xs
xsm
sm
md
lg

ส่องโครงข่ายคมนาคมภูเก็ตไปถึงไหน จะอยู่แค่บนกระดาษ หรือฝันเป็นจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ส่องโครงข่ายคมนาคมภูเก็ต เพื่อแก้ปัญหาจราจรรับมือท่องเที่ยว ยังไปไม่ถึงไหน หลังเดินหน้าผลักดันกันมายาวนาน รถไฟฟ้ารางเบา ล่าสุด ส่งกลับศึกษาใหม่ ถนนยังติด EIA ส่วนอุโมงค์ป่าตอง อยู่ในขั้นตอนขออนุญาตใช้พื้นที่ป่า ถ้าทุกอย่างผ่านเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติต่อไป





จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภูเก็ตปีละกว่า 13 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี ทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และสอดรับต่อการเติบโตของเมืองในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านคมนาคมขนส่งนักท่องเที่ยว ระบบขนส่งมวลชน ปัญหากาจราจรติดขัด ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ขยะ น้ำเสีย ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้งของทุกๆ ปี และอีกหลายปัญหาที่ตามมา โดยเฉพาะโครงข่ายด้านคมนาคม และระบบขนส่งมวลชน ทำให้ภูเก็ตต้องประสบปัญหาการจราจรติดขัด และขาดระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัยและได้มาตรฐานระดับโลกในการรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้พยายามในการแก้ปัญหา ด้วยการผลักดันโครงการต่างๆ ให้เกิดขึ้นในภูเก็ต เพื่อแก้ปัญหาและรองรับการเติบโตทางการท่องเที่ยวและเมืองภูเก็ตในหลายๆ โครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จากสนามบินภูเก็ตมายังห้าแยกฉลอง โครงการอุโมงค์หรือทางลอดป่าตอง โครงการถนนสายคู่ขนานถนนเทพกระษัตรี โครงการถนนสายวัดหลวงปู่สุภา-ป่าตอง และอื่นๆ ซึ่งแต่ละโครงการมีการผลักดันกันมาอย่างยาวนานก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่มีโครงการใดเกิดขึ้นจริงในภูเก็ต ยังคงเป็นแค่โครงการที่เกิดขึ้นบนกระดาษเท่านั้น วันนี้เรามาส่องดูความคืบหน้าของแต่ละโครงการต่างๆ กันว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหนอย่างไรกันแล้วบ้าง

เริ่มจากโครงการรถไฟฟ้ารางเบา เป็นโครงการที่หลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนพยายามผลักดันมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาความเป็นไปได้นับครั้งไม่ถ้วน จากงบประมาณในการก่อสร้างจนตอนนี้งบประมาณปาเข้าไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ที่นับวันเริ่มมีการจราจรติดขึ้นเพราะความเติบโตของเมืองที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการเดินหน้าผลักดันโครงการดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เมื่อทางกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าภาพในการดำเนินโครงการ

และหลังได้รับมอบหมาย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เข้าหารือจังหวัดภูเก็ต เพื่อเร่งศึกษา PPP ร่วมทุนโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ตามแผนเดิมจะสามารถลงนามสัญญาได้ประมาณกลางปี 2563 และมีแผนจะเริ่มก่อสร้างในปีเดียวกัน โดยใช้เวลาในการก่อสร้าง 3.5 ปี สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 66 โดยให้ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี


แต่ล่าสุด ฝันต้องสะดุดอีกครั้ง เมื่อบอร์ด รฟม.แตะเบรกโปรเจกต์ดังกล่าว โดยขอศึกษาใหม่ในประเด็นปริมาณผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวใช้บริการ โดยนายสราวุธ ทรงศิริวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยในฐานะประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ รฟม.วันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้ รฟม.นำผลการศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชน หรือแทรมภูเก็ต กลับไปศึกษาให้รอบด้าน ซึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องทบทวน เช่น ปริมาณผู้โดยสารที่ประเมินไว้อาจสูงเกินความเป็นจริง ประกอบกับต้องศึกษาพฤติกรรมการเดินทางของคนในพื้นที่ เทียบขนส่งสาธารณะประเภทอื่น และประมาณการผู้โดยสารต่างชาติที่จะเข้ามาใช้บริการด้วย

