xs
xsm
sm
md
lg

"ที่ปรึกษา กป.อพช.ใต้" จี้นักการเมือง-ข้าราชการอย่าลอยตัว โยน 5 ข้อเรือประมงพาณิชย์ทำลายล้างทะเลให้ช่วยสรุปเป็นบทเรียน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “สมบูรณ์ คำแหง” ยังเดินหน้าแสดงความเห็นต่อการชุมนุมหน้า ก.เกษตรฯ ของกลุ่มเรือประมงพาณิชย์ อัด “เป็นนักการเมือง เป็นข้าราชการ อย่าลอยตัว” โยน 5 ข้อการทำลายล้างทรัพยากรทะเลทำไมไม่เคยสรุปบทเรียนกัน
 
วันนี้ (18 ธ.ค.) สมบูรณ์ คำแหง ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช่ชื่อว่า Somboon Khamhang แสดงความคิดเห็นถึงการชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของสมาคมเรือประมงพาณิชย์จาก 22 จังหวัด เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอนุมัติเงินงบประมาณหลายหมื่นล้านบาทไปซื้อเรือประมงผิดกฎหมายความว่า
 
“เป็นนักการเมือง เป็นข้าราชการ อย่าลอยตัว” โปรดใช้โอกาสนี้ปรับปรุงระบบคิดการบริหารจัดการทรัพยากรทะเล และการประมงไทยจะดีกว่ามั้ยครับ (บอกตรงๆ ว่าทำใจยอมรับยากกับข้อเรียกร้องของสมาคมประมงแห่งประเทศไทย)
 
อย่างไรก็ตาม ผมยอมรับในสิทธิของพี่น้องประชาชน หรือใครก็แล้วแต่ที่รวมกลุ่ม รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องถึงความทุกข์ร้อนของตนเอง และร่วมกันเสนอทางออกของปัญหานั้นกับรัฐบาล หรือฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจแก้ไข และผมก็เชื่อว่าจำนวนหนึ่งของคนที่ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับสมาคมประมงแห่งประเทศไทยเมื่อวาน คือวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ที่หน้ากระทรวงเกษตรฯ คือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจริง
 
ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า จำนวนไม่น้อยของคนเหล่านั้นก็ถูกออกปากจ้างวานมาแบบไม่รู้ว่าจะให้ทำอะไร เพื่อใคร และอย่างไร แค่ไหน?
 
แต่เอาเถอะครับ! โดยภาพรวมแล้วผมให้ความเคารพกับพวกท่านทุกคนก็แล้วกัน แต่สิ่งที่ทำใจยอมรับข้อเสนอ 11 ข้อนั้น ผมค่อนข้างทำใจยอมรับลำบาก แม้อาจจะมีบางข้อที่พอเข้าใจได้บ้าง แต่ถือว่าภาพรวมของข้อเรียกร้องเหล่านั้น ไม่ได้มีการสรุปบทเรียนถึงกระบวนการและวิธีการใช้ทรัพยากรทางทะเลของสมาคมประมงแห่งประเทศไทยแต่อย่างใดเลย กล่าวคือ
 .
1. วันนี้เรายอมรับกันแล้วหรือยังว่า เราใช้ทะเลกันอย่างหนักจนเกินกำลังผลิตของธรรมชาติ คือเรามีเรือทำประมงกันมากจนไร้การควบคุม (แม้จะมีกฎหมายคุมมานาน แต่ก็ถูกละเลยอย่างไร้หลักการ)
 .
2. มีการลักลอบใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย และเครื่องมือทำลายล้างทรัพยากรกันอย่างเปิดเผย (จับสัตว์น้ำตัวเล็กไม่ได้ขนาด) โดยไม่สนใจสำนึกรักษาทะเลอยู่จริงในกลุ่มชาวประมงบางกลุ่ม (เท่านั้น) แต่ก็มากพอที่จะทำให้ทะเลเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงไม่กี่ปี จนนำมาสู่การถูกออกใบเหลืองของสหภาพยุโรป
 
3. หลายรัฐบาลที่ผ่านมาแก้ผ้าเอาหน้ารอดมาตลอดในเรื่องการแก้ไขปัญหาการประมง ซึ่งไม่เคยแก้ไขถูกจุด และมักจะหมดงบประมาณไปกับโครงการที่ลูบหน้าปะจมูก เพื่อให้ผ่านพ้นข้อครหาทางการเมืองไปเท่านั้น โดยไม่สนใจที่จะบริหารจัดการทะเล และการประมงอย่างจริงจัง
 
4. เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะกรมประมง มักวางตัวลอยลมบนอากาศ และปล่อยให้หลักการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล กลายเป็นเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างชาวประมงด้วยกัน จนทำให้เกิดคู่ขัดแย้งใหญ่ระหว่างชาวประมงพื้นบ้าน กับชาวประมงเรือใหญ่ (พาณิชย์) หรือพูดให้ง่ายขึ้นคือ “ถ้ามันตีกันกูอยู่ได้”
 
5. การปฏิรูประบบการประมงภายใต้ข้อบังคับของสหภาพยุโรป หรือ IUU. เป็นยาขมสำหรับผู้ทำผิดกฎหมาย และผู้ที่ละเมิดสิทธิแรงงงานประมงอย่างร้ายแรง จนนำมาซึ่งความสูญเสียวิธีการทำประมงแบบเดิมๆ ซึ่งแทนที่จะยอมรับปรับตัวกับข้อผิดพลาดบางอย่าง แต่กลับไม่สนใจและอยากจะกลับไปใช้วิธีการแบบก่อนเก่าแบบไร้ความรับผิดชอบ
 
ทางออกต่อเรื่องนี้จะต้องตั้งสติ และยึดมั่นกับหลักการสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้มีความมั่นคง ยั่งยืนอย่างแท้จริง และคำนึงถึงการดำรงอยู่ในวิถีการประมงของชาวประมงทุกระดับ บนแนวคิดที่ตั้งอยู่บนการเคารพรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน ดังคำที่ว่า
. 
“ถ้าเรารักษาทะเล ทะเลก็จะรักษาเรา”
 .
เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องของชาวประมงเพียงฝ่ายเดียวแล้วครับ ทั้งประชาชนทั่วไป ผู้บริโภคอาหารทะเล ข้าราชการ นักการเมือง รัฐบาล หรือภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ควรจะต้องใช้โอกาสนี้ยกระดับปรับเปลี่ยนแนววิธีของรัฐต่อการขับเคลื่อนนโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและการประมงให้ดียิ่งขึ้นน่าจะดีกว่านะครับ
  
 

 


กำลังโหลดความคิดเห็น