xs
xsm
sm
md
lg

งบกว่า 3 แสนล้านกับ 16 ปีไฟใต้ “คน จชต.-สังคมไทย-เจ้าหน้าที่รัฐ” ใครเป๋าตุง?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  /  โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
 


 
“ดูเหมือนจะจบ แต่ยังไม่จบ” สำหรับเรื่องราวของการที่ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ (ชป.จรยุทธ์) ทหารพรานในสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สังหารชาวบ้าน 3 ศพ แล้วหลบหนี้ได้ 3 คน ขณะกำลังทำการแปรรูปไม้อยู่บนเทือกเขาตะเว ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งก็คือเทือกเขาที่อยู่หลังหมู่บ้านของชาวบ้านกลุ่มนั้นนั่นเอง
 
ที่บอกกว่า “ยังไม่จบ” แม้ว่า พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ออกมายอมรับถึงความผิดพลาดแล้ว โดย ชป.จรยุทธ์ทหารพรานเข้าใจว่าชาวบ้านทั้งหมดเป็น “อาร์เคเค” หรือกองกำลังคอมมานโดของขบวนการ “บีอาร์เอ็น” เนื่องจากจำนวนชาวบ้าน 6 คน เทียบเคียงได้กับการประกอบกำลังของอาร์เคเค 1 ชุด อีกทั้งยังมีการนำทหารพรานเป็นมือลั่นไกปืนสังหารไปมอบตัวต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาสแล้วด้วย เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งผลสุดท้ายจะผิดหรือถูกให้ไปว่ากันที่ชั้นศาล
 
ในขณะที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็ได้เข้าพบครอบครัวผู้สูญเสียทั้งหมดเพื่อแสดงความเสียใจ พร้อมมอบเงินเยียวยารายละ 500,000 บาท และรับปากจะให้การช่วยเหลือคนในครอบครัวที่ตกงาน หรือมีปัญหาเรื่องสุขภาพ อีกทั้งพร้อมจะส่งให้ลูกของผู้ตายได้เล่าเรียนจนจบปริญญาตรี หรืออายุ 25 ปีบริบูรณ์
 
เป็นความพยายามของทั้งฝ่าย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. ที่ต้องการไม่ให้ปัญหาบานปลายไปสู่การเคลื่อนไหวของผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งภายหลังเกิดเหตุก็มีความเคลื่อนไหวภาคประชาชนทวงถามถึงความยุติธรรมเกิดขึ้นมาแล้ว
 
ในขณะที่ฝ่ายของขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลังสิ้นเสียงปืนในที่เกิดเหตุ บีอาร์เอ็นก็ได้จุดพลุงานด้านการทำไอโอโดยให้เครือข่ายที่จัดตั้งในรูปแบบภาคประชาสังคม องค์กรนักศึกษา และอื่นๆ ที่มีกว่า 40 องค์กรได้เคลื่อนไหวทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ทันที
 
การยอมรับผิดและการเยียวยาที่รวดเร็วของทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. นั่นได้ทำให้สถานการณ์ความรู้สึกที่ไม่ดีของคนในพื้นที่ลดลงในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกับครอบครัวของผู้สูญเสียที่เข้าใจและพร้อมให้อภัย โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐยอมรับความจริงอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้ได้ทำให้แผนการของบีอาร์เอ็นที่จะนำไปขยายผลเพื่อ “ปลุกระดม” คนในพื้นที่ นั่นกลับไม่ได้ผลตามที่ต้องการ
 
วันนี้สิ่งที่คนส่วนหนึ่งยัง “ค้างคาใจ” คือประเด็น คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่แต่งตั้งโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำการตรวจสอบจะต้องแถลงผลให้สังคมทราบว่าเป็นการ “เจตนา” หรือ “ไม่เจตนา” โดยเฉพาะเป็นการ “ยิงใส่ทันทีที่เห็น” หรือมีการ “ควบคุมตัวก่อน” ที่จะถูกยิงเสียชีวิต แต่เรื่องราวต่างๆ ก็ยังไม่มีความกระจ่างชัด
 
ในส่วนของครอบครัวผู้สูญเสีย แม้จะบอกว่าให้อภัยแล้ว แต่ก็ยังติดใจอยู่กับ “ตัวเลข” ของการเยียวยาที่ควรจะมากกว่ารายละ 500,000 บาท ซึ่งก็เหมือนๆ เป็นการการเยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อไฟใต้หรือคนที่ถูกคมกระสุนของ “โจรใต้” หรือ “แนวร่วม” บีอาร์เอ็นแบบทั่วๆ ไป แต่ทั้ง 3 ศพนี้แตกต่างเพราะตายด้วยฝีมือ “เจ้าหน้าที่” ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนที่เกิดเหตุทหารพรานยิงผู้บริสุทธิ์ในมัสยิดไอปาร์แย อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ปรากฏว่ารัฐบาลยังได้จ่ายค่าเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท
 .
ดังนั้น เหตุการณ์ทหารพรานสังหารชาวบ้าน 3 ศพบนเทือกเขาตะเวมีเสียงก้องดังว่า “จบแล้ว” แต่ในความเป็นจริงกลับ “ยังไม่จบ” ลงได้ง่ายๆ เลย
 .
นี่เองต้องนับว่าเหมือนกับ “ไฟใต้ระลอกใหม่” ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ด้วยกองกำลังบีอาร์เอ็นบุกเข้าไปปล้นปืนถึงในกองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งกาลเวลาผ่านมาถึง 16 ปีเต็มแล้ว แต่วันนี้สังคมไทยกลับยังมองไม่เห็นว่าในที่สุดแล้วไฟใต้ที่โชนเปลวจะมอดดับได้อย่างไร
 
