คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้ / โดย... สกนธ์ รัตนโกศล
“พญาสัตบรรณ” ไม้ต้นสมุนไพร
.
มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า หัสบัน, สัตบรรณ, สัตตบรรณ, จะบัน, บะซา, ปูลา, ปูแล, ตีนเป็ด, ตีนเป็ดขาว, ตีนเป็ดไทย และ ต้นตีนเป็ด เป็นต้น
.
ชื่อสามัญ Devil tree, White cheesewood, Devil bark, Dita bark, Black board tree มีชื่อวิทยาศาสตร์ Alstonia scholaris (L.) R. Br. จัดอยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
.
“ต้น” จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นสูงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขาเป็นชั้นๆ (เหมือนฉัตร) มีความสูงประมาณ 12-20 เมตร เปลือกต้นหนาเปราะ ผิวต้นมีสะเก็ดเล็กๆ สีขาวปนน้ำตาล เมื่อกรีดจะมียางสีขาว
.
“ใบ” ออกเป็นกลุ่มที่บริเวณปลายกิ่ง โดยหนึ่งช่อจะมีใบประมาณ 5-7 ใบ มีสีเขียวเข้ม ใบยาวรี ปลายใบมนโคนแหลม ขนาดของใบยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ก้านใบสั้น เมื่อเด็ดออกจะมีน้ำยางสีขาว
.
“ดอก” ออกดอกเป็นช่อคล้ายดอกเข็ม ออกดอกที่ปลายกิ่งหรือส่วนยอดของลำต้น หนึ่งช่อจะมีกลุ่มดอกประมาณ 7 กลุ่ม ดอกมีขาวอมเหลืองหรือเขียว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ และจะออกดอกในระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม เริ่มติดฝักประมาณเดือนมกราคม เมล็ดแก่ประมาณเดือนมีนาคม
.
“ผล” ผลออกเป็นฝัก ลักษณะฝักยาว เป็นฝักคู่หรือฝักเดี่ยว ลักษณะเป็นเส้นๆ กลมเรียว มีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกเป็น 2 ซีก มีขุยสีขาวสามารถปลิวไปตามลมได้ ส่วนในฝักจะมีเมล็ดเล็กๆ จำนวนมากลักษณะเป็นรูปขนานแบนๆ ติดอยู่กับขุย
.
“ขยายพันธุ์” ด้วยการเพาะเมล็ดและการปักชำ
สรรพคุณ
.
“ดอก” ช่วยแก้ไข้เหนือ ไข้ตัวร้อน, ช่วยแก้โลหิตพิการ
.
“ใบอ่อน” ใช้ชงดื่มช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันหรือโรคลักปิดลักเปิด, ช่วยรักษาโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และ “ใบ” ใช้พอกเพื่อดับพิษต่างๆ ได้
.
ในประเทศอินเดียมีการใช้ “ใบ” และ “ยางสีขาว” ในการนำมาใช้รักษาแผล แผลเปื่อยและอาการปวดข้อ
.
“เปลือกต้น” มีรสขม ใช้เป็นยาขมช่วยให้เจริญอาหาร, มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเบาหวาน, ใช้แก้หวัด แก้อาการไอ รักษาหลอดลมอักเสบ, นำมาต้มน้ำดื่ม สรรพคุณช่วยรักษาโรคมาลาเรีย, ช่วยรักษาโรคบิด ท้องร่วง ท้องเดินเรื้อรัง โรคลำไส้และลำไส้ติดเชื้อ, ใช้เป็นยาสมานลำไส้ได้, ช่วยขับพยาธิไส้เดือน, ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย, ช่วยขับระดูของสตรี และช่วยขับน้ำนม
.
“เปลือกต้น” และ “ใบ” ช่วยแก้ไข้
.
“น้ำยางจากต้น” ใช้หยอดหูแก้อาการปวดหู, ใช้อุดฟันเพื่อแก้อาการปวดฟัน, ช่วยบำรุงกระเพาะ และ “ยาง” ใช้รักษาแผลที่เป็นตุ่มหนอง ช่วยทำให้แผลแห้งเร็ว
.
“กระพี้” มีสรรพคุณช่วยขับผายลม
ประโยชน์
.
พญาสัตบรรณเป็นพืชที่มีฤทธิ์ทางอัลลีโลพาธี (Allelopathy) สารสกัดจากใบพญาสัตบรรณสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของต้นคะน้า ส่วนสารสกัดจากเปลือกของลำต้นก็จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของข้าวโพด ข้าว ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวผิวมัน และคะน้าได้
.
เนื้อไม้สีขาวอมเหลืองอ่อน เนื้อไม้หยาบ อ่อนแต่เหนียว ตกแต่งง่าย ใช้ทำหีบใส่ของ ลูกทุ่นอวน รองเท้าไม้ ของเล่นสำหรับเด็ก ไม้จิ้มฟัน เป็นต้น
.
สารสกัดจากน้ำมันหอมระเหยของดอกพญาสัตบรรณสามารถใช้ไล่ยุงได้
.
ต้นพญาสัตบรรณนอกจากจะปลูกเป็นไม้ประดับสำหรับไว้เพื่อให้ร่มเงาแล้ว ยังเป็นไม้มงคลนามที่นิยมปลูกไว้ในบริเวณบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะคนไทยโบราณเชื่อว่าการปลูกต้นพญาสัตบรรณไว้ที่บ้านจะทำให้มีเกียรติยศ จะทำให้ได้รับการยกย่องและการนับถือจากบุคคลทั่วไป
.
อันความหมายของต้นก็มาจากคำว่า “พญา” ซึ่งมีความหมายว่า ผู้เป็นใหญ่ที่ควรยกย่องและเคารพนับถือ
.
ส่วนคำว่า “สัต” ก็มีความหมายว่า สิ่งที่ดีงาม ความมีคุณธรรมนั่นเอง
.
และตามความเชื่อผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือ หรือเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดี ควรปลูกในวันเสาร์ และปลูกไว้ในทางทิศเหนือก็จะเป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้น
.
นอกจากนี้ ต้นพญาสัตบรรณยังเป็นพรรณไม้มงคลพระราชทานประจำ “จังหวัดสมุทรสาคร” อีกด้วยนะขอรับ
บรรณานุกรม
.
- medthai.com › พญาสัตบรรณ
- botany942.weebly.com › ...