ชุมพร - แห่งแรกในเอเชียและประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีสื่อสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น ตั้งสถานีเรดาร์อวกาศ ที่วิทยาเขตชุมพร จุดดีที่สุด 1 ใน 4 ใกล้เส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลก คำนวณผลแม่นยำต่อระบบนำทาง การคมนาคม เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ
วันนี้ (17 ม.ค.) ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพร นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธานเปิดสถานีเรดาร์อวกาศ ซึ่งเป็นศูนย์แห่งแรกในเอเชีย และเป็นจุดดีที่สุด 1 ใน 4 เส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลก โดยมี นายวิบูลย์ รัตนาภรวงศ์ ผวจ.ชุมพร ผศ.ดร.วัฒนชัย พงษ์นาค รักษาการแทนรองอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพร รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
นอกจากนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่จากประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมในพิธีเปิดประกอบด้วย Mr.Yasunari Ueno เลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย Dr.Hideyuki Tokuda ผู้บริหารสูงสุด สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (NICT) ประเทศญี่ปุ่น พร้อมคณะกว่า 20 คน และสื่อมวลชนจากประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจมาร่วมทำข่าวในพิธีดังกล่าวด้วย และแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมแสดงความยินดีกว่า 100 คน
ภายหลังพิธีเปิดคณะทั้งหมดได้เข้าร่วมชมสถานีเรดาร์ศึกษาอวกาศ สจล.วิทยาเขตชุมพร โดยมีศูนย์ควบคุมระบบอิเล็กทรอนิกส์ สัญญาณสื่อสารเรดาร์ เสาส่งสัญญาณสื่อสารเรดาร์ จากพื้นดินสู่ชั้นบรรยากาศ จำนวน 18 ต้น ตั้งอยู่ข้างสถาบันฯ บนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่
รศ.ดร.ปุณยวีร์ จามจรีกุลกาญจน์ หัวหน้าคณะภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สจล.วิทยาเขตชุมพร หัวหน้าสถานีเรดาร์อวกาศ กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (NICT) ประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประเทศไทย ศึกษาวิจัยตั้งศูนย์เรดาร์อวกาศ เพื่อเป็นสถานีตรวจวัดสภาพอวกาศย่านความถี่สูงมาก (VHF) ด้วยงบประมาณ 20 ล้านบาท บริเวณ สจล.ชุมพร ถือเป็นสถานีแห่งแรกในประเทศไทยและเป็นแห่งแรกในเอเชียด้วย เนื่องจากเป็น 1 ใน 4 จุดที่ดีที่สุดใกล้เส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลกที่มีอยู่ ได้แก่ ในแอฟริกา บราซิล ฟิลิปปินส์ ไทย
รศ.ดร.ปุณยวีร์ กล่าวว่า สถานีเรดาร์อวกาศกับสถานีเรดาร์ตรวจอากาศจะไม่เหมือนกัน โดยสถานีแห่งนี้เป็นการตรวจวัดสภาพอวกาศย่านความถี่สูงที่มีความแม่นยำสูงในการส่งสัญญาณจากภาคพื้นดินขึ้นไปยังชั้นอวกาศ 400 กิโลเมตร เพื่อตรวจจับรังสีพลาสมาบับเบิล (Plasma Bubble) ความเสี่ยงของสภาวะอากาศในอวกาศ ที่รบกวนการแพร่กระจายคลื่นวิทยุ แล้วสะท้อนกลับมายังสถานีแห่งนี้ ที่มีอิทธิพลต่อระบบนำทาง หรือ GPS ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเดินทางคมนาคมทางอากาศ ทางบก ทางทะเล และการสำรวจอื่นๆ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่ออาชีพต่างๆได้ ทั้งในการเกษตร สายการบิน การขนส่ง จะทำให้การคาดการณ์ การคำนวณค่าจุดพิกัดต่างๆ ได้ซึ่งจะทำให้แม่นยำไม่เกิดความคลาดเคลื่อนหรือหลงทางได้
รศ.ดร.ปุณยวีร์ กล่าวว่า สถานีเรดาร์อวกาศแห่งนี้เป็นไปตามระเบียนข้อบังคับหลักสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ถือเป็นประโยชน์ของประเทศไทยและของโลกด้วย อนาคตจะใช้เป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป และหากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติสถานีแห่งนี้ก็จะสามารถใช้เป็นศูนย์กลางการสื่อสารของประเทศไทยได้อีกด้วยเพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะต่อไป