรนา-ภัยแล้ง-การลงทุนภาครัฐ เผยภาวะเศรษฐกิจและการเงินไตรมาส 4 ปี 2562 หดตัวจากไตรมาส 3 เนื่องจากผลผลิตปาล์มลดลง แม้จะมีราคาดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง กระทบต่อกำลังซื้อ ลงทุนหดตัวทั้งภาครัฐ-เอกชน คนว่างงานเพิ่มขึ้น

วันนี้ (4 ก.พ.) นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผอ.อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ แถลงถึงภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาส 4 ปี 2562 และแนวโน้มว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นจากปี 2562 แต่ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิด ทั้งจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลง ความล่าช้าของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 และรายได้ครัวเรือนที่ชะลอลง

“แนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาส 1 ปี 2563 ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในหลายด้าน ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่กระทบการท่องเที่ยว ภัยแล้ง และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในส่วนของการลงทุนภาครัฐ” นายสันติ กล่าว

ผอ.อาวุโส ธปท. สำนักงานภาคใต้ กล่าวว่า ส่วนภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ในภาพรวมหดตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ผลผลิตเกษตรกลับมาหดตัวเนื่องจากปาล์มน้ำมันมีผลผลิตลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวชะลอลง กระทบต่อกำลังซื้อทำให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอลง นอกจากนี้ การที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลงยังเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจต่างประเทศเริ่มเห็นสัญญาณปรับดีขึ้นบ้างในช่วงปลายไตรมาสทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวหดตัวน้อยลง

 


 
สำหรับการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อติดลบมากขึ้นเนื่องจากหมวดพลังงาน ตามทิศทางราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลง ขณะที่อัตราการว่างงานหลังขจัดปัจจัยฤดูกาลปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้ ผลผลิตเกษตรหดตัวจากไตรมาสก่อน จากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ลดลงมาก ซึ่งเป็นการลดลงตามฤดูกาลปกติ รวมกับผลของฐานสูงจากการเหลื่อมฤดูกาลในปีก่อน เมื่อมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปผลิตน้ำมันไบโอดีเซล B10 ทำให้ในขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ขณะที่ผลผลิตกุ้งขาวหดตัวเล็กน้อยจากผลของพายุโซนร้อน ที่ทำให้อัตราการรอดของกุ้งต่ำ

ส่วนยางพารานั้น ผลผลิตยังคงขยายตัว ในขณะที่ราคายางพาราปรับลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวและความต้องการจากจีนที่ลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อน การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอลงจากไตรมาสก่อนและทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าในชีวิตประจ้าวันและหมวดยานยนต์กลับมาหดตัว อย่างไรก็ดี การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายในภาคบริการด้านการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนที่ยังคงขยายตัว โดยส่วนหนึ่งได้รับผลดีชั่วคราวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น มาตรการชิมช้อปใช้

การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากการผลิตน้ำมันปาล์มที่กลับมาหดตัวตามปริมาณวัตถุดิบที่เข้าสู่โรงงานลดลง ด้านการผลิตอาหารทะเลกระป๋องหดตัวต่อเนื่องตามการผลิตปลาซาร์ดีน อย่างไรก็ดี การผลิตยางพาราแปรรูปและไม้ยางและผลิตภัณฑ์หดตัวน้อยลงจากปัจจัยชั่วคราวที่ตลาดจีนเร่งสั่งซื้อก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีน สำหรับการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน จากการผลิตปลาและกุ้งเป็นสำคัญ ในด้านมูลค่าการส่งออกหดตัวน้อยลงตามการส่งออกอาหารทะเลและสินค้าอุตสาหกรรมที่ปรับดีขึ้น

 


 
ด้านการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย และยุโรปที่กลับมาขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดเส้นทางบินใหม่มายังจังหวัดภูเก็ตและกระบี่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียยังคงหดตัวจากปัจจัยฐานสูงในไตรมาสเดียวกันปีก่อนเป็นสำคัญ

การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อนตามการลดลงของรายจ่าย การลงทุนในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมชลประทาน กรมทางหลวง และกรมศุลกากร ตลอดจนหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสถาบันการศึกษาในกำกับของรัฐที่ออกนอกระบบ ขณะที่รายจ่ายประจำยังคงหดตัวตามการเบิกจ่ายที่ปรับลดลงในหมวดค่าใช้สอยและงบรายจ่ายอื่นของกรมการพัฒนาชุมชน

การลงทุนภาคเอกชนหดตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนตามการลงทุนของภาคการผลิตในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ยังคงหดตัว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพาราแปรรูป ไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนน้ำมันปาล์ม ด้านการลงทุนในภาคก่อสร้างขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากพื้นที่ก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และเพื่อการบริการในหมวดโรงแรมที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับอัตราการว่างงานหลังขจัดปัจจัยด้านฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 1.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 ปี 2562

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.28 ลดลงจากร้อยละ -0.04 ในไตรมาสก่อน ตามการปรับลดลงของราคาพลังงานเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก กอปรกับราคาอาหารสดที่ขยายตัวชะลอลง เงินฝากทั้งระบบขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนตามการชะลอลงของเงินฝากธนาคารพาณิชย์ประเภทเงินฝากประจำเป็นสำคัญ
 
ด้านสินเชื่อคงค้างทั้งระบบขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนตามการชะลอลงของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์จากผลของฐานสูงที่เป็นปัจจัยเฉพาะ เนื่องจากมีการโอนพอร์ตสินเชื่อของบริษัทในเครือเมื่อเดือนธันวาคมปี 2561
 





กำลังโหลดความคิดเห็น