xs
xsm
sm
md
lg

บาทแข็งฉุดท่องเที่ยวภูเก็ตชะลอตัวในปี 63 ภาคเอกชนเรียกร้องรัฐบาลฉีดยาแรง กระตุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นักวิชาและภาคเอกชนประสานเสียง เงินบาทแข็ง ฉุดท่องเที่ยวภูเก็ตในปี 63 ชะลอตัว ทำอำนาจซื้อของนักท่องเที่ยวลดลงไม่ต่ำกว่า 20% ในขณะที่แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติสดใหม่ในประเทศเพื่อบ้านที่ราคาถูกเพิ่มขึ้นเพียบ ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกมาภูเก็ต เรียกร้องภาครัฐฉีดยาแรงกระตุ้นท่องเที่ยวก่อนซบเซากว่านี้

ท่องเที่ยวภูเก็ตเดินทางมากว่า 3 ทศวรรษ ผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆ มากมาย แต่ก็ยังเติบโตเพิ่มสูงมาโดยตลอด จนปัจจุบันทำให้ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวถึงปีละกว่า 14 ล้านคน สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวมากกว่า 4.4 แสนล้านบาทในปี 2561 ที่ผ่านมา แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ท่องเที่ยวภูเก็ตได้ชะลอตัวจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่เชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทางทะเล ภายหลังเรือฟินิกซ์ล่มเมื่อเดือน ก.ค.2560 ทำให้นักท่องเที่ยวหายไปเป็นจำนวนมาก จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่กลับมาทั้งหมด นักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปท่องเที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ใกล้ประเทศไทยและกำลังมาแรง หรือไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่สงบกว่าภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็นกระบี่และพังงา และค่าเงินบาทแข็งส่งผลกระทบต่ออำนาจการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลให้การท่องเที่ยวของภูเก็ตไม่เติบโตในทิศทางที่เพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มในปี 2563 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ทั้งนักวิชาการ และภาคเอกชน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เงินบาทที่แข็งค่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของภูเก็ตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นด้านลบต่อการท่องเที่ยว ห้องพักที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวและอำนาจซื้อไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของผู้ประกอบการโรงแรม ประมาณการว่า อัตราเข้าพักในปีหน้าไม่น่าจะหนีห่างจากปีนี้มากนัก โดยเฉลี่ยทั้งปีน่าจะไม่เกินร้อยละ 50 เนื่องจากในช่วงโลว์ซีซันนั้นถือว่าโลว์มากๆ อัตราเข้าพักแค่ร้อยละ 20 เท่านั้น

ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้เปิดเผยผลวิจัยจุดเปลี่ยนเศรษฐกิจภูเก็ตในปี 2020 ว่า จากผลการวิจัยพบสัญญาณว่าเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตกำลังจะเปลี่ยนไป โดยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตมีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยถึงร้อยละ 6.67 ต่อปี ซึ่งภาคการท่องเที่ยวคือเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนการขยายตัวดังกล่าว แต่การขยายตัวดังกล่าวเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ ปี 2562 ที่หลายภาคส่วนเริ่มสัมผัสได้ถึงภาวะชะลอตัว แต่ภาวการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน

ในขณะที่ข้อมูลจำนวนผู้โดยสารท่าอากาศยาน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปี 2561แต่ผลสำรวจล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าผู้ประกอบการภาคบริการและการท่องเที่ยวในเขตภาคใต้สะท้อนให้เห็นถึงผลประกอบการลดลงหากเทียบกับปี 2561 โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 อีกทั้งยอดเบิกเกินวงเงินของภาคธุรกิจ (O/D) ในจังหวัดภูเก็ตปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.27 โดยไตรมาสที่ 3 ยอด O/D ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 6 เทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ความต้องการแรงงานในช่วงเวลาเดียวกันลดลงกว่าร้อยละ 24.5

