xs
xsm
sm
md
lg

เร่งตรวจหาสาเหตุหอเตือนภัยสึนามิที่กระบี่ไม่ดัง พบบางส่วนอุปกรณ์ชำรุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กระบี่ - อธิบดี ปภ.สั่งตรวจสอบเหตุสัญญาณเตือนภัยไม่ดังในพื้นที่กระบี่ ฉุนสื่อตีข่าวส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ขณะที่การตรวจสอบพบหลายจุดชำรุดต้องแก้ไข





จากกรณีที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้มีการทดสอบเสียงสัญญาณเตือนภัยสึนามิ ด้วยการเปิดเพลงชาติ หลังเคารพธงชาติทุกวันพุธ ผ่านหอเตือนภัยฟที่ตั้งกระจายอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย 6 จังหวัดอันดามัน ในส่วนของ จ.กระบี่ ตั้งกระจายอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ จำนวน 32 หอ และจากการทดสอบเสียงสัญญาณเตือนภัย เมื่อวันพุธที่ 25 ธ.ค.62 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าเสียงสัญญาณเตือนภัยในพื้นที่ จ.กระบี่ ดังไม่ครอบคลุมทุกจุด และสื่อได้มีการนำเสนอข่าว สร้างความไม่พอใจให้แก่เจ้าหน้าที่ ปภ.เป็นอย่างมาก โดยอ้างว่าการนำเสนอข่าวดังกล่าว กระทบภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ขณะที่ภาคเอกชนออกมาระบุว่า หากหอเตือนภัยใช้การไม่ได้ก็ควรจะทุบทิ้ง อย่าสร้างให้เป็นอนุสาวรีย์

ล่าสุด วันนี้ (3 ม.ค.) นายสุวัฒน์ พลับเพลิง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ รักษาการผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการเตือนภัย ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ลงพื้นที่ตรวจสอบกล่องส่งสัญญาณที่ติดตั้งอยู่ภายในห้องส่งสัญญาณวิทยุ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ถนนท่าเรือ ต.ปากน้ำ อ.เมืองกระบี่ ไม่ดังเมื่อวันพุธที่ 25 ธ.ค.62 ขณะทดลองส่งสัญญาณเสียงเพลงชาติ พบว่าไม่ดัง สร้างความกังวลให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชน


นายสุวัฒน์ เปิดเผยด้วยว่า ช่วงที่เกิดเหตุนั้น ทางทีมดูแลหอเตือนภัย ทราบเรื่องและไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ช่วงนั้นติดภารกิจอยู่ทางภาคเหนือ หลังจากเสร็จภารกิจได้ส่งทีมช่างลงมาตรวจสอบหอและอุปกรณ์เตือนภัยในกระบี่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่พี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยได้รับคำสั่งจากนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดี ปภ.เร่งหาสาเหตุเสียงสัญญาณเตือนภัยไม่ดัง ขณะทดลองสัญญาณเสียงเมื่อช่วงวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยจากการลงตรวจสอบพบว่า มี 5 จุด

จุดแรก ที่ สวท.กระบี่ ไม่พบอุปกรณ์ชำรุดแต่อย่างใด ขณะนี้ส่งสัญญาณได้เป็นปกติ จุดที่ 2 บ้านแหลมกรวด พบปัญหาแบตเตอรี่เสื่อม เป็นขี้เกลือ ไม่มีไฟไปเลี้ยงระบบ เป็นสาเหตุที่ไม่ดัง นอกจากนี้ จุดที่ 3 และ 4 โรงเรียนบ้านปากคลอง เกาะลันตา และที่ อบต.เกาะลันตา ปัญหาเดียวกัน คือ อุปกรณ์กันไฟกระชากชำรุด ได้แก้ไขเป็นปกติ จุดที่ 5 เกาะรอก เตรียมเข้าดำเนินการตรวจสอบอีกครั้ง เนื่องจากติดปัญหาการเดินทาง


นายสุวัฒน์ เปิดเผยอีกว่า ทั้งนี้ระบบส่งสัญญาณเสียง เมื่อกดส่งสัญญาณระบบจะวิ่งไปยังผู้ให้บริการดาวเทียม แล้วดาวเทียมจะส่งต่อไปยังจานรับพื้นที่ต่างๆ ที่มีการติดตั้ง หลังจากนั้นจะส่งสัญญาณเข้ากล่องรับสัญญาณเสียง ส่งออกลำโพง ส่วนสาเหตุที่เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา สัญญาณเสียงไม่ดังนั้น เนื่องจากระบบส่งสัญญาณส่งผ่านดาวเทียมไม่ใช่ระบบอินเทอร์เน็ต อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น บางพื้นที่สภาพอากาศไม่อำนวยอาจมีเมฆปกคลุมมากก็จะมีผลต่อการส่งสัญญาณ

นอกจากนี้ การส่งข้อมูลขึ้นไปเยอะๆ พร้อมกัน การที่ดาวเทียมจะส่งกลับลงมาอาจจะมีค่าเออเรอร์บ้าง ซึ่งวันดังกล่าวอาจจะเกิดการเออเรอร์กับเครื่องจุดนี้จึงไม่มีเสียงดังออกมา หรืออีกสาเหตุในขั้นตอนการเรียงโค้ดที่จะส่งสัญญาณอาจจะตกหล่นก็เป็นได้อีกหนึ่งสาเหตุ เพราะส่งทั่วประเทศเกือบ 1 พันชุด ซึ่งหอเตือนภัยที่รับสัญญาณมีกว่า 340 หอ สถานีแม่ข่ายอีก 600 กว่าหอ และอื่นๆ อีกประมาณ 100 กล่องรับสัญญาณ

ส่วนการดีเลย์ของสัญญาณนั้น จะดีเลย์แค่อึดใจเดียวเท่านั้น ทั้งนี้เวลาเกิดคลื่นสึนามิ แผ่นดินไหวในทะเล หน่วยงานที่ตรวจสอบแผ่นดินไหวในทะเลจะรับรู้ได้ไม่เกิน 5 นาที หลังจากนั้น 7-8 นาที ก็จะส่งสัญญาณมาถึงศูนย์เตือนภัย ทางศูนย์เตือนภัยมีหน้าที่วิเคราะห์ไม่เกิน 12 นาที ก็สามารถแจ้งเตือนได้ทันที อย่างแผ่นดินไหวที่เคยเกิด และเกิดคลื่นสึนามิ ใช้เวลาในการเดินทางมาค่อนข้างนานกว่าจะมากระทบทุ่น มีเวลาเตือนภัยที่เพียงพอ สำหรับสัญญาณเตือนภัยเหล่านี้ เป็นอีกหนึ่งช่องทาง ซึ่งปัจจุบันนี้มีการแจ้งเตือนที่หลากหลายโดยเฉพาะโลกโซเชียลที่ไวและทันเหตุการณ์ เพราะฉะนั้น นักท่องเที่ยวและประชาชนมีความเชื่อมั่นได้อย่างแน่นอน




กำลังโหลดความคิดเห็น