xs
xsm
sm
md
lg

ตอกเสาเข็มโรงไฟฟ้าขยะกระบี่ลงบนหัวใจและคราบน้ำตาของชาวบ้านที่คัดค้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขยะเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองท่องเที่ยวหลักๆ ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี ทำให้เกิดปัญหาในการจำกัดขยะ การฝังกลบจนเต็มพื้นที่ จำเป็นที่จะต้องหาวิธีกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพรองรับขยะที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย หรือโรงเตาเผาขยะที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วย จึงกลายเป็นทางเลือกในการจัดการขยะมูลฝอยในหลายพื้นที่



เช่นเดียวกันจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในฝั่งอันดามัน ที่แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้าจำนวนมาก ปัญหาขยะเพิ่มส่อแววให้เห็น เทศบาลเมืองกระบี่จึงได้วางแผนที่จะดำเนินการโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมของเทศบาลเมืองกระบี่ หรือโรงไฟฟ้าขยะกระบี่ เพื่อเป็นศูนย์กำจัดขยะรวมของจังหวัดกระบี่ ที่จะรองรับขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วทั้งจังหวัดกระบี่


ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมของเทศบาลเมืองกระบี่ จึงถูกจัดอยู่ในบัญชีโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และข้อมูลศักยภาพระบบไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก Quick Win Project ในรูปแบบ Feed-in Tariff (fit) โดยมีบริษัท อัลไลแอนซ์ คลีน เพาเวอร์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนของเทศบาลเมืองกระบี่ ตั้งอยู่บ้านทับไม้ ม.1 ต.ทับปริก และ ม.1 ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าวันละ 6.0 เมกะวัตต์

เพื่อทดแทนการฝังกลบขยะที่ศูนย์ฝังกลบขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองกระบี่ ที่อยู่บนเนื้อที่ 251 ไร่ เปิดใช้มาตั้งแต่ปี 2540 มีปริมาณขยะที่ฝังกลบแล้วกว่า 6 แสนตัน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ประกอบกับจังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีการเติบโตของประชากรแบบก้าวกระโดด ขยะมูลฝอยที่มีไม่น้อยกว่า 200 ตันต่อวัน ยากต่อการกำจัด อย่างไรก็ตาม การเจริญเติบโตของเมืองท่องเที่ยวทำให้ทั้ง 8 อำเภอ มีขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง


บ่อฝังกลบขยะของเทศบาลเมืองกระบี่ ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์รวมขยะของจังหวัดในการกำจัดขยะ และเพื่อลดต้นทุนในการกำจัดขยะ แก้ปัญหาขยะล้นเมือง การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะจึงอยู่ในแผนโครงการของเทศบาลเมืองกระบี่ โดยให้เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการบริหารจัดการ จะช่วยแก้ปัญหาขยะที่ล้นเมืองได้ และเป็นนโยบายรัฐบาลในวาระแห่งชาติ ซึ่งเทศบาลเมืองกระบี่ เห็นว่าการนำขยะมาผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนแก้ปัญหาได้อย่างถาวร ทุกๆวันโรงไฟฟ้า จะใช้ขยะ 450 ตัน ในการเผาเป็นเชื้อเพลิง

โดยขยะที่เข้าสู่ศูนย์กำจัดขยะวันละ 200 ตัน เป็นขยะมาจากเทศบาลในพื้นที่กระบี่ จำนวน 14 แห่ง ขยะจาก อบต.จำนวน 48 แห่ง รวมกับขยะเก่าที่เทศบาลเก็บไว้ในหลุมฝังกลบขยะ 2 หลุม ประมาณ 6-7 แสนตัน เพื่อใช้ในการเป็นเชื้อเพลิงวันละ 450 ตัน คาดว่าไม่เกิน 10 ปี ขยะกองมหึมาจะหมดไป และหลังจากนั้นก็ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม เทศบาลเมืองกระบี่ มั่นใจว่าปริมาณขยะคงจะพอเพียงในการผลิตกระแสไฟฟ้าไปได้อีกหลายปี


แต่หลังจากที่ชาวบ้านในช่อง ต.ทับปริก อ.เมือง ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่รอบๆ บ่อฝังกลบขยะ ทราบว่า เทศบาลเมืองกระบี่ มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าขยะขึ้นในพื้นที่ และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เทศบาลเมืองกระบี่กำลังจะนำเข้าสู่ชุมชน ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้เทศบาลเมืองกระบี่ ย้ายสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ออกจากพื้นที่ และได้แสดงออกให้เห็นว่าชาวบ้านไม่ต้องการโรงไฟฟ้าขยะ โดยชาวบ้านให้เหตุผลว่า โรงไฟฟ้าขยะที่จะมีการก่อสร้างขึ้นนั้น ตั้งอยู่ใกล้โรงเรียน ชุมชน และวัด ที่สำคัญอยู่ในเขตแหล่งน้ำชั้น A ซึ่งไม่มีความเหมาะสม

หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนในชุมชนอย่างแน่นอน เนื่องจากแต่ละวันต้องใช้ขยะไม่น้อยกว่า 450 ตัน เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ก่อให้เกิดปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง ควันจากการเผาไหม้ขยะอย่างแน่นอน และการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ไม่ใช่เป็นทางออกการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง


แต่การคัดค้านของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ดูเหมือนว่าจะไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น ทุกหน่วยงานของรัฐใส่เกียร์ว่าง เพราะกลัวถูกโยกย้าย บวกกับแรงหนุนของชาวบ้านไม่แรงพอที่จะต้านโรงไฟฟ้าขยะ ของเทศบาลเมืองกระบี่ได้ เทศบาลเมืองกระบี่จึงเดินหน้าโครงการไปทีละก้าว ตั้งแต่การขออนุมัติเซ็นสัญญาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ กับบริษัท อัลไลแอนซ์ คลีน เพาเวอร์ จำกัด ใช้เงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 1,000 ล้านบาท ตามมาด้วยการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ในปี 2562 เพื่อให้โครงการมีความชอบธรรมในการก่อสร้าง ท่ามกลางเสียงคัดค้านและน้ำตาของชาวบ้าน ที่คาใจว่า ทำไมไม่ฟังเสียงของชาวบ้านบ้างเลย

นายกีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ ออกมาระบุว่า การศึกษาและพัฒนาสิ่งแวดล้อมจากมูลขยะเพื่อพลังงานสะอาดสู่ชุมชน เป็นความร่วมมือกันในการจัดการขยะ โดยนำขยะเข้าสู่กระบวนการจัดการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ขั้นตอนในการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า คือ การนำขยะเข้าสู่กระบวนการทำความสะอาดฆ่าเชื้อด้วยระบบไอน้ำ กระบวนการคัดแยกขยะ โดยขยะเปียกหรือขยะชีวภาพจะถูกแยกออกมาเพื่อนำกลับมาใช้ หรือนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น


ส่วนขยะที่เหลือจากการคัดแยกจะนำเข้าสู่ขั้นตอนการแยกก๊าซที่มีอยู่ในขยะ เพื่อนำก๊าซที่ได้เข้าสู่ขั้นตอนการนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ ในทุกขั้นตอนจะดำเนินการด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย และแต่ละขั้นตอนจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในโรงงาน ส่วนน้ำเสียที่ได้จากการคัดแยกขยะจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดและนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งจะช่วยแก้ปัญหาขยะที่ล้นเมืองได้

ขณะที่ฝ่ายคัดค้าน พันจ่าเอกปัญญา หิรัญ ประธานกลุ่มรักษ์ในช่อง กล่าวว่า ที่ผ่านมา ชาวชุมชนบ้านในช่อง ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ได้มีการรวมตัวคัดค้าน ต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้มาตลอดตั้งแต่ทราบว่าทางเทศบาลเมืองกระบี่ จะมีโครงการก่อสร้างขึ้น แต่ไม่เป็นผล พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนไม่มี แม้แต่การจัดทำประชาพิจารณ์ ก็ยังไม่โปรงใส มีการเอาคนอื่นที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง มานั่งเชียร์ให้มีการก่อสร้าง จนสุดท้ายแล้ว กลุ่มคนรักในช่อง ก็ไม่สามารถคัดค้านกลุ่มนายทุนได้ และโครงการก่อสร้างก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ซึ่งชาวบ้านก็คงจะต้องยอมรับสภาพปัญหาที่จะตามมาในอนาคต


ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้เสนอข้อเรียกร้องให้ทางเทศบาลเมืองกระบี่ มีการแก้ไขปรับปรุงหลายอย่าง ตั้งแต่การฝังกลบขยะให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล การจัดการน้ำเสีย กลิ่นเน่าของขยะ ทางเทศบาลก็ไม่เคยแก้ปัญหาให้ได้ และตอนนี้ชาวบ้านก็ยังเป็นกังวลด้วยว่า ระหว่างที่โรงไฟฟ้ากำลังก่อสร้าง ปัญหาที่เกิดจากขยะ น้ำเสีย สิ่งแวดล้อม ความเดือดร้อนของชาวบ้านใครจะรับผิดชอบ เพราะทุกครั้งที่ชาวบ้านร้องเรียนปัญหาให้มีการแก้ไข กลับถูกมองว่าเป็นตัวสร้างปัญหา


ถึงตอนนี้ เทศบาลเมืองกระบี่ เดินหน้าโครงการเต็มสูบ มีการปรับพื้นที่และลงเสาเข็มโครงการไปเมื่อเร็วๆ นี้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้าน หลังจากนี้อีก 15 เดือน โรงไฟฟ้าขยะเทศบาลเมืองกระบี่ จะเดินเครื่องกำจัดขยะที่นำมาจากทั่วทั้งจังหวัดวันละกว่า 200 ตัน รวมทั้งขยะเก่าที่อยู่ในบ่อฝังกลบ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้วันละ 6 เมกะวัตต์


กำลังโหลดความคิดเห็น