xs
xsm
sm
md
lg

10 ปี มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ยังมีแต่ความว่างเปล่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 10 “10 ปี มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล สู่กฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” เผยยังมีแต่ความว่างเปล่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว เขตอนุรักษ์ ทำให้วิถีชีวิตถูกบีบคั้นอย่างรุนแรง


วันนี้ (19 ม.ค.) บริเวณหน้าชายหาดราไวย์ หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายพงศ์บุญย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 10 “10 ปี มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล สู่กฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” โดยมีนายสุทา ประทีป ณ ถลาง ส.ส.ภูเก็ต ผู้แทนกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ฯ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มูลนิธิชุมชนไท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เทศบาลตำบลราไวย์ พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง กรรมการแก้ปัญหาฯ ชาวเล นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนหน่วยราชการ ตลอดจนพี่น้องชาวเลในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ สตูล และระนอง จำนวนกว่า 500 คนเข้าร่วม

ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การแสดงทางวัฒนธรรมของชาวเลกลุ่มต่างๆ เวทีเสวนา เรื่อง กฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ : เพื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม นิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนชาวเลในพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น


นางแสงโสม หาญทะเล ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กล่าวว่า การจัดงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ “10 ปี มติคณะรัฐมนตรี ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล สู่กฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ถือว่ามีความสำคัญต่ออนาคตของพวกเราเป็นอย่างยิ่ง โดยเราเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่ทะเลอันดามันมากว่า 300 ปี มี 3 เผ่า คือ มอแกน มอแกลน และอูรักราโว้ย มีการประกอบอาชีพหากินแบบพอเพียงและพึ่งพิงธรรมชาติ แต่ปัจจุบันเมื่อมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การพัฒนาการท่องเที่ยว การประกาศเขตอนุรักษ์ทั้งทางทะเลและในเขตป่า ทำให้วิถีชีวิตของชาวเลถูกบีบคั้นอย่างรุนแรง

และเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ ทั้งการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมงโดยผ่อนปรนพิเศษในการใช้อุปกรณ์ดั้งเดิม


การช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การแก้ปัญหาสัญชาติ การส่งเสริมด้านการศึกษาหลักสูตรที่สอดคล้องต่อวิถีชีวิตชาวเล การแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ การส่งเสริมด้านภาษาวัฒนธรรม การส่งเสริมชุมชนและเครือข่ายชาวเลให้เข้มแข็ง รวมทั้งให้มีงบประมาณส่งเสริมวันนัดพบวัฒนธรรมชาวเล แต่ผ่านมา 10 ปี ปัญหาของชาวเลยังไม่ได้รับการแก้ไข แถมยังมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น เสียงเรียกร้องหายไปกับสายลม พวกเรายังถูกทิ้งไว้ข้างหลังและถูกละเมิดสิทธิมาอย่างต่อเนื่อง

นางแสงโสม กล่าวต่อไปว่า ชาวเลมีจำนวนประมาณ 12,000 คน รวม 44 ชุมชน กระจายใน 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล มีปัญหาของชาวเลโดยภาพรวม ได้แก่ ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย มี 25 ชุมชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของตนเอง ทั้งๆ ที่อาศัยมายาวนาน กลายเป็นที่ดินรัฐหลายประเภททั้งป่าชายเลน กรมเจ้าท่า ป่าไม้ เขตอุทยานฯ กรมธนารักษ์ และอื่นๆ เช่น ชุมชนชาวเลสะปำ ภูเก็ต ชุมชนชาวเลเกาะสุรินทร์ พังงา ชุมชนชาวเลเกาะเกาะพีพี กระบี่ เป็นต้น สุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมถูกรุกราน จากการสำรวจพบว่า กำลังมีปัญหาถึง 15 แห่ง มีทั้งการออกเอกสารมิชอบทับที่ ถูกรุกล้ำแนวเขต ถูกห้ามฝังศพ เช่น พื้นที่บาราย ของชาวเลราไวย์ ภูเก็ต สุสานเกาะหลีเป๊ะ สตูล เป็นต้น


