ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ตเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำเรื้อรังช่วงฤดูแล้งของทุกปี จากน้ำดิบ 3 อ่างหลักไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามตัวเลขนักท่องเที่ยว วางแผนบริการจัดการน้ำระยะยาว 9 โครงการ รองรับได้จนถึงปี 75 ด้านประปาทุ่มเงินลงทุน 3 พันล้าน ผลิตและส่งน้ำจากพังงามาภูเก็ตเสร็จปี 67
ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง เกิดขึ้นทุกปีสำหรับเกาะภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวระดับโลก ทั้งในส่วนของประชาชนและโรงแรม โดยเฉพาะแล้งที่ผ่านมา ภูเก็ตต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก หลายชุมชนน้ำประปาไม่ไหล โรงแรมต้องซื้อน้ำจากรถน้ำของเอกชน ซึ่งการขาดแคลนน้ำในภูเก็ตช่วงหน้าแล้งเกิดขึ้นเกือบทุกปี ตั้งแต่ที่การท่องเที่ยวของภูเก็ตเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 14 ล้านคน สร้างรายได้ให้ภูเก็ตปีละกว่า 4 แสนล้านบาท ทำให้แหล่งน้ำดิบที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี
ภูเก็ตมีแหล่งน้ำดิบขนาดใหญ่สำหรับผลิตน้ำประปา ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมชลประทาน 3 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ และอ่างเก็บน้ำคลองกระทะ ซึ่งในขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง มีปริมาณน้ำที่น้อยมากสำหรับการรองรับการใช้น้ำในช่วงหน้าแล้งที่กำลังจะมาถึง ซึ่งจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของภูเก็ตอยู่ในขั้นวิกฤตอย่างแน่นอน
นายสมสวัสดิ์ ฉายสินสอน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนทั้ง 3 แห่ง มีปริมาณน้อยมาก ต่ำกว่าเกณฑ์ โดยอ่างเก็บน้ำบางวาด มีปริมาณน้ำ 3.7 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 36.70 ของความจุเก็บกัก อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ มีปริมาณน้ำ 0.68 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 9.60 ของความจุดเก็บกัก และอ่างเก็บน้ำคลองกระทะ มีปริมาณน้ำ 2.23 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51.70 ของความจุกักเก็บ
จากปริมาณน้ำดิบทั้ง 3 อ่าง ที่มีอยู่ในขณะนี้ จะสามารถรองรับการใช้น้ำได้แค่ 30 วัน สำหรับอ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ใช้ได้อีก 80 วัน และ อ่างเก็บน้ำคลองกระทะ ใช้ได้อีก 210 วัน จะทำให้หน้าแล้งปีนี้ภูเก็ตต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำวิกฤตอย่างแน่นอน หากไม่มีมาตรการมารองรับ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนและภาคการท่องเที่ยวของภูเก็ต ที่โรงแรมที่พักเกิดขึ้นจำนวนมาก
นายสมสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า เพื่อไม่ให้ภูเก็ตต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งที่กำลังจะมาถึงในเร็วๆ นี้ ทางชลประทานและการประปาส่วนภูมิภาคภูเก็ต ได้หาแนวทางและมาตรการในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยจากการประชุมร่วมระหว่างจังหวัดภูเก็ต กับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จังหวัดภูเก็ต ได้กำหนดมาตรการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดความสมดุล ดังนี้คือ กำหนดแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง สำหรับอ่างเก็บน้ำบางวาด ตั้งแต่เดือน พ.ย.-ธ.ค.จะจัดสรรน้ำให้การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต และเทศบาลนครภูเก็ต รวมกันไม่เกินวันละ 3 หมื่น ลบ.ม.และในเดือน ม.ค.-พ.ค.จัดสรรน้ำให้วันละไม่เกิน 2 หมื่น ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ งดการจ่ายน้ำตลอดช่วงฤดูแล้ง และอ่างเก็บน้ำคลองกระทะ ไม่เกินวันละ 2 หมื่น ลบ.ม.รวมทั้งให้ทางการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต และเทศบาลนครภูเก็ต จัดหาแหล่งน้ำดิบจากแหล่งอื่นๆ และในช่วงฤดูฝนให้ใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติและขุมเหมือง เพื่อกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งเท่านั้น ภูเก็ตถึงจะพ้นวิกฤตขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง
