xs
xsm
sm
md
lg

ส่งท้ายปีเก่าด้วย “เรื่องเก่าๆ” ในวิกฤตไฟใต้ระลอกใหม่ช่วง 16 ปีที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ไม่อยากให้พูดถึง?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  /  โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
 


 
มีเสียงแสดงความไม่สบอารมณ์จากเจ้าหน้าที่บางคนและบางฝ่ายของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถึงคอลัมน์ “จุดคบไฟใต้” ว่าผู้เขียนคอลัมน์นี้เขียนแต่เรื่องเก่าๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขียนแต่เรื่อง ขบวนการบีอาร์เอ็น เหมือนกับเป็นการยกย่องโจร ไม่ให้เครดิตเจ้าหน้าที่รัฐ เขียนแบบไม่รู้จักเบื่อกับเรื่องราวของ “ไฟใต้” และความเคลื่อนไหวเพื่อ “แบ่งแยกดินแดน” ฯลฯ
 
ดังนั้น จึงถือโอกาสช่วงส่งท้ายปีเก่า 2562 ที่กำลังจะผ่านพ้นเขียนบอกเล่าว่า ที่จำเป็นต้องเขียนแต่เรื่องเก่าของ “ไฟใต้ระลอกใหม่” ก็เป็นเพราะตลอด 16 ปีที่กำลังจะผ่านไปในอีกราว 2 สัปดาห์ที่จะมาถึงนั้น หน่วยงานความมั่นคงที่ถูกฟื้นตั้งคืนขึ้นมาในหลากชื่อหลายนาม หรือนับตั้งแต่ “กอ.สสส.จชต.” เรื่อยมาจนถึง “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ในปัจจุบัน ล้วนยังไม่ได้แก้ปัญหาเก่าๆ ที่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อย่างได้ผลแม้แต่เรื่องเดียว
 
ดังนั้น ถ้าไม่นำเรื่องเก่าๆ มาเขียน นั่นก็เหมือนกับการ “ก้าวข้ามปัญหา” โดยที่ปัญหาที่กลายเป็นวิกฤตใหญ่ของบ้านเมืองเหล่านั้นยังอยู่ แถมมีแต่จะเป็น “เสี้ยนหนาม” ที่แหลมคมขึ้นเรื่อยๆ ที่คอยทิ่มแทงผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้และคนไทยทั้งชาติ
 
ความจริงแล้วที่เขียนเรื่องไฟใต้มาต่อเนื่องแบบย้ำๆ ก็เพราะข้อมูลที่มีสะสมจากการปฏิบัติหน้าที่ “นักหนังสือพิมพ์” ในพื้นที่ภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2517 จึงทำให้รู้ว่าเรื่องราวไฟใต้ทั้งหมดเกิดขึ้นมาจากฝีมือ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” เป็นผู้กระทำขึ้นในหลากชื่อหลายนามเช่นกัน มาถึงปัจจุบันขบวนการที่จัดว่าทั้งเข้มแข็ง ซึ่งยังคงเข่นฆ่าทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยพยายามที่จะก่อการร้ายอยู่ในทุกๆ วันนี้ก็คือ “บีอาร์เอ็น”
 
เมื่อบีอาร์เอ็นเป็นผู้ร้าย เป็นผู้ก่อเหตุ เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มุ่งร้ายกับแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหลายครั้งหลายคราก็ลามออกนอกพื้นที่ แม้กระทั่งเหมืองศูนย์กลางอำนาจรัฐอย่างกรุงเทพฯ ก็ไม่เว้น ถ้าไม่เขียนถึงและไม่ตีแผ่ความชั่วร้ายของบีอาร์เอ็นแล้ว ผู้เขียนก็ไม่รู้ว่าจะทำอาชีพสื่อมวลชนต่อไปเพื่อทำ “โมกขศักดิ์หัก” ไปหาอะไรกัน
 