“แนวโน้มตอนนี้ยังมีการลงทุนโครงการนี้ต่อ แต่บอร์ดมีข้อสังเกต เพื่อให้มีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น ทำให้การศึกษาครบทุกมิติ ซึ่งขอให้ฝ่ายบริหารกลับไปทำข้อมูลเพิ่มเติมและกลับมาเสนอในการประชุมบอร์ดครั้งหน้า ส่วนประเด็นข้อตกลงด้านการใช้พื้นที่โครงการระหว่าง รฟม.และ ทล.ตอนนี้ได้ข้อยุติแล้ว โครงการนี้จะมีแนวเส้นทางรวม 42 กิโลเมตร เป็นทางระดับดิน 30.2 กิโลเมตร ทางยกระดับ 2.7 กิโลเมตร และเป็นระบบใต้ดินอีก 9.1 กิโลเมตร”

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า สถานะโครงการแทรมภูเก็ต ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ควบคู่กับการศึกษารูปแบบการลงทุน รวมทั้งจะพิจารณาข้อสังเกตของบอร์ดที่ได้สั่งการมาเพิ่มเติม คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดรับทราบในการประชุมครั้งหน้า หากบอร์ดเห็นชอบก็จะเข้าสู่ขั้นตอนเสนอขออนุมัติจากกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยยังมั่นใจว่าโครงการแทรมภูเก็ต จะสามารถเปิดประมูลได้ภายในปี 2563

สำหรับรูปแบบการลงทุนจะจัดทำในลักษณะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) โดยโครงการจะจัดใช้งบประมาณราว 3.45 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น งบก่อสร้างงานโยธา 2.6 หมื่นล้าน งบเวนคืนที่ดิน 1.5 พันล้านบาท และงบงานระบบรถไฟฟ้า 7 พันล้านบาท โครงการจะก่อสร้างแนวเส้นทางช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กิโลเมตร รวม 21 สถานี ซึ่งขั้นตอนอีไอเอ กับขั้นตอนเสนอขออนุมัติโครงการจาก ครม. สามารถทำควบคู่กันไปได้ ซึ่งตอนนี้ รฟม.ก็ดำเนินการอยู่ คาดว่าปีหน้าน่าจะเริ่มประมูลโครงการได้


โครงการต่อไปที่จะต้องตามไปดู คือ โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต หรือโครงการขุดอุโมงค์ป่าตอง ที่มีการผลักดันมายาวนานกว่า 10 ปีเช่นเดียวกัน โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากอำเภอกะทู้ ไปยังหาดป่าตอง เป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชนคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต และ แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ลดอุบัติเหตุบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 ในส่วนของรูปแบบการก่อสร้าง กำหนดแนวเส้นทางของโครงการเป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง (รถยนต์ 2 ช่องจราจร และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจร) ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นการก่อสร้างโครงการจะเริ่มที่ตำบลป่าตอง บริเวณถนนพระเมตตา เป็นทางยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ จนถึงเขานาคเกิด ระยะทาง 0.9 กม. จากนั้นเป็นอุโมงค์ ระยะทาง 1.85 กม. ต่อด้วยทางยกระดับ ระยะทาง 1.23 กม. และไปสิ้นสุดโครงการที่ตำบลกะทู้ ณ บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 รวมระยะทางทั้งหมด 3.98 กม.

ขณะนี้โครงการดังกล่าวถูกบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2558-2562 โดยคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ได้มีมติเห็นชอบแผนดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 และได้นำเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 สำหรับมูลค่าการลงทุนโครงการ รวม 14,177 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 5,792 ล้านบาท ซึ่งมีบ้านเรือนประชาชนที่จะต้องเวนคืนประมาณ 200 ราย และค่าก่อสร้างรวมค่าควบคุมงาน จำนวน 8,385 ล้านบาท

การดำเนินโครงการที่ผ่านมา การทางพิเศษฯ ได้จัดส่งรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามรายละเอียดที่คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ประกาศกำหนดของโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตองจังหวัดภูเก็ต ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2562 และ สคร. ได้เชิญการทางพิเศษฯ เข้าร่วมประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงรายละเอียดในรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นสมควรให้การทางพิเศษฯ จัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการให้ สคร. เรื่องการดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐต่อไป

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด การทางพิเศษฯ อยู่ระหว่างดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้เพื่อดำเนินโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตองจังหวัดภูเก็ต โดยได้ยื่นคำขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ต่อสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ ประกอบด้วย พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด พื้นที่เขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี พื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช 2484 รวม 109 ไร่ และที่เพิ่มเติมจากเดิม คือ พื้นที่ป่าในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ซึ่งขณะนี้ได้มีการตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้พร้อมกันทุกหน่วยงาน และนำเสนอข้อมูลเป็นหลักฐานในรายงานสรุปการขอใช้พื้นที่ป่า


