ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “ทรงวุฒิ พัฒแก้ว” นายกสมาคมศิษย์เก่า มวล. โพสต์เฟซบุ๊กเชื่อหากถูกฟ้องคดีใหม่เพิ่มอีก ห่วงมหาวิทยาลัยจะตกเป็นจำเลยของสังคมเสียเอง และจะตอบคำถามข้อสงสัยได้ยากขึ้น
วันนี้ (7 ธ.ค.) จากเฟซบุ๊กของ นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว นายกสมาคมศิษย์เก่า มวล. ได้โพสต์ข้อความโดยระบุว่า แม้ศาลยกฟ้องก็อุทธรณ์ได้ และฟ้องคดีใหม่เพิ่มได้ แต่จะตอบคำถามทางสังคมได้ยากขึ้น
ในฐานะของคนที่ออกมาโพสต์ และร้องเรียนเรื่องการตัดไม้ และขุดดินในมหาวิทยาลัย จนนำไปสู่การฟ้องคดีที่มีโทษหนักถึง 3 คดี รวมทั้งการสอบวินัยร้ายแรงของผม จากการส่งฟ้องคดีในวันที่ 5 ก.ค.62 จนมาวันที่ 4 ธ.ค.62 หลังจากโจทก์แถลงต่อศาลว่า “มหาวิทยาลัยไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากใช้กระบวนทางศาลเท่านั้น”
ขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนมูลฟ้อง และเข้าสู่กระบวนทางศาล จนนำไปสู่ “การยกฟ้อง” แทนที่จะประนีประนอมยอมความ และไปใช้กระบวนการของสภามหาวิทยาลัยในการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งอยู่ในกระบวนการเรียกพยาน
แม้ความจริงเรื่องนี้ ในประเด็นนี้ โจทก์อาจรู้สึกได้ว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาท แต่การนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาฟ้องเพื่อเอาผิดต่อจำเลย เพื่อให้ได้รับโทษหนักขึ้นหรือไม่นั้น หลักทางกฎหมายต้องพิจารณาองค์ประกอบความผิดของมาตรานี้ ซึ่งนักกฎหมาย หรือบุคคลทั่วไปย่อมทราบว่า ต้องเป็นความเสียหายต่อประชาชน ส่วนความเสียหายต่อบุคคล อาจจะเข้าข่ายแค่หมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นเท่านั้น
แม้กฎหมายจะเขียนไว้อย่างรัดกุม จนนำมาสู่การปรับปรุงกฎหมายใหม่ เมื่อปี 60 เพื่อการป้องกันนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาใช้ในการฟ้อง “ปิดปาก” แต่ก็ยังมีการใช้ และตีความอีกมาก ผมค้นฎีกา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่พบ (หรืออาจค้นไม่เป็น ก็เป็นได้) นั่นหมายถึง การนำกฎหมายนี้มาใช้ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง และตีความเกินกฎหมายกำหนดก็ยังมีอยู่
ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยเองอาจจะใช้สิทธิในการอุทธรณ์คดีนี้ก็เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ ส่วนการฟ้องในเรื่องเดียวกันกระทำไม่ได้แล้ว ถือเป็นฟ้องซ้อน ส่วนการฟ้องคดีใหม่ก็สามารถกระทำได้เช่นเดียวกัน ทั้งการอุทธรณ์ และการฟ้องคดีใหม่ ในความเห็นของผม และน่าจะเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยว่า “อุทธรณ์ได้ ฟ้องได้ แต่ตอบคำถามทางสังคมได้ยากขึ้น”
เพราะประเด็นที่บานปลายจากข้อเสนอทางสังคมนั้น ผู้หวังดีทั้งหมดต้องการให้มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องการตัดไม้ และขุดดินให้กระจ่าง จนวันนี้มหาวิทยาลัยตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ไม่มีการแถลงข่าว หรือเปิดเผยผลการสอบต่อสังคม และสาธารณะแต่อย่างใด
รวมทั้งกระบวนการสอบข้อเท็จจริงของสภามหาวิทยาลัย ก็อยู่ในกระบวนการ และยังไม่ยุติการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อ ย่อมไม่เกิดผลดีต่อมหาวิทยาลัย ทั้งในเรื่องชื่อเสียง และภาพลักษณ์ต่อประเด็นนี้ และจะเกิดข้อสงสัย และคำถามจากสังคมมากขึ้นไปอีก
หลักคิด และเป้าหมายเรื่องนี้อยู่ที่ข้อเท็จจริง และการแก้ไขปัญหาเรื่องการตัดไม้ และขุดดิน หาใช่การชนะทางกฎหมายในเชิงบุคคล หรือปัจเจกแต่อย่างใด และมหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรทางปัญญาทางสังคม ย่อมรับรู้ว่าประชาชนทั้งประเทศติดตามเรื่องนี้อย่างกระชั้นชิดอยู่เช่นกัน ความจริงใจ และการเปิดกว้างยอมรับ “การตรวจสอบ” ในฐานะองค์กรสาธารณะ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตระหนักถึง
ในฐานะผู้ร้องเรียน และตกเป็นจำเลยทางคดี รวมทั้งข้อกล่าวหาที่ว่า “ผู้ไม่ประสงค์ดี และทำให้มหาวิทยาลัยเสียหาย” เรากลับมายืนจุดเดิม แม้ได้รับผลกระทบ และเสียหายอะไรไปมากมาย แต่เป้าหมายเรื่องข้อเท็จจริง กลับต้องมาตั้งหลักกันใหม่
จึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่าย มุ่งสู่เป้าหมายที่เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย ผลประโยชน์สาธารณะ ที่เป็นสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินของทุกคน โดยใช้ช่องทางการให้ข้อมูล ในกระบวนการสอบข้อเท็จจริงจากสภามหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นบุคคลกลาง ผลออกมาจะเป็นที่ยอมรับ และสง่างาม
และหากกระบวนการที่เริ่มต้นใหม่ มาสู้ในแนวทางการมีคดีในชั้นศาลอีก แม้มหาวิทยาลัยเป็นโจทก์ แต่ผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยจะตกเป็น #จำเลยของสังคมเสียเอง