xs
xsm
sm
md
lg

คุณค่าของบันทึกบน “แผ่นศิลา” และ “แท่งปูน” ที่หน้าฮวงซุ้ยชาวจีนฮกจิวในภาคใต้ของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จากนาบอนถึงริมฝั่งเจ้าพระยา  /  โดย... ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
 


 
เทศกาลตรุษจีนปีหนูหรือปีใหม่จีน 2563 นี้ตั้งใจเล่าเรื่อง “การจดบันทึกสายสาแหรกภูมิปัญญาประวัติศาสตร์” ของมนุษยชาติเผ่าพันธุ์ชาวจีนโพ้นทะเลแห่งแผ่นดินด้ามขวานทองของไทยมาให้ได้อ่านกัน
 
ประเพณีการไหว้บรรพชนของชาวจีนในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง (chengming) ในทุกๆ ปีมีการกำหนดในเดือน 5 ของจีน ซึ่งก็จะอยู่ช่วงสัปดาห์แรกๆ ของต้นเดือนเมษายนของทุกปี ถือเป็นประเพณีที่เหล่าลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลที่ อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช จะใช้เทศกาลดังกล่าวร่วมกันไหว้บรรพชน เพื่อรำลึกถึงคุณความดีของบรรพชนผู้วายชนม์ เพื่อโน้มจิตใจให้แสดงความกตัญญุตาหรือความกตัญญูของเหล่าลูกหลานที่มีต่อบรรพชนผู้ที่ล่วงลับที่ฝังกายลงในแผ่นดิน ณ เบื้องหน้าที่กราบไหว้
 

การสืบค้นหรือการค้นคว้าสืบสายสาแหรกจะทำให้ห่วงโซ่เครือญาติไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา เพราะมีการบันทึกเหนือแผ่นศิลาหน้าฮวงซุ้ย
 
ลูกหลานพี่น้องสายสาแหรกที่มีปู่ย่าตาทวดพ่อแม่ร่วมกัน พวกเขาก็จะได้แนะนำญาติสายสาแหรกให้แก่เหล่าลูกหลานรุ่นใหม่ๆ ที่มาร่วมเทศกาลเช็งเม้งได้รับรู้ว่า คนไหนเป็นลูกของปู่ทวดย่าทวดบ้าง คนไหนคือปู่ย่าตายายบ้าง หรือคนไหนเป็นลำดับชั้นในรุ่นของลุงป้าน้าอาบ้าง
 
แน่นอนว่าลูกหลานรุ่นใหม่ที่ใฝ่รู้ก็จะมีคำถามให้ได้สืบสาแหรกกันเพื่อ “รับรู้” และ “จดจำ” แล้ว “ส่งทอด” ความเข้าใจสู่รุ่นต่อๆ ไปไม่ให้สิ้นสุด ตราบใดที่ประวัติของครอบครัวยังมีชีวิตที่เคลื่อนไหว คำถามจากคนรุ่นใหม่ๆ เพื่อสืบสายสาแหรกยังคงมีการค้นคว้ากันต่อไปไม่หยุดนิ่ง ประเพณีการไหว้บรรพชนช่วงเทศกาลเช็งเม้งจึงยังคงคุณค่าการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ของชุมชนฮกจิวที่นาบอน
 

ภูมิปัญญาการจดบันทึกชื่อแซ่ของผู้วายชนม์
 
เมื่อถึงเทศกาลเช็งเม้งวันไหว้บรรพชนของลูกหลานชาวจีนฮกจิวในประเทศไทยที่ อ.นาบอน แม้จะเป็นชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ถนนจากย่านตลาดทอดยาวไปถึงสุสานของผู้วายชนม์จะหนาแน่นเป็นพิเศษไปด้วยรถราสารพัดชนิด เพราะเหล่าลูกหลานของชาวจีนฮกจิวจากถิ่นนี้ที่ได้ไปอาศัยอยู่ต่างถิ่นหรือตามจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะที่สวนยางพาราด้วยแล้วแทบจะไม่มีเว้น เช่น ระยอง พิษณุโลก สงขลา ฉะเชิงเทรา ชุมพร สุราษฎร์ธานี หรือกระทั่งกรุงเทพมหานคร พวกเขาจะเดินทางกลับมายังบ้านเกิดกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
 
ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายนของทุกๆ ปี พวกเขาจะเดินทางไปไหว้บรรพชนกันที่สุสานหรือฮวงซุ้ยที่บรรพชนฝังร่าง ซึ่งนักบุกเบิกชาวจีนฮกจิวในประเทศไทยรุ่นแรกๆ พวกเขาฝังร่างกันอยู่ตามเนินป่าสวนยางริมทางรถไฟสายใต้ โดยมากทำเลที่ถูกเลือกไว้เป็นที่ฝังกายเบื้องหน้าคือภูเขาสูงใหญ่ จึงดูเหมือนสุสานของชุมชนฮกจิวนาบอกดูจะสวยงามเป็นพิเศษ
 

หงูมินเต๊อะ หรือ น้าบุญส่ง จารุกิจพิพัฒน์ ผู้จดบันทึกให้กับชาวจีนฮกจิวนาบอน
 
“หงูมินเต๊อะ” หรือ “บุญส่ง จารุกิจพิพัฒน์” เล่าเรื่อง “ป้ายแท่งปูน” ที่สลักตัวอักษรภาษาจีนหน้าสุสานที่ฮวงซุ้ยว่า เป็นการบอกเล่ารายละเอียดถึงสายสาแหรก และเป็นบันทึกที่ไม่เลือนหาย หากจดใส่กระดาษก็เปื่อยยุ่ยหรือไม่ก็ถูกปลวกกิน หากเก็บไว้ที่บ้านการจดบันทึกอาจจะหายไปตามกาลเวลาที่ลูกหลานย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างเมืองเพื่อดิ้นรนอยู่รอดกันทางเศรษฐกิจ
 .
การจดบันทึกเอาไว้บน “แผ่นหินศิลา” หรือ “แท่งปูน” สะท้อนภูมิปัญญาของชาวจีนอย่างน่าทึ่ง 
 .
“แท่งปูนที่จารึกตัวอักษรหน้าหลุมศพบนฮวงซุ้ย เขียนชื่อผู้เป็นปู่และย่า (คู่สามีภรรยา) ปู่มีถิ่นฐานมาจากหมู่บ้านไหนของแผ่นดินจีน ปู่แต่งงานกับย่า ย่าชื่ออะไร เมื่อแต่งงานแล้วยังมีการบันทึกเอาไว้อีกว่า ปู่กับย่ามีลูกกี่คน ชื่ออะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้กาลเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน หากไม่มีการรื้อทำลาย หลักฐานเหล่านี้ทำให้ลูกหลานหลายๆ ชั่วรุ่นสามารถสืบสายสาแหรกกันได้เป็นหลายช่วงอายุคนอย่างไม่ขาดหาย 
 

สุสานของเหล่าบรรพชนคนฮกจิวในป่าสวนยาง แม้จะผ่านมากี่ชั่วรุ่นก็ยังคงมีเสน่ห์เมื่อถึงประเพณีเช็งเม้ง
 
อันสามารถสืบค้นหาความต่อเนื่องกลับไปได้ถึงยังชุมชนในชนบท อันเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของเหล่าบรรพชนชาวจีนฮกจิวในจังหวัดฟุโจว ของจีนแผ่นดินใหญ่ หรือที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้อย่างง่ายดาย
 
“บนแผ่นศิลาหน้าฮวงซุ้ยหรือหลุมฝังศพบริเวณเนินเขาในชนบทของชาวฮกจิวที่เมืองจีน ก็จะมีการจดบันทึกไว้เช่นเดียวกัน ชื่อของปู่ทวดย่าทวด มีลูกกันกี่คน ชื่ออะไรบ้าง หากพวกเขามีชีวิตอยู่แต่ละครอบครัวเมื่อแตกสาแหรกันออกไปก็จะบันทึกต่อๆ กันไปในหลุมศพของตัวเอง ซึ่งก็แน่นอนว่า เมื่อพวกเขาเดินทางออกสู่หนานหยาง ไปยังสิงคโปร์ ปีนัง มะละกา เมดาน สุมาตรา ซีบูเกาะบอร์เนียวกาลิมันตัน บรรพชนที่ไปบุกเบิกในแผ่นดินนอกประเทศจีนเหล่านั้นก็จะเขียนบนแผ่นศิลาหน้าป้ายฮวงซุ้ยในแบบแผนสาแหรกกันแบบนี้” 
 

สุสานชาวจีนโพ้นทะเลฮกจิว อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช
 
ชุมชนฮกจิวใน อ.นาบอน มีการบันทึกสายสาแหรกของเหล่าลูกหลานไว้ไม่ต่างกัน อีกทั้งยังมีผู้ทำหน้าที่นี้ในฐานะของผู้รู้หนังสือจีนคอยจดบันทึกให้แก่เหล่าบรรพชนคนฮกจิวด้วย แม้ว่าลูกหลานอาจจะเป็นรุ่นที่ 3 รุ่นที่ 4 หรือรุ่นใดๆ แล้วก็ตาม
 
