xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายงาน “เครือข่ายปกป้องเด็ก จชต.” รับวันเด็กแห่งชาติ ชี้ทหารไม่ควรบุก “โรงเรียนตาดีกา” หากจำเป็นควรปฏิบัติ 7 ข้อ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

.
โดย... ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
.

ภาพจากรายงานการศึกษา
.
“เกิดสงครามพันครั้ง เด็กก็ยังสวยงาม เป็นเพียงแค่สงคราม ความเดียงสาเท่าเดิม...”
.
ท่อนหนึ่งในเนื้อเพลง “กล้วยไข่” แต่งโดย นายประภาส ชลศรานนท์ ซึ่งเขาระบุว่าบางท่อนของเพลงนี้เสียดสีสงครามบนโลกนี้ที่เอาเด็กเข้าไปเกี่ยวข้อง และยังบอกด้วยว่าหากจะถามว่าเพลงนี้หมายความว่าอย่างไร คำตอบคือ
.
“สงครามไหนๆ ก็ไร้เหตุผลทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สงครามที่เอาเด็กเข้าไปเกี่ยวข้อง”
.
ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าจะไม่ใช่พื้นที่ที่มีสงครามเต็มรูปแบบ แต่ก็ไม่ผิดนักที่จะพูดว่า นี่คือพื้นที่ที่มีสงครามระหว่างขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ทวงคืนแผ่นดิน “ปาตานี” กับกองกำลัง “รัฐไทย” ที่ขณะนี้นำโดยทหารที่มี “แม่ทัพภาคที่ 4” เป็นแม่ทัพใหญ่ ซึ่งนั่งคุมกำลังทั้งในตำแหน่งแม่ทัพภาค ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
.
และบ่อยครั้งในพื้นที่สงครามแห่งนี้ก็มี “เด็กๆ” เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหลายครั้ง!
.
ดังนั้นในโอกาส “วันเด็กแห่งชาติ” วันเสาร์ที่ 11 ม.ค. 2563 ที่จะมาถึง “MGR Online ภาคใต้” จึงขอนำเรื่องราวที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ “มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” ในหัวข้อ “วันเด็กแห่งชาติ เครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้เปิดเผยรายงาน 18 หน้า พบว่าการปฏิบัติการทางทหารในโรงเรียนส่งผลกระทบระยะยาวต่อเด็ก” มาเรียบเรียงนำเสนอ
.


.
รายงานของ “เครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้” เรื่องการศึกษาโรงเรียนปลอดภัยเพื่อทุกคน (Safe School for All) ระบุว่า เป็นรายงานศึกษารูปแบบปฏิบัติการทางทหารใน “โรงเรียนตาดีกา” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหาแนวทางในการแสวงหาแนวทางปกป้องและคุ้มครองเด็กในโรงเรียนตาดีกาและป้องกันโรงเรียนอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
 .
งานศึกษาชิ้นนี้อ้างอิงถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ระบุว่า “โรงเรียนจะต้องได้รับการพิจารณาว่าเป็นพื้นที่ของพลเรือนและจะต้องไม่ถูกโจมตี ครูและนักเรียนมีความเสี่ยงเป็นพิเศษหากอาคารเรียนถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารโดยฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน”
 .
เครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้ ได้รวบรวมข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีโรงเรียน ครู และนักเรียน และจากการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ครูตาดีกาจำนวน 12 โรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวม 17 คน และสัมภาษณ์แบบกลุ่ม (Focus group) จำนวน 30 คน เพื่อศึกษาเบื้องต้นถึงรูปแบบการปฏิบัติการทางทหารโดยรัฐในโรงเรียนตาดีกาและค้นหาแนวทางในการปกป้องคุ้มครองเด็กนักเรียนและครูในสถานศึกษา
.
รายงานดังกล่าวระบุว่า กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ และผู้กระทำความผิดที่ไม่ปรากฏชื่อ สงสัยว่าเป็นผู้วางระเบิดหรือจุดไฟเผาโรงเรียนหลายสิบแห่ง การโจมตีจำนวนมากเหล่านี้มุ่งเป้าไปที่กองกำลังความมั่นคงของรัฐบาล รวมทั้งที่ปฏิบัติการอยู่ในบริเวณโรงเรียนเพื่อปกป้องครูและนักเรียน ทำให้โรงเรียนเสียหายและมีการทำร้ายนักเรียนและครู
.

