พังงา - นักท่องเที่ยวชายเยอรมัน ถูกปลาฉลามกัดขาแผลเหวอะหวะ ขณะลงเล่นน้ำพร้อมภรรยาที่หาดนางทอง จ.พังงา ส่งรักษาตัวโรงพยาบาลเอกชนในภูเก็ต ปลอดภัยแล้ว ด้านนักวิชาการระบุเป็นฉลามหัวบาตร
วันนี้ (13 ม.ค.) ว่าที่ ร.อ.พงศ์ศักดิ์ เวทยาวงศ์ นายอำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการแชร์ภาพนักท่องเที่ยวโดนปลาขนาดใหญ่กัดบริเวณขาจนเกิดแผลเหวอะหวะ ก่อนจะนำตัวส่งโรงพยาบาลนั้น พบว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 12 มกราคม 2562 ซึ่ง น.ส.จิตติมา คงพันธ์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.7 ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ได้รายงานเหตุการณ์ว่า มีนักท่องเที่ยวชายชาวเยอรมันลงเล่นน้ำในทะเลบริเวณหาดนางทอง ก่อนจะโดนปลาขนาดใหญ่ไม่ทราบชนิดกัดบริเวณขาขวา มีแผลฉีกขาด และรอยฟันขนาดใหญ่ ก่อนนำตัวส่งทำความสะอาดแผลที่ศูนย์การแพทย์เขาหลัก และส่งต่อไปรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนที่ จ.ภูเก็ต ตนเองจึงประสานให้ประมงอำเภอ ร่วมกับศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจังหวัดพังงา (TAC : Tourist Assistance Center) เข้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
เบื้องต้นพบว่า ผู้ประสบเหตุเป็นชายชาวเยอรมัน ชื่อ Mr.Malten Hans-Peter อายุ 75 ปี โดยขณะลงเล่นน้ำกับภรรยา ซึ่งห่างจากฝั่งประมาณ 6 -7 เมตร ได้มีปลาขนาดใหญ่ไม่ทราบชนิดพุ่งเข้ากัดบริเวณขาขวาจนฉีกขาด เป็นแผลยาวประมาณ 20 ซม. ซึ่งขณะนี้นักท่องเที่ยวคนดังกล่าวอยู่ระหว่างพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนของจังหวัดภูเก็ต โดยมีพยาบาลคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ทีมแพทย์ระบุผลว่า เส้นเอ็นบริเวณขาขวาฉีกขาด ได้ประสานและเย็บแผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้นักท่องเที่ยวอาการดีขึ้นมาก หากแผลไม่อักเสบ แพทย์จะอนุญาตให้กลับได้ ส่วนบรรยากาศการท่องเที่ยวยังเป็นไปโดยเหมือนทุกวัน นักท่องเที่ยวยังลงเล่นน้ำที่ชายหาดกันอย่างปกติ
ขณะที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความโดยระบุว่า เหตุการณ์ฉลามกัดในไทยเกิดนานๆ ครั้ง เช่น ที่ภูเก็ต (ปี 60) ที่เกาะเต่า (ปี 61) เกือบทุกครั้งถูกกัดที่ขาแต่ไม่สาหัส ฉลามที่กัดอาจเป็นฉลามหัวบาตร เพราะฉลามหูดำน่าจะเป็นรอยเล็กกว่านี้ และไม่ค่อยโจมตีสัตว์ใหญ่กว่า ฉลามจู่โจมอาจด้วยความเข้าใจผิด เพราะชายฝั่งน้ำขุ่น พอเห็นวูบก็นึกว่าเป็นเหยื่อ แต่เมื่อกัดแล้วรู้ว่าไม่ใช่ก็เลยหนีไป
สำหรับฉลามหัวบาตรอาจพบได้ตามชายฝั่งทั้งอ่าวไทยและอันดามัน แต่ไม่บ่อยนัก ไม่มีผู้ถูกฉลามจู่โจมจนเสียชีวิตอย่างเป็นทางการในทะเลไทยมากกว่า 50 ปีแล้ว ที่ผ่านมา ในประเทศไทย ฉลามไม่เคยโจมตีรายอื่นซ้ำที่เดิม ส่วนคำแนะนำคือไม่ต้องกังวลมาก ไม่ต้องทำข่ายกั้น แต่ให้ระวังไว้หากต้องลงน้ำตอนเช้าตรู่ ตอนค่ำ และกลางคืน