ตัวชี้วัดที่ก่อให้เกิดภาวะการชะงักงันทางธุรกิจของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งคาดว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจการบริการและการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อแทบทุกสกุลเงิน หากพิจารณาสกุลเงินของนักท่องเที่ยวหลักในจังหวัดภูเก็ต พบว่า การแข็งค่าของค่าเงินบาททำให้อำนาจการซื้อของนักท่องเที่ยวจีนลดลงถึงร้อยละ 21 หากเทียบกับ 5 ปีก่อน อำนาจการซื้อของนักท่องเที่ยวยุโรปลดลงถึงร้อยละ 23 สินค้าและบริการที่เคยถูกมองว่าราคาถูกสำหรับนักท่องเที่ยวเมื่อ 5 ปีก่อน ตอนนี้อาจมีมูลค่าสูงกว่าประเทศอื่น อำนาจการซื้อที่ลดลงดังกล่าวส่งผลในวงกว้างแม้กระทั่งสินค้าระดับ High-end พบว่า แม้กระทั่งราคาเฉลี่ยห้องพักของโรงแรมระดับหรูในจังหวัดภูเก็ตที่มีราคาขายมากกว่า 10,000 บาทต่อคืน มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 7.03 อีกทั้งอัตราการเข้าพักเฉลี่ยก็ลดลงถึงร้อยละ 10.16 ในไตรมาสที่ 3 เทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ดร.ชยานนท์ เผยอีกว่า การแข็งค่าขึ้นเงินบาทคงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อภาวการณ์ดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี่สมัย Disruption ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของภูเก็ต ข้อมูลล่าสุดยังคงชี้ให้เห็นว่าจังหวัดภูเก็ตยังครองแชมป์ด้านค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อคนต่อวันของผู้มาเยี่ยมเยือนเฉลี่ยวันละ 7,700 กว่าบาท แต่การกระจายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแปลงไป บทบาทของตัวกลางทางดิจิทัลนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เช่น งานวิจัยล่าสุดพบว่า ร้อยละ 64 ของนักท่องเที่ยว Gen Y ในจังหวัดภูเก็ตจองห้องพักผ่านตัวกลางดิจิทัลแบบ B2C เช่น OTA และเรายังพบว่าในปัจจุบันการจองห้องพักผ่านตัวกลางดิจิทัลแบบ C2C มีแนวโน้มสูงขึ้นในจังหวัดภูเก็ตอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งตัวกลางดิจิทัลเริ่มมีบทบาทสูงขึ้นในหมวดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ของนักท่องเที่ยว
 
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวภูเก็ตถึงจุดอิ่มตัว เนื่องจากภูเก็ตใช้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวมากว่า 3 ทศวรรษ งานวิจัยล่าสุดโดยใช้ Big data ของคณะฯ เริ่มชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดเนื่องจากมิติเรื่องความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ถูกท้าทายจากทั้งปัจจัยภายนอก (การแข่งขันจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นในเมืองรองหรือต่างประเทศ) และปัจจัยภายในซึ่งเราพบว่า ชายหาดยอดนิยมหลายแห่งของจังหวัดภูเก็ตถูกกล่าวถึงในด้านลบมากกว่าในด้านบวก


ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต้องปรับตัว โดยกลยุทธ์การกำหนดราคาสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาว่าอำนาจการซื้อของลูกค้าหลักเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด หากเทียบกับในยุครุ่งเรืองของธุรกิจธุรกิจท่องเที่ยว ด้วยทิศทางของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นผู้ประกอบการไม่ควรขึ้นราคาสินค้าหรือบริการ เพราะจะไปซ้ำเติมอำนาจการซื้อของนักท่องเที่ยว เพื่อให้สอดคล้องต่อภาวะเศรษฐกิจและทิศทางค่าเงินบาทการปรับราคาสินค้าและบริการ ในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้าอาจเป็นไปได้ยาก แต่การปรับลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจอยู่ในวิสัยที่ทำได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยมีทิศทางปรับตัวลดลง

เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปธุรกิจภาคการบริการและการท่องเที่ยวจึงจำเป็นต้องปรับตัวสู่ยุค Digital Transformation เช่น การสื่อสารแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ในปัจจุบันอยู่ในรูปแบบการเขียนและอ่านรีวิว ดังนั้น ภาพลักษณ์ของธุรกิจบนโลกดิจิทัลไม่ได้เป็นการสื่อสารด้านเดียวแบบเดิมอีกต่อไป ในหลักการที่ผู้บริโภคตัดสินใจบนข้อมูลสมบูรณ์ (Perfect information) ซึ่งขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจในโลกดิจิทัล รีวิว คอมเมนต์ จึงมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค

จากการสำรวจครั้งล่าสุด พบว่า การกลับมาเที่ยวซ้ำของจังหวัดภูเก็ตนั้นสูงถึง 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อรักษาและเพิ่มจำนวนการกลับมาเที่ยวซ้ำของนักท่องเที่ยวในยุคที่หลายเมืองในภูมิภาคนี้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม ภาครัฐและเอกชนควรยกระดับ/เพิ่มประสบการณ์การท่องเที่ยวให้แก่ผู้มาเยี่ยมเยือนจังหวัดภูเก็ต ด้วยแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมการเซลฟี่ การดึงดูดนักท่องเที่ยวแบบ mice and incentive travel ที่ส่งเสริมเสถียรภาพของการดำเนินธุรกิจในช่วง Low season หรือกิจกรรมสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น การจัดนิทรรศการระดับโลก การแสดงดนตรีระดับโลก การแข่งขันกีฬาทางน้ำระดับโลก เป็นต้น

นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้
ขณะที่ นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ระบุว่า เงินบาทที่แข็งค่าและผันผวนอยู่ในขณะนี้ ทำให้คาดเดาได้ยากมากกว่าในปีหน้าค่าเงินบาทจะไปในทิศทางใด แต่ที่แน่ๆ เงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของภูเก็ตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และส่งผลกระทบค่อนข้างที่จะรุนแรงอีกด้วย ทำให้อำนาจการจับจ่ายซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยวลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งมีผลมากต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวที่สูงมาก ทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจที่จะเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกกว่าและซัปพอร์ตงบประมาณที่กำหนดไว้มากกว่าที่จะมาภูเก็ตและประเทศไทย

จากปัญหาดังกล่าว ในส่วนของภาคเอกชนอยากให้ภาครัฐ เข้ามาสนับสนุนกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวให้มากขึ้น เช่น ฟรีวีซ่า หรือวอชเซอร์ต่างๆ ที่จะช่วยให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางได้ง่ายขึ้น แต่เน้นย้ำว่าจะต้องให้ที่ต้นทาง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ตัดสินใจเดินทางมาเมืองไทย เพราะขณะนี้เรามีคู่แข่งทางการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก มีแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่สดใหม่ และกำลังมาแรง เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น ในขณะที่ภาคเอกชนก็ได้พยายามกันอย่างเต็มที่อยู่แล้วในการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางมาภูเก็ตและประเทศไทย ทั้งออกไปโรดโชว์ส่งเสริมการขายในตลาดต่างๆ ลดราคา เพิ่มมูลค่าให้นักท่องเที่ยวรู้สึกถึงความคุ้มค่าในการมาภูเก็ต

“คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องฉีดยาแรงในการกระตุ้นการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาภูเก็ตและประเทศไทย ตั้งแต่ต้นทางไม่ใช่เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ต่างชาติใช้ในการตัดสินใจเลือกมาประเทศไทยโดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยให้เนิ่นนานไปอาจจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยมากกว่านี้” นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวและว่า

แม้ว่าอัตราเข้าพักโดยรวมของภูเก็ตในช่วงไฮซีซันนี้ เฉลี่ยแล้วในช่วงกลางๆเดือนธันวาคมจะอยู่ที่ร้อยละ 60-70 และได้ขยับเป็นร้อยละ 80-90 ในช่วงคริสต์มาส หลังจากปีใหม่เป็นต้นไปก็น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 60-70 และคาดว่าปี 2563 ไม่น่าจะแตกต่างจากปี 2562 มากนัก คือ เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 50 เนื่องจากในช่วงโลว์ซีซันที่ผ่านมาท่องเที่ยวของภูเก็ตซบเซามาก อัตราเข้าพักเฉลี่ยในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 20-30 เท่านั้น และคาดว่าในปีหน้าภูเก็ตยังมีโอกาสในการดึงนักท่องเที่ยวกลับมา แต่ขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร


นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวต่อว่า จากค่าเงินบาทแข็ง คู่แข่งเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการเองก็จะต้องปรับตัวให้เป็นไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบการนั้นจะต้องศึกษาและเข้าใจในบริบทของการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ผู้ประกอบการจะต้องปรับกลยุทธ์ในการจูงใจให้นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เข้ามาท่องเที่ยวภูเก็ตมากขึ้น เพราะในขณะนี้การท่องเที่ยวของภูเก็ตเปลี่ยนไป กลุ่มที่เคยเที่ยวแล้วกลับมาเที่ยวอีกในหลายๆ ครั้งเริ่มลดลง หรือกลุ่มที่มาพักยาวๆ มานอนอาบแดด อ่านหนังสือ อยู่ยาวๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงอายุ พลังในการเดินทางท่องเที่ยวก็เริ่มที่จะลดลง ประกอบกับนักท่องเที่ยวต้องการเปิดประสบการณ์ในการท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ซึ่งมีเพิ่มขึ้นในขณะนี้และหลายแห่งกำลังมาแรงมาก ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องปรับตัวและปรับกลยุทธ์ทางการตลาด รวมไปถึงลดต้นทุนที่สามารถลดได้โดยไม่กระทบต่อการบริการนักท่องเที่ยว

"ค่าเงินบาทที่แข็ง ได้ฉุดได้การท่องเที่ยวของภูเก็ต และทั่วประเทศชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ แต่ภูเก็ตเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ก็ยังมีจุดขายที่แข็งแรงและชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ และความพร้อมในการบริการนักท่องเที่ยว ทำให้เชื่อว่าภูเก็ตยังเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว แม้จะมีภาพลบบ้างในบางส่วน ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ภาพที่เป็นบวกของภูเก็ตในทุกๆ มิติ" นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวในที่สุด 


กำลังโหลดความคิดเห็น