ภาพจากรายงานการศึกษา
.
การโจมตีโรงเรียนเหล่านี้ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มมีแนวโน้มที่ลดลงตั้งแต่ปี 2558 โดยตัวเลขการโจมตีโรงเรียนตั้งแต่ปี 2547-2562 มีจำนวน 400 โรง สูงที่สุดในปี 2550 จำนวน 157 โรง มีครูเสียชีวิตทั้งสิ้น 155 คน โดยในปี 2562 ไม่มีครูเสียชีวิตจากเหตุถูกยิงหรือระเบิด ในขณะที่จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ เสียชีวิต 215 คน และได้รับบาดเจ็บ 794 คน
.
ส่วนการเข้ามาของทหารในโรงเรียนตาดีกานั้น รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของกลุ่ม “ด้วยใจ” เมื่อปี 2559-2560 พบว่า ในปี 2560 เป็นปีแรกที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงขอเข้าไปจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองและหน้าที่พลเรือน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนศาสนาแต่อย่างใด และเด็กได้เรียนเรื่องดังกล่าวจากโรงเรียนของรัฐอยู่แล้ว
 
โดยในช่วงปลายปี 2560 เริ่มมีทหารแต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบและพกพาอาวุธปืนเข้าไปในโรงเรียนตาดีกาประมาณ 6-7 คน เพื่อไปทำกิจกรรมกับเด็ก โดยอาวุธที่พกเข้าไปมีทั้งปืนสั้นและปืนยาว ทำให้ครูตาดีกาบางโรงเรียนกังวลใจ เพราะทำให้ชั่วโมงในการเรียนการสอนปกติของโรงเรียนลดลง กิจกรรมก็ไม่สอดคล้องกับการเรียนการสอนเดิม และการที่เด็กเข้าใกล้ปืนที่เจ้าหน้าที่พกติดตัวมาด้วย 
 

ภาพจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
 
ทั้งนี้การเข้ามาในโรงเรียนตาดีกาของทหาร บางครั้งจะไม่แจ้งวัตถุประสงค์ ส่วนที่มีการแจ้งนั้นจะระบุว่า มาเยี่ยม นำรูปภาพของพระมหากษัตริย์ ธงชาติ ฟุตบอล ขนม หรือมีของมาแจกให้ มาพูดคุยมาบำเพ็ญประโยชน์ มาตัดผมเด็ก สอนเด็กเรื่องภัยยาเสพติด หรือนายสั่ง
 
แต่ในการทำกิจกรรมจริงกลับพบว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ เช่นแจ้งว่ามาเยี่ยม แต่ไม่ได้มีของมาให้ และมีการถ่ายรูปนักเรียน ครู และบัตรประชาชนครู ถ่ายรูปขณะทำการเรียนการสอน สั่งให้ถ่ายภาพตามที่เจ้าหน้าที่ต้องการ ให้ส่งรายชื่อครูและนักเรียนพร้อมข้อมูลและประวัติของครู
 .
รายงานฉบับนี้ระบุถึงการเข้ามาของทหารในโรงเรียนตาดีกาว่า มีเป้าหมายต้องการข้อมูลครูตาดีกา เพราะมีความเชื่อว่าครูตาดีกาคือ ครูที่ชักจูงเด็กให้เข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ
  .
เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าปฏิบัติการเหล่านี้ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลไทย ที่อยู่ภายใต้กรอบของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งหมายจะสลายแนวคิดของฝ่ายตรงกันข้ามผ่านกิจกรรมต่างๆ ในโครงการส่งเสริมและเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้อง ซึ่งระบุเอาไว้ใน “แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนเพื่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2563”  โดยหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญได้แก่การมุ่งเปลี่ยนความคิดเด็กอายุ 1-5 ขวบ
 .

ภาพจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
 
นอกจากนี้ยังได้ยกกรณีการศึกษาเรื่องความรุนแรงในสื่อ และพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กโดย Vanessa LoBue นักวิทยาศาสตร์ด้านเด็กว่า การที่เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรง และการเห็นอาวุธปืนอย่างยาวนานจนเกิดความชาชิน จะส่งผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาว เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว เด็กๆ อาจคิดว่าการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ทำได้ ชินชาและไม่ปฏิเสธความรุนแรงอีกต่อไป
 .
มีความรู้สึกเหมือนว่าภาพจำที่ทหารถือปืนเดินไปเดินมา เป็นภาพปกติในชีวิตประจำวันที่ควรจะเป็น แต่จริงๆ ไม่ควรเป็นเช่นนั้น
  .
“การแก้แค้นจะเกิดขึ้นได้ในกลุ่มเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความกลัว ความโกรธ พวกเขาอาจจะโตขึ้นโดยกลายเป็นกลุ่มต่อต้านที่คิดจะแก้แค้นและกระทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะพวกเขาสูญเสียความเชื่อมั่นในการปกป้องสังคมของพวกเขา การต่อต้านรัฐหรือการพยายามจะเอาชนะ ส่งผลต่อกลไกในการป้องกันตนเอง เพราะเขาต้องแสดงออกเพื่อป้องกันภัยต่อตัวเขา”
 

ภาพจากรายงานการศึกษา
 
งานศึกษายังพบว่า เด็กๆ อาจสูญเสียความรู้สึกปลอดภัยไป สิ่งแวดล้อมที่มีภัยอันตรายต่อเด็กตลอดเวลาทำให้เขาคิดไปว่า เขาอยู่ในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย และจะมีใครมาทำร้ายพวกเขาตลอดเวลา จึงต้องมีการรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ทุกคนต้องการคือ การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพที่ดี
 