เนื่องเพราะหนึ่งในความหมายที่สำคัญของนักหนังสือพิมพ์ก็คือ การเปิดโปงหรือขุดคุ้ยสิ่งชั่วร้ายแล้วนำความจริงมาตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้ หรือจะให้เขียนว่าเรื่องราวของความชั่วร้ายทั้งหลายทั้งปวงเป็นเรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” เพื่อ “หลอกลวง” คนทั้งแผ่นดิน แบบเพื่อเอาใจหน่วยงานความมั่นคงและไม่ให้ระคายหูท่านผู้นำประเทศ
 .
การกระทำเช่นนั้นต่างหากที่ควรถือว่าเป็น “ตราปาบ” ที่ยิ่งใหญ่ที่คนที่อยู่ในแวดวงวิชาชีพด้านการสื่อสารมวลชนไม่สมควรกระทำ
 .
เรื่องเก่าๆ ที่เกิดขึ้น และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังแก้ไขไม่ได้มีมากมายก่ายกองเสียเหลือเกิน ตัวอย่างเรื่องแรกคือวันนี้ “โจรใต้” หรือจะเรียกว่า “แนวร่วม” หรือ “จูแว” ที่เป็นสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในทุกอำเภอของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
โดยในแต่ละวัน แต่ละเดือน หรือแต่ละปีที่ผ่านมา ยังคงมีผู้คนทั้งที่เป็น “ผู้บริสุทธิ์” และเป็น “ผู้ช่วยเหลือประเทศชาติ” ที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แถมทรัพย์สินก็สูญเสียไปมิใช่น้อย บางส่วนยังจำใจต้องอพยพออกจากพื้นที่เพื่อหนีความเลวร้ายที่เกิดขึ้น จนเวลานี้ใกล้สิ้นปี 2562 มี “ไทยพุทธ” เหลืออยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เกิน 60,000 คน จากตัวเลขที่เคยมีอยู่สูงถึงกว่า 200,000 คนในปี 2547
 
โดยเฉพาะกับผู้คนในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ซึ่งเวลานี้ได้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วหันมาใช้ ม.21 แทน เพื่อไม่ต้องการเอาผิดกับแนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็น แต่แล้วสุดท้ายก็ไม่เคยมีอะไรที่ดีขึ้น โดยทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลาดังกล่าวยังเป็นแหล่ง “ซ่องสุม” เพื่อรอบ่มฟัก “ปฏิบัติการ” อย่างเต็มรูปแบบ
 
ตัวอย่างชัดได้แก่เหตุการณ์ “ปล้นทองคำ” จำนวนมากไปจากร้านทองกลางตลาดแบบชนิดที่ต้องเรียกขานกันว่า “เย้ยฟ้าท้า กอ.รมน.” ที่เกิดขึ้นที่ อ.นาทวี ซึ่งเป็น 1 ใน 4 อำเภอของ จ.สงขลาดังกล่าว นี่ถือเป็นเรื่องเก่าๆ เป็นปัญหาเก่าๆ ที่ยังแก้อะไรไม่ได้เลยแม้แต่น้อย
 
ล่าสุดคือปฏิบัติการ “ลอบวางระเบิดตำรวจชุด รปภ.ครู” ที่ อ.เทพา จ.สงขลา จนหวุดหวิดจะต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่ทั้งคันรถ แถมก่อนหน้านั้น ก็มีการปฏิบัติการรายวันวนเวียนในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยมีเหตุการณ์สะเทือนขวัญแห่งปีคือ กรณีการสูญเสีย “ชรบ.15 ศพ” ที่ ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา
 
ที่ต้องเตือนคนในพื้นที่ไว้ ณ ที่นี้ด้วยคือ วันนี้ในหลายพื้นที่ที่มีปฏิบัติการทางทหารของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในเรื่องการเข้าควบคุมพื้นที่ จำกัดเสรีภาพของแนวร่วม ซึ่งแน่นอนถือเป็น “ยุทธวิธี” ที่จำเป็น แต่วิธีการที่ใช้เจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยหรือหลายชุดเข้าปฏิบัติการพร้อมๆ กัน สิ่งนี้ผลเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่ที่ทราบจาก “สายข่าว” พบว่า การปิดล้อมและตรวจค้นได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ “ชุมชนมุสลิม” ในพื้นที่ในระดับที่สูงมาก
 .
สูงมากพอที่จะถูกใช้ให้เป็น “เงื่อนไข” ให้แนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็นถือโอกาสโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเอาใจ “มวลชน” และเพื่อ “สร้างคะแนนนิยม” ให้แก่ขบวนการด้วย
 .
การปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมายมีความจำเป็นก็จริง แต่ “การข่าวต้องชัด” ต้องได้หลักฐานชัด ได้ตัวคนร้าย และการปิดล้อมตรวจค้นใน “ยามวิกาล” ถ้าเป้าหมายไม่ชัด รอให้สว่างก่อนแล้วเข้าปฏิบัติการก็ไม่สายมิใช่หรือ อย่างกรณีการปิดล้อมตรวจค้นบ้านของ “นักเคลื่อนไหว” ในพื้นที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ทำแล้วได้อะไร เสียอะไร มีการประเมินหรือไม่
 
