xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “ประชาธิปัตย์” แตกอีกในยุคดิสรัปต์ ฤๅจะสิ้นมนต์ ‘พรรคของเรา คนของเรา’! (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

.
โดย... ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
.



.
“หลังเลือกตั้งหัวหน้าพรรค มักมีกลุ่มก้อนคนทยอยลาออกจากพรรคนี้”
 .
หากจะกล่าวถึงสถานการณ์ของ “พรรคประชาธิปัตย์” เช่นนี้ ณ ห้วงเวลานี้ นั่นก็คงไม่ผิดนัก อยู่ที่ว่าจะออกช้าหรือออกเร็วเท่านั้นเอง!!
 .
เมื่อมองกลับไปที่ประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 73 ปีของพรรคการเมืองเก่าแก่ ซึ่งพยายามสถาปนาตัวเองให้ขึ้นไปสูงกว่าเดิมจนเป็นสถาบันการเมือง แล้วบอกว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรค เราจึงได้เห็นการต่อสู้กันในช่วงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ซึ่งนั่นย่อมเป็นวิถีทางที่ดีงามตามระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่สถาบันทางการเมืองที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของพึงกระทำ และที่สำคัญย่อมไม่มีใครปฏิเสธได้
 .
แต่เหตุการณ์หลังจากเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเสร็จต่างหากที่ทำให้เกิดปัญหา เมื่อคนที่แพ้และกลุ่มผู้สนับสนุนของเขาหลายคนต้องกลายเป็น “สุนัขหัวเน่า” ไม่ค่อยมีใครสนใจ
 .
จึงไม่ต่างอะไรกับการที่ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเพิ่งลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปหมาดๆ เพื่อไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อที่จะได้ดันตัวเองขึ้นหัวหน้าพรรค และเพื่อปูทางสู่การช่วงชิงบัลลังก์นายกรัฐมนตรีในที่สุด
 .
 

(แฟ้มภาพ)
.
สาเหตุที่ตั้งเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ใหม่ เป็นผลจากจากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งตามที่เคยพูดไว้ก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ไม่ถึง 100 คนจะขอลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ และเมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลงผลออกมาได้ไม่ถึง 100 ส.ส.จริง โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.ไม่เหลือแม้แต่ที่นั่งเดียว ส่วนฐานใหญ่อย่างภาคใต้ก็แลนด์สไลด์ เสาไฟฟ้าล้มระเนระนาด ตำแหน่งหัวหน้าพรรคจึงว่างลง
.
 นายกรณ์ได้ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2562 ซึ่งครั้งนั้นมีผู้ลงชิงตำแหน่งกับเขาด้วย คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผลออกมาปรากฏว่า นายจุรินทร์ชนะไปอย่างขาดลอย
 .
ท่ามกลางเสียงเล่าลือกันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการต่อสายสุดท้ายถึงโหวตเตอร์ทั้ง 307 คนกลางดึกก่อนการลงคะแนนไม่ถึง 24 ชั่วโมง!!
 .
 


.
หลังการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนั้น นายกรณ์ได้ถูกลดบทบาทในพรรคลงเรื่อยมา โดยเฉพาะการหลุดจากโผตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ซึ่งเขาได้โพสต์ถึงเรื่องนี้ในทวิตเตอร์ส่วนตัว @KornGoThailand ไว้เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2562 ว่า
 .
“วันนี้ในการประชุมพรรคเพื่อพิจารณารายชื่อผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรี ทางผู้บริหารพรรคได้เสนอชื่อ 7 ท่านที่จะเป็นรัฐมนตรีในนามของพรรค ซึ่งไม่มีผมอยู่ด้วย - พวกเราไม่ต้องเป็นกังวลนะครับ ผมอยู่ตรงไหนก็ทำงานได้ ผมจะทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส.ให้ดีที่สุดต่อไป”
.
ในช่วงเวลาหลังจากนั้น นอกจากการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และตำแหน่ง ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์แล้ว ยังมีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หลายคนทยอยลาออกจากพรรค หลังจากที่นายจุรินทร์แถลงว่าจะนำพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2562
 .
สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เด่นๆ ที่ลาออกหลังหัวหน้าพรรคคนใหม่หัวหัวหน้าพรรคคนเก่าพลิกลิ้นเข้าร่วมรัฐบาล ได้แก่ ไอติม-นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มนิวเดม อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมทั้งสมาชิกกลุ่มนิวเดมอย่าง นายทัดชนม์ กลิ่นชำนิม, น.ส.นัฏฐิกา โลห์วีระ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ชัยภูมิ เขต 1, นายพริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ นอกจากนี้ยังมี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร และ นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต 15 มีนบุรี/คันนายาว เป็นต้น
 .
ต่อจากนั้นเลือดก็ยังไม่หยุดไหล วันที่ 11 มิ.ย.2562 นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ ประกาศลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ โดยให้เหตุผลว่าการขับเคลื่อนพรรควันนี้มีทิศทางแตกต่างจากที่คิดไว้ และก่อนหน้านี้เคยทำหนังสือถึงผู้ใหญ่ในพรรคมากกว่า 10 คน ซึ่งมีเนื้อหาอธิบายถึงสาเหตุที่พรรคแพ้การเลือกตั้ง แนวทางการปฏิรูปพรรค และเสนอแนวทางให้พรรคเป็นฝ่ายค้านอิสระ
 .
 