“เมื่อถึงเทศกาลเช็งเม้งลูกหลานก็จะมีการเขียนชื่อทวด ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา รวมถึงผู้วายชนม์ทุกรุ่นที่ไปอยู่ยังภพใหม่ที่อยากให้มารับไหว้ให้ถูกต้อง รุ่นปู่ย่าตาทวดชื่ออะไร รุ่นพ่อแม่ชื่ออะไร รุ่นลูกหลานชื่ออะไร เพื่อจะได้ส่งข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า หมวก หมอน กระดาษเงินกระดาษทองเผาไปให้ได้ครับถ้วน อุปมาเหมือนกับการส่งข้าวของไปทางไปรษณีย์หรือ Kerry Express สู่ภพของผู้วายชนม์...
  

หลังไหว้บรรพชนเสร็จก็รับประทานอาหารร่วมกันหน้าฮวงซุ้ย แม้ว่าจะอยู่ต่างภพ ความอบอุ่นเบื้องหน้าหลุ่มฝังมิได้ห่างหายไปไหน
 
“หากไม่เขียนชื่อผู้รับที่ถูกต้องและครบถ้วน ชาวจีนฮกจิวมีความเชื่อว่าข้าวของที่เผาส่งไปให้เหล่านั้นจะตกไปเป็นของส่วนกลาง เทพเจ้าหรือเจ้าหน้าที่ในภพของผู้วายชนม์ก็จะไม่สามารถบริหารจัดการส่งไปถึงผู้รับได้... 
 
“มีลูกหลานของชาวจีนฮกจิวมาบอกเล่าให้ฟังกันว่า บางครอบครัวพวกเขาฝันกันไปว่าบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้วมาบอกว่า เสื้อผ้าข้าวของที่เผาส่งกันไปไม่ถึงมือพวกเขา เมื่อตื่นจากฝันก็ทบทวนกับชีวิตว่าปีนั้นๆ หลงลืมหรือมิได้เขียนชื่อแซ่ของบรรพชนคนไหนไว้ด้วยหรือเปล่า” 
  

ฮวงซุ้ยในสิงคโปร์ของชาวจีนโพ้นทะเล มีล่องรอยยุคอาณานิคมอังกฤษนำชาวอินเดียมาเป็นตำรวจ คนจีนที่นั่นเลยปั้นเป็นยามช่วยเฝ้าฮวงซุ้ยเสียเลย
 
น้าหงูมินเตอะ หรือ น้าบุญส่ง จารุกิจพิพัฒน์ ยังเปรยให้ฟังอีกว่า
 .
“บางครั้งมีลูกหลานของชาวจีนฮกจิวนาบอนที่ไปอยู่ต่างถิ่นห่างไกล พวกเขากลับมาทำพิธีไหว้บรรพชนช่วงเช็งเม้ง แต่ไม่รู้ว่าภาษาจีนที่จะใช้เขียนชื่อบรรพชนของเขาเขียนอย่างไร พวกเขาก็มักจะมาไหว้วานให้น้าบุญส่งเขียนให้ เพราะมีการจดบันทึกกันเอาไว้ว่า ปู่ย่าตาทวดรุ่นแรกๆ ของชาวนาบอนชื่ออะไรกันบ้าง พวกเขาเป็นลูกหลานของปู่ย่าตาทวดชื่อแซ่อะไรกันบ้าง การบันทึกความทรงจำของชุมชนจีนฮกจิวนาบอนจึงมีการสืบค้นสอบทวนกันทุกปีเมื่อถึงเทศกาลเช็งเม้ง” 
 

ฮวงซุ้ยของบรรพชนรุ่นปู่ทวดบนเนินเขาในจังหวัดฟุโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
 
เรื่องราวในสังคมชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลฮกจิวที่ อ.นาบอน จึงเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจในเชิงประวัติศาสตร์และมนุษยวิทยา เพราะมากมายไปด้วยเรื่องราวของประเพณี พิธีกรรม วัฒนธรรมและความเชื่อ แม้ว่ากาลเวลาจะได้เปลี่ยนแปลงไปนานแค่ไหนแล้วก็ตาม 
  .
แต่คุณค่าของความ “กตัญญู” รวมถึงการ “สืบสายสาแหรก” ก็ยังคงดำรงอยู่ที่ชุมชนฮกจิวนาบอนไปอีกนานแสนนาน  
 

เช็งเม้ง ประเพณีการรำลึกถึงบรรพชน คุณค่าของความกตัญญูยังคงดำรงอยู่มิเลือนหาย


กำลังโหลดความคิดเห็น