เพราะมีเสียงสะท้อนจากพวกเดียวกันว่า ฝ่ายหนึ่งทำเรื่องมวลชนแทบตาย อีกฝ่ายหนึ่งทำลายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง นี่ก็เป็นเรื่องเก่าๆ ที่ผ่านมาแล้วกว่า 15 ปีของไฟใต้ระลอกใหม่ แต่หน่วยงานความมั่นคงก็ยังคง “ดักดาน” อยู่กับรูปแบบเดิมๆ มิเสื่อมคลาย
 
จากการ “ถอดรหัส” จากเอกสารที่เจ้าหน้าที่ยึดได้ ตอนหนึ่งมีข้อความให้ปฏิบัติการแบบ “ไฟดวงใหญ่” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่เคยอยู่ในขบวนการแบ่งแยกดินแดนเชื่อว่า เป็นการเตรียมก่อวินาศกรรมในเมืองใหญ่ๆ และจากข่าวสารเชื่อว่าจะมีการก่อวินาศกรรมนอกพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาที และสะบ้าย้อย ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา
 .
นี่ก็เป็นเรื่องเก่าๆ ที่ยังจะเกิดขึ้นและยังแก้ไม่ได้เช่นกัน
 .
ก็ได้แต่หวังว่า “ดุลเลาะ แวมะนอ” ผู้บงการใหญ่ของขบวนการบีอาร์เอ็นจะช่วย “เว้นวรรค” อย่าให้แนวร่วมก่อเหตุร้ายในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่เลย อย่างน้อยก็เพื่อทำให้ผู้คนในพื้นที่ได้มีโอกาสเฉลิมฉลองในห้วงเวลาสำคัญๆ กับเขาแบบสบายใจได้บ้าง หลังจากที่ “จมปลักดักดาน” กับสถานการณ์ร้ายๆ มาตลอดทั้งปี
 
กรณีการบังคับให้ผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลิกใช้ “ถังแก๊สเหล็ก” แล้วให้หันไปใช้ “ถังแก๊สคอมโพสิต” เรื่องนี้ผ่านไปแล้ว 3-4 ปีก็ยังทำไม่สำเร็จ เพราะแค่การพูดคุยกับ “นายทุน” ที่เป็น “คนไทย” ด้วยกันในฐานะผู้จัดจำหน่ายเพียง 3 รายยัง “ล้มเหลว” ไม่เป็นท่า เรื่องนี้ถือเป็นผลประโยชน์สำคัญของชาติยังทำไม่สำเร็จ แล้วจะให้คนในพื้นที่เชื่อมั่นในอำนาจรัฐได้อย่างไร
 .
แล้วจะให้เชื่อมั่นว่าการไปคุยกับ “ประเทศมาเลเซีย” เพื่อขอร้องไม่ให้ขบวนการบีอาร์เอ็นใช้แผ่นดินของเขาเป็นฐานที่มั่นในการส่งผ่านการก่อการร้ายสู่ประเทศไทยจะประสบผลสำเร็จได้อย่างไรเล่า
 .
แม้แต่เรื่องที่ก็ต้องถือว่าจะเกิดประโยชน์มากกับบ้านเมืองคือ มาตรการ 2 แชะอัตลักษณ์” เพื่อการควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งช่วงขึ้นต้นเป็น “ลำไม้ไผ่” แต่สุดท้ายก็ “บ้องกัญชา” ไม่เป็นท่าไปอีก เพราะไม่สามารถบังคับใช้ได้ตามที่กำหนด
 .
ทั้ง 2 เรื่องข้างต้นนี้ก็เป็นเรื่องเก่าๆ อีกแหละที่ยังทำไม่สำเร็จ ซี่งสมควรต้องนำมากล่าวถึงอยู่เรื่อยๆ เพราะเป็นเรื่องที่ถ้าทำแล้วได้เป็นประโยชน์กับการ “ดับไฟใต้” อย่างแน่นอน
 .
เช่นเดียวกับเรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขบวนการค้ายาเสพติด ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ซึ่งเอาแค่ 2 เรื่องที่ทำกันมาตั้งแต่ครั้งที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 จนผ่านมาถึง “แม่ทัพอาร์ท-พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช” และส่งไม้ต่อให้ “แม่ทัพเดฟ-พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์” ที่เอาจริงเอาจังถึงขนาดให้น้ำหนักในการแก้ปัญหายาเสพติดมากกว่าขบวนการก่อการร้ายบีอาร์เอ็นด้วยซ้ำ
 