.
ต่อมาวันที่ 24 มิ.ย.2562 นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ประกาศลาออกจากพรรคไปอีกคน หลังจากที่เป็นสมาชิกพรรคมายาวนานตั้งแต่ปี 2539
 .
วันที่ 20 พ.ย.2562 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ซึ่งเคยลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคครั้งก่อนกับนายอภิสิทธิ์และนายอลงกรณ์ พลบุตร เมื่อช่วงเดือน พ.ย.2561 ได้ยื่นใบลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และไม่นานก็ไปร่วมกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย
 .
จากนั้นวันที่ 9 ธ.ค.2562 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีต รมว.ยุติธรรม และอดีตผู้สมัครหัวหน้าพรรค ก็เป็นอีกคนที่ยื่นใบลาออกเพื่อโบกมือลาพรรคประชาธิปัตย์
 .
กระทั่งล่าสุดวันที่ 14 ม.ค.2563 นายกรณ์ได้กล่าวกับ ส.ส.ที่มาร่วมงานเลี้ยงปีใหม่ที่จัดให้นายอภิสิทธิ์ ซึ่งจัดโดยกลุ่ม ส.ส. อดีต ส.ส. และแฟนคลับกลุ่มใกล้ชิดนายอภิสิทธิ์ว่า เขาได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แล้ว โดยจะยื่นหนังสือลาออกในวันที่ 15 ม.ค.2563
 .
โดยระหว่างร่วมงานเลี้ยงปีใหม่ให้อดีตหัวหน้าพรรคคนก่อนก็ได้เกิดเหตุการณ์ดราม่า จนเป็นที่โจษขานอย่างครึกโครม!!
 .
เนื่องเพราะขณะที่นายกรณ์ขึ้นเวทีไปร้องเพลง “รักเธอเสมอ” ในบางช่วงเขาถึงกับหลั่งน้ำตา ทำเอาเพื่อน ส.ส.หลายคนกลั้นก็น้ำตาไม่อยู่เช่นกัน พากันร้องไห้ตามไปด้วย และเมื่อจบเพลงนายอภิสิทธิ์ได้เดินเข้าไปสวมกอดเพื่อให้กำลังใจนายกรณ์
 .
 

ภาพจาก flickr อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
.
แล้วเช้าวันรุ่ง 15 ม.ค.2563 ขึ้นนายกรณ์ก็ได้ทำตามวาจาที่ได้ประกาศไว้ เขายื่นหนังสือลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ แล้วนำมาโพสต์ทางเพจ Korn Chatikavanij ไว้ว่า
 .
“พรรคประชาธิปัตย์ได้ให้โอกาสผมตลอดมา โดยที่โอกาสสำคัญที่สุดคือ การเป็นรัฐมนตรีคลังในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง และด้วยเหตุนี้ความผูกพันที่ผมมีกับพรรค และเพื่อนร่วมพรรคจึงเป็นสิ่งที่จะอยู่กับผมตลอดไป”
.
“เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ร่วมพิจารณาอนุมัติงบประมาณแผ่นดินจนเสร็จเรียบร้อย ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลสามารถเดินหน้าได้เต็มที่ในการขับเคลื่อนนโยบายของพรรคที่ผมได้ช่วยร่างไว้ในฐานะ (อดีต) ประธานนโยบาย ผมจึงคิดว่าผมได้ทำภารกิจที่พรรคได้มอบหมายไว้จนครบถ้วนหมดแล้ว ผมจึงได้ยื่นใบลาออกตามที่ตั้งใจไว้”
 .
หลังการลาออกของนายกรณ์ปรากฏว่า นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ที่สนิทสนมกันดีกับนายกรณ์และกลุ่มของนายอภิสิทธิ์ได้โพสต์ในเพจ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ไว้ในหัวข้อว่า “เมื่อกรณ์ลาออกจากพรรคฯ...ไปอีกคน” ความว่า คืนงานเลี้ยงปีใหม่เขาไม่ได้ไปร่วมงาน เนื่องจากมีอาการไข้ เขาบอกว่าก่อนหน้านี้ได้คุยกับนายกรณ์มาหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองในพรรค โดยระบุว่า
 .
“รู้ว่าในใจของกรณ์ รู้ว่าเขาถูกลดบทบาทและไม่ได้รับโอกาสจากพรรค แต่กรณ์เป็นสุภาพบุรุษมากพอที่จะไม่ยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็น แต่ในการคุยกัน กรณ์เป็นคนที่มองไปข้างหน้า เขามองว่าการเมืองเปลี่ยน พรรคการเมืองต้องเปลี่ยนทั้งวิธีคิดและการทำงาน เขาพยายามเสนอแนวคิดหลายอย่างในที่ประชุมพรรค แต่ไม่ได้รับความใส่ใจจากผู้รับผิดชอบ”
.
“ซ้ำยังมีเสียงเหน็บแนมจากบางส่วนที่อยู่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจ แต่ดูเหมือนกรณ์จะขำๆ มากกว่า ในสภากรณ์มักจะชี้ให้ดูว่า สภาเปลี่ยนจากการอภิปรายแบบเดิม มาเป็นแบบที่ทำงานเชิงลึกเป็นทีมเวิร์ค นำเสนอเป็นระบบ อย่างพรรคอนาคตใหม่ทำ เขากังวลว่าพรรคการเมืองที่คิดว่าอยู่ในจุดที่ดีแล้วและไม่ปรับเปลี่ยนอะไร จะล้าหลังและถูกดิสรัปต์ไปในที่สุด กรณ์มีข้อกังวลและแนวคิดที่ก้าวหน้าหลายเรื่องที่อยากทำ แต่ไม่มีโอกาสและอาจคิดว่า ถึงเวลาที่ต้องลงมือสร้างเอง” 
.
นายสาทิตย์ยังบอกถึงปรากฏการณ์เลือดไหลไม่หยุด หรือการที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์พากันทยอยลาออกมาอย่างต่อเนื่องด้วยว่า
 .
“ความจริงมีคนที่ลาออกจากพรรคเงียบๆ แต่ไม่เป็นข่าวอีกหลายคน ผมว่ามันสะท้อนปัญหาการบริหารภายในพรรคแน่นอน แต่หากคนมีอำนาจยังคิดกันแค่ว่ามันเป็นเรื่องปกติ ต้องรับรู้ด้วยครับว่าสมาชิกและคนที่สนับสนุนพรรคหลายคน รู้สึกท้อถอยและสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อการลาออกของคนระดับแกนนำพรรค เราจะเยียวยาความรู้สึกกันอย่างไร เราจะเดินต่อกันไปอย่างไร แต่เอาเถอะ นั่นคือเรื่องในพรรคที่ต้องว่ากันต่อไป” 
 .
 