นอกจากนี้ยังอ้างอิงรายงานของขององค์การยูนิเซฟว่า เด็กจะอ่อนไหวต่อการข่มขู่ ดังนั้นในความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานกว่า 15 ปี ทำให้เด็กที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความรุนแรงเห็นว่านี่เป็นวิถีชีวิตที่ถาวร เด็กกำพร้าที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวรู้สึกถึงความน่ากลัว น่าเบื่อและผิดหวัง และเป็นไปได้ที่พวกเขาก็มักจะเลือกที่จะต่อสู้ด้วยกำลัง
 .
ในฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนมาหลายทศวรรษจากสงครามก่อความไม่สงบ เด็กหลายคนได้กลายเป็นทหารทันทีที่เข้าสู่วัยรุ่น
  .
เครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้ระบุในรายงานดังกล่าวว่า จะเห็นได้ว่าปฏิบัติการทางทหาร หรือการทำกิจกรรมของทหารในโรงเรียนตาดีกา ส่งผลกระทบต่อจิตใจครูและนักเรียน อีกทั้งนำไปสู่ความเสี่ยงในการถูกโจมตีได้ ซึ่งไม่เป็นไปตามปฏิญญาว่าด้วยโรงเรียนที่ปลอดภัย
 
พวกเขาจึงมีข้อเสนอที่จะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการแก้ปัญหาผลกระทบที่อาจจะเกิดกับเด็ก กรณีมีปฏิบัติการทางทหารในโรงเรียนตาดีกา ดังนี้ (1) ให้มีการลงนามและนำปฏิญญาว่าด้วยโรงเรียนที่ปลอดภัย (Safe school declaration) มาใช้ในประเทศไทย และ (2) นำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เรื่อง ความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธมาใช้อย่างจริงจังและควรมีการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
 


 
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากครูตาดีกาต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ว่า ทหารไม่ควรเข้ามาทำกิจกรรมใดๆ ในโรงเรียนตาดีกา ซึ่งในกรณีที่ทหารต้องเข้ามาในโรงเรียนตาดีกา ควรดำเนินการดังนี้ (1) ไม่พกอาวุธเข้ามาในโรงเรียน (2) ขอให้แจ้งล่วงหน้าต่อผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ดูแลโรงเรียน (3) ควรมาในเวลาพักระหว่างวันเพื่อมิให้รบกวนเวลาสอน (3) ขอให้แต่งกายชุดธรรมดา ไม่ใส่ชุดเครื่องแบบทหาร แต่ควรมีป้ายชื่อหรือแสดงตนว่าเป็นทหารชัดเจนไม่ใช่การเข้ามานอกเครื่องแบบแบบแอบแฝง
 
(4) ขอให้แจ้งวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ว่าเข้ามาเพื่ออะไร (5) ขอให้เจ้าหน้าที่คำนึงถึงผลประโยชน์ต่อเด็กเป็นสำคัญ (6) เจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับเด็กควรได้รับการอบรมเรื่องสิทธิเด็กเพื่อมิให้การทำงานไปกระทบกับสิทธิของเด็ก และ (7) รถที่มาควรเป็นรถที่ไม่มีสัญลักษณ์ของความรุนแรง เช่น ไม่ใช่รถหุ้มเกราะ แต่ควรมีสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นรถของเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานของทางราชการ
 
เครือข่ายปกป้องเด็กชายแดนใต้สรุปไว้ตอนท้ายว่า การปกป้องคุ้มครองเด็กไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินกว่าที่ผู้ใหญ่ทุกคนจะร่วมมือและช่วยกันในการสร้างโรงเรียนที่ปลอดภัยแก่เด็ก เพื่อไม่ให้มีการโจมตีและใช้โรงเรียนเพื่อปฏิบัติการทางทหารของกองกำลังติดอาวุธของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก
 
หากทำได้ตามข้อเสนอของรายงานการศึกษาดังกล่าว อย่างน้อยก็จะเป็นเรื่องดีที่เด็กไม่ต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับ “สงคราม” ของใครก็ตาม ไม่ต้องมีการใช้เด็กเพื่อเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าผู้ใหญ่ที่จับปืนรบกันทั้งสองฝ่ายจะมองว่า พวกเขามีเหตุผลดีแค่ไหนในการสร้างสงครามนี้ ไม่ว่าพวกเขาจะอ้างความชอบธรรมมากมายแค่ไหนว่า สงครามนี้พวกเขาทำเพื่อคนรุ่นต่อไป ที่วันนี้ยังเป็นเด็กอยู่ก็ตาม
 .
สุขสันต์วันเด็กแห่งชาติปีหนู 2563 ขอให้เด็กทุกคน โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสุขและสนุกโดยปราศจากความรุนแรงในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหนก็ตาม
 .


กำลังโหลดความคิดเห็น