xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านสงขลาแห่เข้าร่วมประเพณี “ลอยแพสะเดาะเคราะห์” ที่สืบทอดมานานกว่า 100 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวบ้านแห่เข้าร่วมประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์ที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี ของตำบลตะเครียะ อ.ระโนด จ.สงขลา เพื่อปล่อยทุกข์ปล่อยโศกและสิ่งไม่ดีให้ลอยไปกับแพเพื่อเริ่มสิ่งใหม่ในปีใหม่

วันนี้ (2 ม.ค.) สีสันประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์ที่วัดวารีปาโมกข์ (วัดปากบาง) ต.ตะเครียะ อ.ระโนด จ.สงขลา คึกคักไปด้วยชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียงที่เดินทางมารวมตัวกันที่วัด เพื่อร่วม “ประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์” ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพราะเชื่อว่าจะเป็นการปล่อยทุกข์ปล่อยโศกและสิ่งไม่ดีให้ลอยไปกับแพ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

โดยเมื่อถึงเวลาชาวบ้านพากันจับสายสิญจน์คนละไม้คนละมือ ร่วม “ส่งเภา” หรือ “ส่งแพ” โดยร่วมกันแห่แพไปรอบวัด โดยภายในแพที่ประดับตกแต่งให้มีความสวยงามนี้ ก็จะมีข้าวของและธูปเทียนดอกไม้ที่ทุกคนนำมาใส่ แพทำหน้าที่รับความทุกข์ โรคภัยไข้เจ็บ สิ่งไม่ดีต่างๆ เพื่อนำไปลอยทิ้ง ตามความเชื่อที่ว่าพระแม่คงคาสามารถช่วยเหลือชาวบ้านให้พ้นจากความทุกข์ โรคภัย ความพิบัติต่างๆ ได้ เป็นการส่งเคราะห์ร้ายให้พ้นไปจากหมู่บ้าน และขอขมาพระแม่คงคาเพื่อเริ่มสิ่งใหม่ๆ ในปีใหม่ โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน ชาวบ้านทั้งรำ ทั้งเต้นกันไปตลอดทาง สุดท้ายก็นำแพไปลอยลงในทะเลสาบสงขลา

สำหรับ “ประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์” ของชาวตำบลตะเครียะ จัดขึ้นเป็นที่แรกของประเทศไทย ประมาณ 100 ปีมาแล้ว วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ผูกพันกับแผ่นดิน สายน้ำในลำคลองตะเครียะ และทะเลสาบสงขลา จึงมีประเพณีนี้ขึ้นมาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้มีพระคุณ ก็คือ เทพเจ้าแห่งปฐพีและเทพเจ้าแห่งวารีนั่นเอง
 












กำลังโหลดความคิดเห็น