ตลอด 16 ปีของไฟใต้ระลอกใหม่มี “ตัวเลข” ที่น่าสนใจคือ มีการก่อการร้าย 10,119 เหตุการณ์ มีเจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิต 4,085 ศพ มีผู้บาดเจ็บและพิการ 10,818 ราย และมีเด็กกำพร้าที่เป็นภาระสังคมจะต้องดูแล 7,297 คน
 .
แต่ที่สังคมให้ความสนใจมากสุดเห็นจะเป็นตลอด 16 ปีไฟใต้ระลอกใหม่มีการใช้ “งบประมาณ” เพื่อดับไฟใต้ที่อยู่ในอุ้งมือของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มาตลอดสูงถึง 313,792 ล้านบาท
 .
ทั้งนี้ ถือเป็นตัวเลขที่คุ้มหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่สังคมในพื้นที่ได้รับในช่วง 16 ปีเช่นกัน อาทิ ได้ผู้ประกอบอาชีพพยาบาลเพิ่ม 3,000 คน ได้เงินเยียวยาในกรณีเสียชีวิตที่มีสาเหตุจากไฟใต้ศพละ 500,000 บาท ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บก็ได้รับการเยียวยาตามสภาพของอาการและความพิการ คนในครอบครัวผู้สูญเสียได้รับการบรรจุให้เข้าทำงานในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ หรือได้รับเงิน 4,500 บาทต่อเดือนสำหรับบัณฑิตอาสาหรือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือส่วนราชการ เป็นต้น
 
อีกทั้งคนในพื้นที่ได้โอกาสมีเงินเดือนหรือเบี้ยงเลี้ยงจากการสมัครเป็นทหารพรานบ้าง เป็น อส. ชรบ. ชคต. ฯลฯ เพื่อช่วยเหลืองานของหน่วยงานรัฐต่างๆ ในพื้นที่ หรือหากจะหารายได้จากการรวมตัวตั้งเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคม หรือทำหน้าที่อย่างเอ็นจีโอ ก็สามารถทำได้ และก็เกิดขึ้นให้เห็นแล้วมากมายถึงราว 500 กลุ่ม โดยได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในพื้นที่
 
สำหรับสังคมไทยก็ได้เห็นอาวุธยุทโธปกรณ์ของฝ่ายความมั่นคงที่น่าสนใจด้วยคือ ได้เห็น “เรือเหาะ” ราคากว่า 350 ล้านบาทที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แม้แต่จะนำไปโชว์ในงานวันเด็ก ได้เห็นเครื่องตรวจจับระเบิด ปืนและสิงผิดกฎหมายต่างๆ ที่มีชื่อเรียกว่า “ทีจี 200” ราคานับแสนนับล้านบาทต่อเครื่องถูกทำมาใช้เกลื่อนกลาด แต่ได้กลายเป็น “ไม้ล้างป่าช้า” ไปในที่สุด เป็นต้น และจนถึงวันนี้ก็ยังหา “คนรับผิด” ในการผลาญงบประมาณแผ่นดินไม่ได้
 
นอกจากนี้ สังคมก็ยังได้เห็นสิ่งสาธารณูปโภคสาธารณูปการต่างๆ ที่จัดซื้อจัดหาด้วยเงินงบประมาณนับพันนับหมื่นล้านบาท ส่วนที่น่าสนใจอย่างที่ประจักษ์อีกเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ได้เห็น “เสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์” ยืนเรียงเป็นทิวแถวตามตำบลหมู่บ้าน ได้เห็น “สนามฟุตซอล” กระจายอยู่ในทุกตำบล ได้เห็น “ตู้น้ำดื่มเทวดา” ราคาครึ่งล้าน ซึ่งล้วนได้กลายเป็น “อนุสรณ์สถานการโกงกิน” ของใครบางคนหรือบางกลุ่ม
 
