xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายปกป้องดินน้ำป่านครศรีฯ-พัทลุง เข้าให้ข้อมูล-ยื่นหนังสือถึงประธาน กมธ.ที่ดินฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เครือข่ายปกป้องดินน้ำป่านครศรีฯ-พัทลุง ร่วมเข้าให้ข้อมูล พร้อมยื่นหนังสือถึงประธาน กมธ.ที่ดินฯ เพื่อเร่งจัดตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หวังให้ประชาชนได้ตื่นรู้

วันนี้ (19 ธ.ค.) จากเฟซบุ๊กของ นายเรียง สีแก้ว เครือข่ายปกป้องดิน น้ำ ป่า นครศรีฯ-พัทลุง ได้โพสต์ข้อความโดยระบุว่า... อย่างน้อยภายใต้กลไกของประชาธิปไตยในปัจจุบัน ก็ยังพอมีช่องทางให้คนเดือดร้อนได้ส่งเสียงบ้าง ต่างกับที่ผ่านมา ยุค คสช.อาจไม่มีบรรยากาศแบบนี้

วานนี้เครือข่ายปกป้องดิน น้ำ ป่า นครศรีฯ-พัทลุง พื้นที่ที่ประชาชนเดือดร้อนจากโครงการคลองผันน้ำเมืองนครฯ ได้เข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วม ณ รัฐสภา พร้อมกับรองอธิบดีกรมชลฯ และคณะ

ทางเครือข่ายชี้ให้เห็นว่า ข้อบกพร่องของการมีส่วนร่วมคือ
>เวทีที่กรมชลฯ จัดขึ้น ไม่ใช่การรับฟังความเห็น แต่เป็นการประชาสัมพันธ์โครงการ
>และแม้ถึงจะรับฟังมา ก็ไม่ได้ปรับแก้ตามข้อเสนอของชาวบ้าน ยังเป็นแบบที่กรมชลฯ ออกแบบมา
>คลองท่าดีมีความยาว 63 กิโลเมตร ซึ่งการแก้ไขทางน้ำจุดหนึ่งจุดใด ย่อมส่งผลทั้งลำนำ ดังนั้น การรับฟังความเห็น ต้องกระทำทั้งลำน้ำ ไม่ใช่แค่บางตอน
>การรับฟังความเห็น/การมีส่วนร่วม ทำไม่ครบกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือขาดกลุ่มต้นน้ำ (ท่าดีคีรีวง)
>มีการข่มขู่ คุกคาม คำสั่ง (วาจา) ไม่ให้ประชาชน ผู้นำชุมชน แสดงความเห็นต่าง
 


 
โดยทางกรมชลฯ ได้ยืนยันว่า ที่ผ่านมาได้ทำตามกระบวนทางกฎหมายอย่างครบถ้วน ทั้งการรับฟังความเห็น และการไม่ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในการเสนอของทั้งสองฝ่าย กรรมาธิการฯ มีความสนใจใน 2-3 ประเด็น

1.มีการใช้อำนาจข่มขู่ คุกคาม และกดดันประชาชน ผู้นำชุมชนไม่ให้เห็นต่างจริงหรือไม่ ทางเครือข่ายฯ บอกว่าจริง กรมชลฯ บอกไม่ทราบ

2.การรับรู้ในรายละเอียดของโครงการคลองผันน้ำ ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งทางตรง ทางอ้อม เช่น แนวเขตโครงการ ผลกระทบ ค่าเวนคืน เครือข่ายบอกว่าส่วนใหญ่ไม่รู้ กรมชลฯ บอกว่าคิดว่ารู้

3.การทำข้อตกลงเมื่อ 29 ม.ค.62 ทั้งเรื่องการชะลอโครงการ และการตั้งกรรมการร่วม 3 ฝ่าย จะยังทำได้ไหม เครือข่ายฯ ยืนยันให้ปฏิบัติตามข้อตกลง โดยเฉพาะการศึกษา และหารูปแบบอื่นๆ และเห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งเมืองนคร แต่ต้องเปลี่ยนรูปแบบในการก่อสร้าง กรมชลฯ บอกพร้อมตั้งกรรมการร่วม 3 ฝ่าย แต่การชะลอบางอย่างที่เดินหน้าแล้ว เช่น ประกวดราคาจ้าง การเวนคืน ซึ่งได้ทำขั้นตอนทางกฎหมายอาจชะลอไม่ได้ แต่อาจเปลี่ยนแบบก่อสร้างได้ และในส่วนที่ยังไม่มีการดำเนินการ สามารถตกลงกันใหม่ในกรรมการร่วม
 


 
นั่นคือสาระบางส่วนจากการประชุม และสรุปผลการให้ข้อมูล ดังนี้
1.กรรมาธิการจะนำข้อมูลทั้งหมด เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานต่อไป เช่น ตรวจสอบกระบวนการมีส่วนร่วม เชิญรัฐมนตรีมาให้ข้อมูล
2.ทางกรมชลฯ จะเร่งประสานกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อจัดประชุมตั้งกรรมการ 3 ฝ่าย
3.ทางเครือข่ายฯ ศึกษารูปแบบการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง แบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และประชาชนไม่เดือดร้อน และพาทั้งหมดลงพื้นที่เพื่อศึกษารูปแบบใหม่ร่วมกัน

พร้อมกันนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ให้จัดตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนได้ตื่นรู้จากการดำเนินโครงการ

นี่ไม่ใช่ความสำเร็จ แต่เป็นเพียงการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในการปกป้องทรัพยากร และวิถีชีวิตของผู้คน ตั้งแต่ลานสกาถึงอ่าวปากพนัง

ทางเครือข่ายฯ ขอขอบคุณมวลมิตรที่ประจำอยู่ที่รัฐสภา ที่คอยดูแลอำนวยความสะดวกให้ทุกท่านครับ #ไม่เปลี่ยนแบบเราไม่ยอม
 













กำลังโหลดความคิดเห็น