ซึ่งล่าสุด ขั้นตอนอยู่ระหว่างสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต รวบรวมข้อมูล จัดทำรายงานผลการตรวจสภาพป่า พร้อมทั้งให้ความเห็นประกอบการตรวจสภาพป่า เตรียมเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้ความเห็นชอบก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่ต่อไป

นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาติดตามงานดูสภาพความพร้อมพื้นที่ที่จะใช้ในการก่อสร้างโครงการฯ เพื่อนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างดี และภายหลังจากได้ข้อมูลเรียบร้อยแล้วจะนำเสนอ สคร.เพื่ออนุมัติและนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป คาดว่ากลางปี 2563 น่าจะได้รับอนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2564 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนภาครัฐเอกชน (PPP) จัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อคัดเลือกผู้รับสัมปทาน คาดว่าใช้ระยะเวลา 1 ปี และกลางปี 2564 จะได้เริ่มก่อสร้าง โดยการใช้พ.ร.บ.ร่วมทุน และหากเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด คาดว่าปี 2569 สามารถเปิดใช้เส้นทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตองจังหวัดภูเก็ตได้

นอกจากนั้น ยังมีโครงการ “ถนนเส้นสาคู-เกาะแก้ว” เชื่อมต่อเส้นบายพาสของภูเก็ต ระยะทาง 22 กม. ใช้งบ 50,000 ล้านบาท เสนอโครงการมาตั้งแต่ปี 2555 แต่ติดขั้นตอนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากติดสวนป่าบางขนุน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้สงวน จนถึงขณะนี้ยังไม่อนุมัติ โดยโครงการนี้ กรมทางหลวง ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาออกแบบโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงแนวใหม่ สายบ้านสาคู-บ้านเกาะแก้ว เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ขณะนี้ทางกรมทางหลวงได้ดำเนินสรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทาง และรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมของโครงการแล้วเสร็จ เป็นถนน 6 ช่องจราจร พร้อมทางขนานอีก 4 ช่องจราจร และเลนจักรยาน 2 เลน กว้าง 80 เมตร ระยะทาง 22.7 กิโลเมตร

เริ่มต้นเส้นทางที่บริเวณใกล้ๆ กับวิทยาลัยเทคนิคถลาง ผ่านสวนป่าบางขนุน จุดตัดอำเภอถลาง จุดตัดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร และสิ้นสุดโครงการที่บ้านเกาะแก้ว ห่างจากทางลอดแยกบางคูประมาณ 700 เมตร ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมทั้งทางยกระดับบริเวณจุดตัดอีก 5 จุด ไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาท ซึ่งตามแผนงานที่วางไว้ การศึกษาออกแบบจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2560 และก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2565 นี้


และอีกโครงการที่จะต้องตามไปส่อง คือ โครงการถนนเส้นหลวงปู่สุภา-ป่าตอง (สายฉลอง-ป่าตอง) เป็นอีกโครงการหนึ่งที่จังหวัดภูเก็ตได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะพัฒนาเป็นเส้นทางหลัก เนื่องจากเส้นทางเดิมสภาพผิวจราจรลูกรังที่ผ่านการใช้งานมากว่า 20 ปี ในอดีตเป็นเส้นทางลำเลียงผลผลิตทางการเกษตรของประชาชนในพื้นที่อำเภอกะทู้ และเมืองภูเก็ต ทางจังหวัดภูเก็ตจึงได้วางแผนพัฒนาเส้นทางฉลอง-ป่าตอง เพื่อเชื่อมโยงให้เป็นเครือข่ายของการคมนาคม จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบประมาณราคาโครงข่ายเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมของแหล่งท่องเที่ยวฉลอง-ป่าตอง สำหรับโครงการดังกล่าวขณะนี้ยังติดอยู่ระหว่างทำ EIA ที่ยังติดปัญหาพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ล่าสุด ได้สำรวจพบว่า ลุ่มน้ำนี้เป็นป่ายางหมดแล้ว ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้พิจารณาปัญหาถนนเส้นนี้มา 2 ครั้งแล้ว และกำลังจะเข้าครั้งที่ 3 หาก สผ.อนุญาตสามารถดำเนินการได้เลย

สรุปจนถึงขณะนี้ โครงการต่างๆ ที่มีความพยายามในการผลักดันกันมายาวนาน ของทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีแผนงานโครงการที่ชัดเจน มีหน่วยงานที่รับผิดชอบทุกโครงการ แต่ก็ยังเดินต่อไม่สุดเนื่องจากติดปัญหาหลายอย่าง ทั้งเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อม เรื่องป่าไม้ รวมทั้งเรื่องของงบประมาณในการก่อสร้างที่ดีดตัวสูงขึ้นมหาศาล


กำลังโหลดความคิดเห็น