ไม่เพียงเท่านั้นสังคมไทยยังได้เห็น “อดีตข้าราชการ” ทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจและพลเรือน ซึ่งเคยทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเกษียณราชการแล้วก็ยังได้รับการปูนบำเหน็จแต่งตั้งให้เป็น “ผู้แทนพิเศษ” ชุดต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนงานดับไฟใต้ โดยได้รับเงินตอบแทน “นับแสนบาทต่อเดือน” ซึ่งก็ดีกว่ากลับไปเลี้ยงหลานหรืออยู่บ้านเปล่าๆ เหล่านี้เป็นต้น
 
นับเป็น 16 ปีสถานการณ์ไฟใต้ระลอกใหม่ที่มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย และหลายครั้งหลายหนก็ลุกลามออกนอกพื้นที่ไปได้ถึงใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงมีจุดเริ่มจากปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น เพราะถ้าไม่มีขบวนการแย่งแยกดินแดนนี้สิ่งต่างๆ ก็คงจะไม่เกิดขึ้น
 .
และถ้า “วันนี้พรุ่งนี้” จังหวัดชายแดนภาคใต้ไร้ซึ่งเงาของขบวนการบีอาร์เอ็น ทั้งเงินงบประมาณและตำแหน่งงานต่างๆ ก็จะต้องหายวับไปเช่นเดียวกัน
 .
ถือเป็น 16 ปีที่นอกจากทุกรัฐบาลไม่สามารถทำให้สถานการณ์ความรุนแรงยุติลงได้ ไม่สามารถทำให้ขบวนการบีอาร์เอ็นพ่ายแพ้ทั้งในด้านการทหารและการเมือง แถมยังเป็น 16 ปีที่ทำให้ “ภัยแทรกซ้อน” ต่างๆ มากมายได้มีโอกาสเติบโตขึ้นอย่างน่าหวั่นเกรงด้วย
 
เวลานี้หลายพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นจุดขนถ่ายและเป็นจุดพัก “ยาเสพติด” ที่สำคัญก่อนที่จะถูกลำเลียงไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งคนในพื้นที่ส่วนหนึ่งร่วมอยู่ในขบวนการ แถมยังมีผู้ติดยาเสพติดเป็นจำนวนมาก มิพักต้องกล่าวถึงการแพร่ระบาดของ “กระท่อม” ซึ่งก็นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซียอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
 
เช่นเดียวกับ “น้ำมันเถื่อน” หรือ “น้ำมันปาล์มเถื่อน” หรือ “เนื้อสัตว์” หรือ “เหล้าเถื่อน” หรือ “บุหรี่เถื่อน” และของเถื่อนๆ อีกมากมาย ซึ่ง “สินค้าเถื่อน” เหล่านี้บางประเภทได้กลายเป็น “โอทอป” สำคัญของแผ่นดินไฟใต้ไปแล้วด้วย แถมยังมี “อัตราการเติบโตทางธุรกิจ” แบบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนปีของไฟใต้ระลอกใหม่ที่ทอดเวลาออกไป
 
ณ วันนี้ทั้งเรื่องราวของการแบ่งแยกดินแดน ทั้งเรื่องของภัยแทรกซ้อน ล้วนยังเป็นหน้าที่ที่อยู่ในอ้อมกอดของหน่วยงานอย่าง “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” อย่างมั่นคงไม่แปรเปลี่ยนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปราบปรามและการป้องกัน
 .
ถึงวันนี้ 16 ปีไฟใต้ระลอกใหม่เพิ่งผ่านพ้นมาหมาดๆ ในขณะที่ขบวนการบีอาร์เอ็นก็ยังดูเหมือนสามารถเติบโตต่อไปได้ในเบื้องหน้า แถมยังสามารถผลักดันสู่การมีบทบาทในเวทีโลกได้มากขึ้นด้วย
 .
ดูเหมือนว่า 16 ปีไฟใต้ระลอกใหม่ทอดเวลามาเนิ่นนาน นานจนปัจจุบันสังคมรู้สึกเหมือนกับว่าไม่มีอะไรที่จะทำให้จะมอดดับได้อีกแล้ว เพราะทุกนโยบายของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เองได้ใช้ปฏิบัติเพื่อดับไฟใต้มาตลอด แต่กลับไม่เคยได้ผลอย่างเป็นที่ประจักษ์
 .
ฉะนั้นแล้วต่อไปจะมีปีที่ 17 ปีที่ 18 ปีที่ 19 หรือตัวเลขแห่งปีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ อีกเท่าใดก็ตาม สังคมไทยก็ยังคงแทบไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของไฟใต้อย่างแน่นอน

แต่เอ๊ะ! ทำไมมีภาพภจ้าหน้าที่รัฐได้รับการอวยยศและตำแหน่ง แล้วหิ้วกระเป๋าหนักๆ ออกจากพื้นที่กลับไปบ้านแทบทุกเดือน บ้านใหม่ รถยนต์ใหม่ ตัวเลขในบัญชีที่เพิ่มขึ้น หากเป็นเช่นนั้นแสดงว่าคุณประโยชน์ของไฟใต้ก็ยังมีให้เห็นเช่นกัน
 


กำลังโหลดความคิดเห็น