ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “Beach for life” วอนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใช้ความรู้เเละความเข้าใจการฟื้นฟูชายหาดเพื่อรักษาไว้ให้ยั่งยืน ชี้ชายหาดเป็นระบบนิเวศที่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ หากไม่มีโครงสร้างเเข็งมารบกวน
เพจเฟซบุ๊ก “Beach for life” ได้โพสต์ข้อความข้อเท็จจริงเเละแสดงความเห็นในเรื่องของชายหาดชลาทัศน์ หลังจากที่มีมรสุมคลื่นลมแรงทำให้เกิดการกัดเซาะของชายฝั่ง โดยมีใจความว่า
ข่าวคุณนิพนธ์ ลงพื้นที่ชายหาดชลาทัศน์ หลังคลื่นลมเเรงทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ต้นสนล้ม ทาง Beach for life ที่ดำเนินการติดตามการเปลี่ยนเเปลงชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ เราอยากเรียนข้อเท็จจริง เเละมีความเห็น เพื่อไม่ให้เกิดการทำลายชายหาด ดังนี้
1. มรสุม เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี บ้างปีมรสุมรุนเเรง ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเสียหาย ต้นสนล้มบ้าง เเต่ปัจจัยที่ทำให้ชายหาดได้รับความเสียหายจากการกัดเซาะอย่างรุนเเรงเเละต่อเนื่อง คือ โครงสร้างเเข็ง ชายหาดเป็นระบบนิเวศที่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ หลังจากผ่านมรสุมไป หากไม่มีโครงสร้างเเข็งมารบกวน
2. บริเวณชายหาดชลาทัศน์ หน้ามหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย ที่ต้นสมจำนวน 6 ต้นล้มอยู่ ณ ขณะนี้นั้น เป็นจุดที่อยู่ด้านท้ายของกระสอบทราย ซึ่งวางเป็นกำเเพงกันคลื่นบริเวณชลาทัศน์ โดยกรมโยธาธิการฯ เป็นที่ทราบกันดีในทางวิชาการว่า ด้านท้ายน้ำของจุดที่มีการสร้างกำเเพงกันคลื่นจะทำให้เกิดการกเลี้ยวเบนของคลื่น เเละให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนเเรง จึงเป็นเหตุให้บริเวณนี้ซึ่งเป็นจุดท้ายน้ำของโครงสร้างกำเเพงกันคลื่นเกิดการกัดเซาะ ต้นสนล้มจำนวนมากในปีนี้
3. ชายหาดสมิหลา ชลาทัศน์ มีโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง นั้นคือ การเติมทราย ซึ่งดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า ตั้งเเต่บริเวณชายหาดเก้าเส้ง ถึง หลังสนามกีฬาติณสูลานนท์ เเต่โครงการมีความล่าช้าดำเนินการยังไม่เเล้วเสร็จ ทำให้ไม่สามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ ในบริเวณจุดที่มีการเติมทรายประมาณ 1 กิโลเมตรนั้น สภาพยังคงเป็นปกติ อาจมีการตัดชันของชายหาดเป็นหน้าผาบ้าง เนื่องจากการเเยกตัวกันของชั้นตะกอน ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปอย่างใจเย็น
4. ในกรณีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนเเรง จนอาจกระทบกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน หรือ ลานจอดรถ ศาลาพักผ่อน เป็นต้น การใช้โครงสร้างชั่วคราว ที่สามารถรื้อถอนได้ก็มีความจำเป็นในการป้องกันบรรเทาสาธารณะภัยไปพลางก่อน เเต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โครงสร้างชั่วคราวนั้น จะต้องเป็นโครงสร้างชั่วคราว ไม่ใช่โครงสร้างชั่วโครต เมื่อสิ้นมรสุมโครงสร้างเหล่านั้นควรรื้อถอนออก เเละปรับสภาพ มิใช่วางทิ้งไว้จนสร้างผลกระทบต่อชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง เป็นโดมิโน่
ชายหาดเป็นระบบนิเวศที่เปราะบาง เเละมีโอกาสถูกทำลายด้วยความไม่เข้าใจในระบบธรรมชาติของหาดทราย ความเร่งรีบในการดำเนินการโดยไม่เข้าใจอาจทำให้ชายหาดพังทลายทั้งระบบ
Beach for life จึงขอเรียนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน โปรดใช้ความรู้ เเละความเข้าใจการฟื้นฟูชายหาดเพื่อรักษาหาดทรายไว้ให้ยั่งยืน