xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน-อุ้มหายฉบับประชาชนต่อ กมธ.ยุติธรรม สภาผู้แทนฯ 30 ม.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - 12 องค์กร 41 บุคคล เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน-อุ้มหายฉบับประชาชนต่อ กมธ.ยุติธรรม สภาผู้แทนฯ 30 ม.ค. จัดเสวนาที่สมาคมนักข่าวก่อน 1 วัน จัดทำรายงานเทียบฉบับของรัฐบาล

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับองค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ตัวแทนภาคประชาชน ตัวแทนญาติผู้เสียหาย รวม 12 องค์กร และบุคคลอีก 41 คน เตรียมยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ฉบับประชาชน ต่อประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 30 ม.ค. พร้อมกับจัดทำรายงานเปรียบเทียบร่างฉบับประชาชนและฉบับของรัฐบาลด้วย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ร่างกฎหมายฉบับประชาชนดังกล่าวนี้ยืนยันที่จะให้กฎหมายอนุวัติการมีสาระบัญญัติที่ครบถ้วนตามที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ.2527 ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค.2550 และได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ.2549 ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2555

เช่น ถือการทรมานเนื่องจากเหตุของการเลือกปฏิบัติไม่ว่าในด้านใดจะกระทำมิได้ ห้ามผลักดันบุคคลออกนอกราชอาณาจักรหากบุคคลดังกล่าวอาจต้องเผชิญกับการทรมาน ห้ามอ้างเหตุผลหรือสถานการณ์ใดๆ รวมทั้งภาวะสงคราม กฎอัยการศึกหรือสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อกระทำการทรมานหรือกระทำให้บุคคลสูญหาย

ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาต่อการกระทำทรมานหรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย การกำหนดมาตรการป้องกันโดยให้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ และการให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายทุกกรณี รวมทั้งให้มีอำนาจตรวจสอบและมีคำสั่งเพื่อระงับการทรมานและเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหาย เป็นต้น

ทั้งนี้ ในวันที่ 29 ม.ค. จะมีการจัดงานเสวนาแลกเปลี่ยน รับฟังความคิดเห็น และแถลงข่าวร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมงาน เช่น นางอังคณา นีละไพจิตร และนายสมศักดิ์ ชื่นจิตร ตัวแทนผู้เสียหาย นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจากการทรมาน ผู้เสียหายจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ในส่วนของรัฐบาลนั้น ได้นำเสนอร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว โดยเรื่องดำเนินไปถึงชั้น กมธ. โดยมีการแก้ไขในหลายประเด็น ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยการเสนอของกระทรวงยุติธรรม ขอถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกจากการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณากฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยได้มีการนำไปรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น