xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจการแผ่นดินนำคณะลุยสางปัญหาขยะล้นเกาะหลีเป๊ะ-บุกรุกที่สาธารณะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
สตูล - ผู้ตรวจการแผ่นดินนำคณะลุยสางปัญหาขยะล้นเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล และการบุกรุกที่สาธารณะ ปิดกั้นลำรางทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนเกาะ สั่งกำชับหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน

วันนี้ (17 ธ.ค.) นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย พ.ต.อ.วีรวิทย์ จันทร์จำเริญ นางศรีสุดา รักษ์เผ่า ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ท.เทพจิต วีณะคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล ตรวจสอบกรณีปัญหาการบริหารจัดการขยะบนเกาะหลีเป๊ะ รวมถึงปัญหาการบุกรุกที่ดินอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และการรุกล้ำปิดกั้นลำรางทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนเกาะ กำชับหน่วยงานทุกภาคส่วนเร่งแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วต่อไป

นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ จ.สตูล ครั้งนี้ เป็นการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาขยะ และข้อพิพาทที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ พร้อมประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 17-18 ธ.ค.นี้ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหา 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ปัญหาการบริหารจัดการขยะบนเกาะหลีเป๊ะ 2.ปัญหาการบุกรุกที่ดินอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และการรุกล้ำปิดกั้นลำรางทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนเกาะ และ 3.ปัญหาการจัดทำผังเมืองไม่สอดคล้องต่อสภาพปัจจุบัน
 


 
โดยวันนี้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพปัญหา และติดตามความคืบหน้าใน 2 ประเด็นแรก คือ ปัญหาการจัดการขยะบนเกาะ ซึ่งได้รับฟังสภาพปัญหาปริมาณขยะ และผลกระทบบนเกาะหลีเป๊ะ และตรวจสอบพื้นที่โรงคัดแยก และจัดการขยะของ อบต.เกาะสาหร่าย พบว่า อบต.เกาะสาหร่าย ได้บรรจุแผนโครงการบริหารจัดการขยะดังกล่าว ดำเนินการในปี 2561-2562 แต่ด้วยเกาะหลีเป๊ะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวปีละกว่า 3 แสนคน ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 300 ตันต่อเดือน

ซึ่งที่ผ่านมา บริหารจัดการขยะ โดยการนำขยะมาคัดแยกที่โรงงานคัดแยกขยะของเอกชน บนเนื้อที่ จำนวน 6 ไร่ จากนั้นส่งลำเลียงขยะทางเรือไปกำจัดบนฝั่ง แต่ต่อมา อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อโรงงานขยะดังกล่าว และศาลมีคำสั่งให้โรงงานคืนพื้นที่ให้อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ทำให้การบริหารจัดการขยะในพื้นที่ขัดข้อง เนื่องจากไม่มีพื้นที่เป็นโรงงานคัดแยกขยะ
 


 
ผู้ตรวจการแผ่นดิน เล็งเห็นถึงปัญหาขยะล้นเกาะที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมบนเกาะ จึงเร่งประสานอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เพื่อขออนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดคัดแยกขยะ ส่งไปกำจัดเพื่อลดปริมาณขยะบนเกาะต่อไป ซึ่งปัจจุบัน โครงการบริหารจัดการขยะบนเกาะหลีเป๊ะ อยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงโครงการตามข้อเสนอแนะของส่วนจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล และส่วนพัฒนาอุทยานแห่งชาติ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตรวจสอบ และมีข้อเสนอแนะให้แก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติม พร้อมแจ้งให้ อบต.เกาะสาหร่าย ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และขณะนี้ อบต.เกาะสาหร่าย กำลังเร่งขออนุญาตให้ใช้พื้นที่เป็นจุดคัดแยกขยะต่อไปแล้ว

สำหรับประเด็นที่ 2 ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงบริเวณพิพาท กรณีเอกชนทำการปิดกั้นลำรางสาธารณะ โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่ของผู้ประกอบการเอง ซึ่งมีการก่อสร้างรีสอร์ตขวางทางเดินน้ำธรรมชาติ และไม่อนุญาตให้ขุดทำท่อระบายน้ำออกสู่ทะเล เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเรื่องขอให้กรมที่ดินแปลภาพถ่ายทางอากาศ ประกอบการพิจารณายืนยันพิกัดเขตพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมโดยเร็วต่อไป

ซึ่งในวันนี้ได้ลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ร่วมกับ นายทวี ศรีอำภรณ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย ผู้แทนสำนักงานที่ดินจังหวัดสตูล สำนักโยธาธิการและผังเมือง และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสตูล
 


 
โดยจะนำข้อมูลผลการติดตามความคืบหน้า และสภาพปัญหาในวันนี้ ประชุมหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล หรือผู้แทน ณ ศาลากลางจังหวัดสตูลในวันพรุ่งนี้ (18 ธ.ค.) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กอ.รมน.จังหวัด นายอำเภอเมือง สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อุทยานแห่งชาติตะรุเตา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย เพื่อผลักดันทุกภาคส่วนร่วมมือแก้ไขปัญหาบนเกาะหลีเป๊ะแบบบูรณาการทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจัดการขยะ ปัญหาการจัดทำผังเมือง และที่ดิน ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมในโครงการ “พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนบนพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ (หลีเป๊ะ โมเดล)” ตั้งเป้าให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระยะยาว รวมถึงเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกันในพื้นที่เกาะท่องเที่ยวอื่นๆ ต่อไป
 




กำลังโหลดความคิดเห็น