(แฟ้มภาพ)
.
เมื่อมองปรากฏการณ์ “เลือดไหลไม่หยุด” ของพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งได้อ่านข้อความจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์รุ่นเก๋าอย่างนายสาทิตย์ ส.ส.เมืองหมูย่างบ้านเดียวกับ นายหัวชวน หลีกภัย ที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นลูกหม้อศิษย์ก้นกุฏินายหัวด้วย แถมสนิทสนมกับนายอภิสิทธิ์จนมองตาก็รู้ใจกัน จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า...
 .
ก้าวย่างต่อไปของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นเช่นไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ นับเนื่องจากนี้ไปเขาจะกระทำเช่นไรเพื่อที่จะนำพาพรรคประชาธิปัตย์กลับไปเป็นพรรคขนาดใหญ่เหมือนอย่างที่เคยเป็นในอดีตได้อีกคราครั้ง?!
 .
การที่พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะ “พรรคการเมืองเก่าแก่” ที่มีอายุยืนยาวต่อเนื่องมานานที่สุดในประเทศไทย หลังจากนี้จะกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งหรือไม่ หรือจะถดถอยลงไปกว่าเดิมลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นพรรคขนาดเล็ก หรืออย่างจะสูญหายไปในที่สุด
 .
การที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้ “เลือดใหม่” หรือคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมทัพให้แข็งแกร่ง เพื่อให้สอดรับกับ “พรรคการเมืองในยุคดิจิทัล” ที่อะไรก็ไม่สามารถดิสรัปต์ได้อีกต่อไป โดยสามารถมารวมพลังกับกลุ่ม “เลือดเก่า” ที่มี “สีฟ้า” เข้มข้นอันสืบสายมาจาก “พระแม่ธรณีบีบมวยผม” ได้อย่างเข้าในกันและเกิดความลงตัว
 .
โดยเฉพาะการที่พรรคประชาธิปัตย์ที่เคยมีการประกาศก้องมาต่อเนื่องยาวนานว่าเป็น “พรรคของคนใต้” ซี่งทำให้บรรดาลูกสะตอบนแผ่นดินด้ามขวานเรียกทั้งพรรคและ ส.ส.ในสังกัดได้เต็มปากเต็มคำว่า “พรรคของเรา คนของเรา” ความทรงจำเหล่านี้จะยังสามารถสืบต่อไปได้หรือค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด
.
เรื่องราวความเคลื่อนไหวของ “พรรคประชาธิปัตย์” เหล่านี้มีแต่จะต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดต่อกันไปเท่านั้น และเชื่อว่าในระยะเวลาอันสั้นๆ จะได้รับการพิสูจน์ทราบอย่างแน่นอน?!?!
  .



กำลังโหลดความคิดเห็น