xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มแล้วงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ Field Day จ.สตูล เกษตรกรแห่เรียนรู้เพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เริ่มแล้วงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2563 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.ละงู จ.สตูล เกษตรกรสนใจแห่เรียนรู้เพียบ

วันนี้ (9 ม.ค.) กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2563 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอละงู หมู่ 6 ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล โดยมี นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานเปิดงาน และมี นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา นายวิฑูร อินทรมณี เกษตรจังหวัดสตูล ให้การต้อนรับ และร่วมงาน โดยมีเกษตรกรและผู้ร่วมงานคึกคักกว่า 500 คน

นายสุพิท จิตรภักดี ให้ข้อมูลว่า จากสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพ ในขณะเดียวกัน พี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ยังมีการผลิต และการจำหน่ายสินค้าเกษตร ตลอดจนโอกาสการเข้าถึงข้อมูล แหล่งทุน ทรัพยากร และการตลาดได้น้อย ที่สำคัญที่สุดพี่น้องเกษตรกรยังทำการเกษตรในลักษณะต่างคนต่างทำ ผลิตสินค้าไม่สอดคล้องต่อความต้องการของตลาด ขาดการรวมกลุ่ม จึงทำให้ยากต่อการจัดการผลผลิต
 


 
รัฐบาลมีความตระหนัก และเข้าใจในปัญหาที่พี่น้องเกษตรกรต้องเผชิญอยู่ จึงมีนโยบายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ที่สอดคล้องต่อสินค้าหลัก และเหมาะสมต่อศักยภาพของพื้นที่ หรือ Zoning โดยมีองค์ประกอบของศูนย์ ได้แก่ เกษตรกรต้นแบบ แปลงเรียนรู้ หลักสูตรการเรียนรู้ และฐานการเรียนรู้ สำหรับองค์ความรู้ที่มีอยู่ในศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีที่หน่วยงานราชการส่งเสริมกับภูมิปัญญาของเกษตรกร และได้มีการประยุกต์ใช้ให้มีความเหมาะสมอย่างเฉพาะเจาะจงกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ จึงได้จัดกิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมของพี่น้องเกษตรกร ก่อนเข้าสู่การเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2563

โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีองค์ความรู้เพื่อวางแผนการผลิต เข้าถึงปัจจัยการผลิต บริหารจัดการความเสี่ยง และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ซึ่งหากสามารถทำให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ไปประยุกต์ใช้จะทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี การจัดกิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) จะดำเนินการในทุกอำเภอของภาคใต้ จำนวน 151 อำเภอ ขอให้เกษตรกรเข้าร่วม และสอบถามข้อมูลได้ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัด
 


 
ด้าน นายวิฑูร อินทรมณี เกษตรจังหวัดสตูล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอละงู มีสินค้าหลักคือข้าว ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ อ.ละงู ส่วนใหญ่มีการทำนาเป็นอาชีพหลัก จังหวัดได้ส่งเสริมให้ดำเนินการเป็นแปลงใหญ่ข้าว มีสมาชิก จำนวน 106 ราย พื้นที่ 596 ไร่ เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 900 บาทต่อไร่ เพิ่มผลผลิตได้ 75 กิโลกรัมต่อไร่ พันธุ์ข้าวที่เกษตรกรนิยมใช้ คือ พันธุ์ปทุมธานี 1

การจัดงานวันนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาการผลิตข้าวที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด โดยผ่านกระบวนการกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มส่งเสริมอาชีพ กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรมีการพัฒนาการผลิตข้าวในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาคุณภาพผลผลิต การแปรรูปผลผลิต การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การผลิตนำการเกษตร (การพัฒนาตลาดโดยเน้นตลาดออนไลน์) เทคโนโลยีที่นำมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร จำนวน 5 ประเด็น โดยผ่านสถานีเรียนรู้ต่างๆ ดังนี้

1.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ซึ่งมีนิทรรศการความรู้จากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง การเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสม การใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมือง การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว และกระบวนการดูแลและการผลิตข้าว ถ่ายทอดความรู้โดยเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่

2.การจัดการดิน และปุ๋ยในนาข้าว แสดงเนื้อหาองค์ความรู้ ผ่านแปลงสาธิต และบอร์ดเรียนรู้ เช่น การจัดการดิน การใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ในนาข้าว การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และความต้องการของพืช การใช้เทคโนโลยีด้านเครื่องจักรกลในนาข้าว และการใช้จุลินทรีย์ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช PGPR (Plant Growth Promoting Rhizobacteria) โดยเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่

3.การผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบหมักแห้ง และหมักน้ำ โดยการสาธิตวิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนจากเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่

4.การจัดการศัตรูข้าว เช่น การผลิต และการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา การจัดการโรค และแมลง โดยแสดงตัวอย่างแมลงศัตรูข้าว ลักษณะการเข้าทำลายของโรคพืช โดยเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่

5.การแปรรูปผลผลิตข้าว เช่น น้ำนมข้าว ข้าวเม่า ข้าวเม่าทอด และการผลิตข้าวกล้อง เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และยืดอายุการเก็บรักษา
 












กำลังโหลดความคิดเห็น