ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เทศบาลนครภูเก็ต เล็งสร้างเตาเผาขยะตัวที่ 3 หลังที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นวันละ 970 ตันได้ จ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือศึกษาออกแบบรายละเอียด รองรับวันละ 600 ตัน ให้เอกชนลงทุนกว่าพันล้านบาท เสร็จภายใน 3 ปี หาก ครม.อนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าชายเลน
นายถาวร จิรพัฒนโสภณ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต เปิดเผยว่า จากแนวโน้มปริมาณขยะในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องปีละประมาณ 7% และไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงแต่อย่างใด ขณะนี้ปริมาณขยะทั่วทั้งเกาะภูเก็ตที่ส่งเข้าสู่เตาเผาขยะที่สะพานหิน ซึ่งอยู่ในการดูแลของเทศบาลนครภูเก็ต เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 970 ตัน ซึ่งเกินความสามารถที่เตาเผาขยะทั้ง 2 หัว จะรองรับได้ โดยเตาเผาขยะทั้ง 2 หัวที่มีอยู่นั้น สามารถรองรับขยะได้วันละ 950 ตัน ส่วนขยะส่วนที่เกินนั้นจะต้องนำไปฝังกลบ ที่มีพื้นที่ฝังกลบประมาณ 100 ไร่ แต่ก็มีขยะเดิมอยู่แล้วประมาณ 6-7 หมื่นตัน
เพื่อให้การจัดการขยะของจังหวัดภูเก็ต สอดคล้องต่อปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้น ทางเทศบาลนครภูเก็ต ได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทำการศึกษาความเหมาะสมและศึกษาออกแบบรายละเอียด รวมทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อม โรงเตาเผาขยะภูเก็ตเพิ่มอีก 1 โรง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการขออนุญาตใช้พื้นป่าไม้และป่าชายเลน จากกรมป่าไม้ กรมป่าชายเลน และเสนอ ครม.ขอความเห็นชอบขอใช้พื้นที่ป่าในการก่อสร้างโรงเตาเผาขยะตัวที่ 3 ต่อไป รวมทั้งนำข้อมูลดังกล่าวเป็นแนวทางในการเชิญชวนเอกชนเข้ามาลงทุน
“ภายหลังจากที่เทศบาลมีโครงการที่จะก่อสร้างโรงเตาเผาขยะเพิ่มอีก 1 โรงนั้น ได้มีเอกชนสนใจที่จะเข้ามาลงทุน ได้ติดต่อสอบถามข้อมูลรายละเอียดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายหลังจากที่ ครม.อนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้และป่าชายเลนได้แล้ว ทางเทศบาลจะกำหนดทีโออาร์เชิญชวนให้เอกชนเข้ามาร่วมกันลงทุนกับเทศบาล โดยเทศบาลลงทุนในส่วนของที่ดิน ส่วนเงินลงทุนทั้งหมดจะลงทุนโดยเอกชน ซึ่งคาดว่าไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท” รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวและว่า
สำหรับเทคโนโลยีเตาเผาขยะนั้น จะยังคงใช้แบบเดิมเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ที่เป็นเทคโนโลยีของประเทศเยอรมนี แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น เนื่องจากระบบเดิมที่ใช้อยู่ในขณะนี้ คือ ระบบตะกรับ ถือเป็นระบบที่มีความเหมาะสมต่อการกำจัดขยะที่ไม่ได้มีการคัดแยกขยะก่อนเข้าสู่เตาเผา ซึ่งในส่วนของภูเก็ตนั้น ต้องยอมรับว่าไม่ได้มีการคัดแยกขยะ การคัดแยกขยะก่อนนำเข้าสู่เตาเผาเป็นต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ขยะที่เข้าสู่เตาเผาเป็นขยะรวม
นายถาวร กล่าวอีกว่า ตามแผนที่วางไว้นั้น การก่อสร้างเตาเผาขยะที่ 3 นี้ จะสามารถรองรับขยะได้วันละ 500-600 ตัน มีทั้งหมด 2 หัว อาจจะเป็นหัวละ 250 ตัน หรือหัวละ 300 ตัน จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลา 3 ปี นับจากที่ ครม.อนุมัติให้ใช้พื้นที่ โดยการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการจะแล้วเสร็จประมาณกลางปีนี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระบบราชการ คือ การเสนอขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมป่าไม้ และกรมป่าชายเลน ก่อนเสนอ ครม.ขอความเห็นชอบ เมื่อ ครม.เห็นชอบก็จะเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาลงทุน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นก็จะใช้เวลาในการก่อสร้างอีก 2 ปี รวมเป็นเวลา 3 ปี เมื่อเตาเผาที่ 3 ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับการเผาขยะได้ถึงวันละ 1,500-1,600 ตัน หากปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นจากนี้ จังหวัดภูเก็ตจะต้องหาสถานที่ในการก่อสร้างเตาเผาขยะในพื้นที่อื่นต่อไป เพราะขณะนี้รถขยะที่เข้ามายังเตาเผาที่สะพานสูงถึงวันละ 400 กว่าเที่ยว