ส่วนการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะยาวนั้น ได้มุ่งไปที่แนวทางการจัดการหาแหล่งน้ำต้นทุน ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนหาแหล่งน้ำและแผนป้องกันอุทกภัยในพื้นที่เมืองเศรษฐกิจที่สำคัญทั่วประเทศพร้อมกัน โดยในส่วนของจังหวัดภูเก็ตนั้น ได้จัดทำโครงการแก้ปัญหาในระยะยาว ไว้ทั้งหมด 9 โครงการ ประกอบด้วย
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น โดยการขุดลอกและเพิ่มสันเขื่อน โครงการระบบสูบผันน้ำบ้านโคกโตนด-อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ โครงการบำบัดน้ำเสียมาผลิตน้ำประปา โครงการพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดิน โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพังงา-ภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการที่ทางการประส่วนภูมิภาคกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
โครงการพัฒนากักเก็บน้ำอ่าวภูเก็ต ในลักษณะคล้ายกับโครงการมารีน่าเบย์ของสิงคโปร์ ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะกักเก็บน้ำจืดแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมในตัวเมืองภูเก็ตและย่านเมืองเก่าภูเก็ตได้อีกด้วย โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เป็นโครงการที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตจะดำเนินการในพื้นที่ที่การบริการน้ำของประปาส่วนภูมิภาคเข้าไปไม่ถึง โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ และโครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนจังหวัดภูเก็ต
ผอ.โครงการชลประทานภูเก็ต ระบุอีกว่า แผนงานหลักในการแก้ปัญหาน้ำภูเก็ตทั้ง 9 โครงการนั้น ทางจังหวัดภูเก็ตได้นำเสนอต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ให้ความเห็นชอบแล้ว และได้นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หากภูเก็ตสามารถดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ จะทำให้ภูเก็ตมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นปีละ 80 ล้าน ลบ.ม.จากปัจจุบันที่มีอยู่ปีละ 62 ล้าน ลบ.ม. รวมเป็น 140 กว่าล้าน ลบ.ม.สามารถรองรับการใช้น้ำได้จนถึงปี 2575 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งสอดรับต่อผลการศึกษาที่พบว่าในปี 2575 ความต้องการใช้น้ำของภูเก็ตจะอยู่ที่ปีละ 110 ล้าน ลบ.ม.
ด้าน นายไกรสร มะหะหมัด ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ความต้องการใช้น้ำในภูเก็ตในปัจจุบันอยู่ที่วันละ 120,000 ลบ.ม. ซึ่งในส่วนของการประปานั้นได้เตรียมแผนในการหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อผลิตน้ำประปาให้เพียงพอต่อความต้องการที่นอกเหนือจากอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง ของกรมชลประทาน โดยได้ซื้อน้ำประปาจากเอกชนวันละ 13,000 ลบ.ม.ซื้อน้ำดิบจากขุมเหมืองเอกชน และน้ำจากคลองธรรมชาติ โดยมีการสร้างฝายเพิ่มอีก 2 ฝาย ที่คลองบางโจ เป็นต้น ซึ่งมั่นใจได้ว่าในหน้าแล้งที่จะถึงนี้ ภูเก็ตไม่ขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน
ส่วนระยะยาวนั้น ทางการประปาส่วนภูมิภาค มีโครงการที่จะนำน้ำประปาจากจังหวัดพังงามาสนับสนุนการใช้น้ำของจังหวัดภูเก็ต โดยได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพังงา-ภูเก็ต ด้วยการปรับปรุงโรงผลิตน้ำประปาที่จังหวัดพังงา ในการผลิตน้ำประปาจากแหล่งน้ำดิบคลองพังงาเป็นน้ำประปา ชั่วโมงละ 3,000 ลบ.ม.พร้อมวางท่อส่งน้ำจากพังงา มายังตะกั่วทุ่ง และส่งต่อมายังบริเวณบ้านไม้ขาว จ.ภูเก็ต เพื่อส่งน้ำประปาที่ผลิตจากพังงามาที่ภูเก็ต ด้วยงบลงทุนกว่า 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบจาก ครม.แล้ว รวมทั้งได้มีการออกแบบสำรวจโครงการเสร็จแล้วด้วย พร้อมทั้งทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นผู้ที่มีส่วนได้เสียทั้งพังงาและภูเก็ต ซึ่งตามแผนที่วางไว้โครงการนี้จะแล้วเสร็จและส่งน้ำมายังภูเก็ตภายในปี 2567 หรือในอีก 5 ปีนับจากนี้
หากการดำเนินการเป็นไปตามมาตรการและแผนงาน/โครงการที่วางไว้ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งทุกปีของภูเก็ต ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ปัญหาและอุปสรรคหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของภูเก็ตก็จะหมดไป