ปัญหาการถูกฟ้องขับไล่โดยธุรกิจเอกชนออกเอกสารมิชอบทับชุมชน โดยเฉพาะชุมชนชาวเลราไวย์ ชุมชนชาวเลบ้านเกาะสิเหร่ ภูเก็ต และชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ สตูล ถูกดำเนินคดี 29 คดี มีชาวเลเดือดร้อนมากกว่า 3,500 คน ปัญหาที่ทำกินในทะเล จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า เดิมชาวเลหากินตามเกาะแก่งต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 27 แหล่ง แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 แหล่ง มีชาวเลถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จับกุมพร้อมยึดเรือเพิ่มขึ้น พื้นที่หน้าชายหาดซึ่งทุกคนควรใช้ร่วมกัน ผู้หญิงชาวเลใช้หาหอย หาปู วางเครื่องมือประมง และที่จอดเรือก็กลายเป็นสิทธิของโรงแรมและนักท่องเที่ยว เช่น หน้าหาดราไวย์ ทางธุรกิจเอกชนพยายามปิดทางเข้าออกหาด ที่จอดเรือของเกาะหลีเป๊ะ และเกาะพีพี ถูกบีบบังคับ กดดันไม่ให้จอดเรือ ปัญหาเรื่องการศึกษาภาษาและวัฒนธรรม กลุ่มชาวเลส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ขาดความภาคภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรม ทำให้กำลังจะสูญหาย ปัญหาเรื่องสุขภาวะ ด้วยปัญหารอบด้านทำให้เกิดความเครียด บางส่วนติดเหล้า และชาวเลมีปัญหาเรื่องสุขภาพต่างๆ ตามมา และปัญหาการไร้สัญชาติ ยังมีชาวเลกว่า 400 คนที่ไม่มีสัญชาติไทย โดยเฉพาะชาวเลมอแกนเกาะสุรินทร์ พังงา เกาะเหลา เกาะช้าง เกาะพยาม จ.ระนอง”

นางแสงโสม กล่าวด้วยว่า ปัญหาชาวเลเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานานและเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทำให้ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ไม่อาจจะแก้ปัญหาได้โดยใช้มติคณะรัฐมนตรี 2 มิ.ย.53 เพียงอย่างเดียว ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่ สามารถคุ้มครองเขตพื้นที่วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และเอื้อต่อการแก้ปัญหาที่สั่งสมมานาน ทั้งนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังตามนโยบายรัฐบาล


ขณะที่ นายพงศ์บุญย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวเลมาโดยตลอด จะเห็นว่าในปี 53 มีมติ ครม. เห็นชอบในแนวทางการฟื้นฟูอนุรักษ์กลุ่มชิติพันธุ์ชาวเล และในปี 61 ยุทธศาสตร์ 20 ปี ได้ให้ความสำคัญต่อกลุ่มชาวเลในด้านสังคมซึ่งได้มีการพูดถึงการสร้างโอกาสความเสมอภาคด้านสังคม และในแผนปฏิรูปปี 61 ได้มีการพูดถึงร่าง พ.ร.บ.จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในปี 64, 65

ขณะที่ในส่วนของท่านนายกรัฐมนตรี เองก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และล่าสุด เมื่อต้นเดือน ม.ค. ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการเข้ามาดูแลปัญหาพี่น้องชาวเลโดยเฉพาะ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ เป็นประธาน ซึ่งในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทราบดีว่า พี่น้องชาวเลที่มีกว่า 12,000 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัดอันดามันมีปัญหาสำคัญมากมายโดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยเนื่องจากไม่มีที่ดิน รวมทั้งปัญหาขัดแย้งกับภาคเอกชนมีการถูกฟ้องร้องขับไล่รวมทั้งพื้นที่สุสาน และ อื่นๆ รวมทั้งข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ทำกินทางทะเลจากการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ของทางภาครัฐ


นายพงศ์บุญย์ กล่าวต่อว่า ทราบดีว่าชาวเลมีวิถีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย อยู่อย่างพอเพียงพึ่งพิงธรรมชาติ แต่ปัจจุบันประเทศมีการพัฒนาไปมากในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวในฝั่งอันดามัน ดังนั้น พี่น้องชาวเลเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับการพัฒนาดังกล่าว ในขณะเดียวกัน ทางภาครัฐก็จะต้องให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเลให้เดินหน้าควบคู่กันไปด้วย โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับความสุข การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชน การช่วยเหลือสนับสนุนช่วยเหลือพี่น้องชาวเลมีความเข้มแข็ง มีความมั่นคง สามารถอยู่ได้ภายใต้คุณภาพที่ดีและภายใต้ความสมบูรณ์ของคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ทางกระทรวงทรัพย์จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น