แต่สุดท้าย ณ วันนี้กวาดจับและกวาดล้างกันอย่างไร ทำไม “ยาเสพติด” ยังกระจายเกลื่อนเต็มบ้านเมือง พื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้เวลานี้ยังเต็มไปหมดทั้ง “นักค้ายาเสพติด” และ “ผู้ติดยาเสพติด” หรืออาจจะเป็นเพราะการแก้ปัญหายาเสพติดด้วยวิธีจับกุมและนำผู้เสพเข้ากระบวนการบำบัดเป็นการแก้ปัญหาที่ “ปลายน้ำ” ในขณะที่ปัญหา “ต้นน้ำ” และ “กลางน้ำ” ยังไม่ได้รับการแก้ไข
 
หรืออย่างเรื่อง “น้ำมันเถื่อน” ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซียด้าน จ.นราธิวาส จ.สงขลา และ จ.สตูล ถึงวันนี้หน่วยงานที่มีผลงานมีเพียงหน่วยของ “ร.อ.คนหนึ่ง” ที่รับผิดชอบแนวชายแดนด้าน อ.สะเดา จ.สงขลาเท่านั้นที่ยังจับผู้ค้าน้ำมันเถื่อนเพื่อให้เห็นเป็นประจักษ์ว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีผลงานในเรื่องของการแก้ปัญหาภัยแทรกซ้อนอยู่
 
แต่ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการในแนวชายแดน จ.นราธิวาส ที่ อ.สุไหงโก-ลก และที่ อ.ตากใบ รวมถึงที่ อ.ควนโดน และ อ.เมือง จ.สตูล กลับเงียบเป็นเป่าสาก ทั้งที่ทั้ง 2 จังหวัดชายแดนของภาคใต้นี้มีน้ำมันเถื่อนทะลักเข้าไปขายกันจนกลายเป็น “สินค้าโอทอป” เต็มบ้านเต็มเมืองไปแล้ว
 .
เหล่านี้นี่ก็เป็นเรื่องเก่าๆ อีกเรื่องหนึ่งใช่หรือไม่
 .
ล่าสุด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีการหยิบจับเรื่อง “คน 2 สัญชาติ” ขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของภัยความมั่นคงที่สำคัญยิ่ง เรื่องของคน 2 สัญญาติก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผ่านมาแล้ว “หลายแม่ทัพ” ที่หยิบจับเรื่องนี้ขึ้นมาประโคมหวังนำไปสู่การแก้ปัญหา แต่สุดท้ายปัญหานี้ก็ “ถูกทิ้งคาราคาซังไว้” กลายเป็นปัญหาเก่าๆ ที่ยังไม่เคยทำได้สำเร็จนั่นเอง
 
เช่นเดียวกับเรื่อง “การพูดคุยสันติสุข” จากเรื่องที่เคยใหม่ๆ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้คนทั้งสังคมหลายคนเคยวาดหวังว่าจะนำไปสู่การสร้าง “สันติสุข” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริง หลายคนเคยตื่นเต้นเมื่อมีการ “เจรจาสันติภาพ” ช่วงก่อนปี 2557 โดยการสร้างภาพเสียใหญ่โตและเป็นข่าวดังไปทั้งโลกในสมัยที่ “รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่มี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่กลายเป็นนักโทษหนีคดีเร่ร่อนอยู่ต่างประเทศคอยเป็นพี่เลี้ยง
 
หรือว่าในวันนี้ “คณะพูดคุยฝ่ายรัฐไทย” เพิ่งจะเปลี่ยนเป็น “กลุ่มคนใหม่ๆ” ที่กำลังจะไปพูดคุยกับ “กลุ่มคนเก่าๆ” อันถูกอุปโลกน์ให้เป็นตัวแทนของขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ โดยเฉพาะกับขบวนการบีอาร์เอ็นที่มี “มาเลเซีย” เป็นผู้สั่งการ เรื่องราวเหล่านี้ควรจะถือเป็นเรื่องใหม่ๆ กระนั้นหรือ
 .
แต่สุดท้ายแล้ว “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” ที่ถูก “ลากกันไป ถูกันมา” กว่า 8 ปี เวลานี้การเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็กลายเป็นเรื่องเก่าๆ ไปอีกแล้วใช่หรือไม่
 .
อย่างไรก็ตาม เรื่องใหม่ๆ ใช่ว่าจะไม่มีเสียทีเดียว แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และไม่ใช่เรื่องใหม่ที่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ควรจะดีใจ เพราะเป็นเรื่องใหม่ๆ ที่ “ซ้ำเติม” สถานการณ์ความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องใหม่ของขบวนการบีอาร์เอ็นที่เปิดเกมรุก “ทางการเมือง” ด้วยการส่ง “ตัวแทน” เข้าไปเกาะกุมกลไกอยู่ในเวทีสหประชาชาติแล้ว
 
ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เป็นผลต่อการเจรจาต่อรองบน “โต๊ะพูดคุยสันติสุข” อย่างแน่นอน ล่าสุด ก็ต้องจับตามองว่า “จดหมายรัก” จาก “คัสตูรี มะโกตา” ผู้แทนขบวนการพูโลที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิง “ข่มขู่” ทั้งในเรื่องของ “กองกำลัง” และเรื่องของ “ชาอีด” นั่นจะมีผลอย่างไรต่อไป
 
ตามด้วย “จดหมายรัก” จากฝ่ายบีอาร์เอ็นที่ฉกฉวยโอกาส “ตีเหล็กกำลังร้อน” จากการเคลื่อนไหวของตัวแทนเครือข่ายชาวไทยพุทธในเรื่องการต่อต้านการสร้างมัสยิดที่ จ.มุกดาหาร และการส่ง “จดหมายรัก” ของแกนนำ “กลุ่มไทยพุทธ” เองถึง “จุฬาราชมนตรี” ซึ่งเป็นการออกมาเคลื่อนไหวอย่างสอดคล้องกัน
 .
เหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ๆ ที่ต้องจับตามมองใกล้ชิดกันต่อไป เพราะมีโอกาสที่จะขยาย “ความขัดแย้ง” จากเรื่องราวของ “สงครามแบ่งแยกดินแดน” ไปสู่เรื่องของ “สงครามศาสนา” ได้อย่างรวดเร็ว
 .
นอกจากนี้ ยังต้องควรต้องจับตามองใกล้ชิดต่อความเคลื่อนไหวขององค์กรสากลที่ชื่อ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” ที่ปักหลักเคลื่อนไหวอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงพื้นที่เมืองชายแดนในประเทศมาเลเซียว่า “องค์กรฝรั่งอั้งม้อ” จะเดินเกมช่วยเหลือใครระหว่าง “รัฐไทย” กับ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ที่กำลังเป็นปัญหาลุกลามข้ามชาติอยู่
 
เพราะถ้าติดตามตรวจสอบให้ดีจะพบว่า ประเทศไหนก็ตามที่มีเรื่องแบ่งแยกดินแดน และมีองค์กรเหล่านี้เข้าไปวุ่นวายด้วยแล้ว สุดท้ายจะลงเอยในรูปแบบเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วบนโลกใบนี้หรือไม่ อาทิ กรณีของ “ติมอร์” หรือ “อาเจะห์” หรือ “มินดาเนา” อย่างไรเสียเรื่องใหม่ๆ แบบนี้น่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนอยู่ในตัวเอง
 
ยังมีเรื่องเก่าๆ อีกมากมายที่ยังต้องเขียนถึงต่อมาอีกพะเรอเกวียน เพราะยังมีปัญหาเก่าๆ มากมายก่ายกองที่ “ยังไม่ได้รับการแก้ไข” แต่มีเพียงความพยายามที่จะ “ก้าวข้าม” หรือ “ไม่พยายามที่จะกล่าวถึง” เท่านั้น ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้คนได้ลืมๆ กันไป แต่สุดท้ายก็ทำไม่สำเร็จ เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันนี้ล้วนมาจากเรื่องเก่าๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไขทั้งนั้น
 .
อยากเขียนอยู่นะครับสำหรับเรื่องใหม่ๆ บนแผ่นดินปลายด้ามขวาน โดยเฉพาะถ้าเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องที่คนในพื้นที่ได้ประโยชน์ หรือเป็นเรื่องที่จะทำให้ “ไฟใต้มอดดับ” ลงได้ในที่สุด แต่มองไปไม่ว่าจะหนทางไหนๆ ก็ยังแทบหาไม่เจอ
 .
หรือว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ช่วยบอกมาสักเรื่องสิว่าในส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่นี้ มีอะไรที่เป็น “เรื่องใหม่ๆ” พอที่จะบอกว่านี่คือ “ของขวัญปีใหม่” สำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือผู้คนทั้งสังคมไทยได้ชื่นใจกันบ้าง
 


กำลังโหลดความคิดเห็น